เห็นถูก รู้แจ้ง 4

วางความยึดถือจึงจะสงบ
ว่างเพราะเห็นความจริง
วางความเห็นผิด
ถอดถอนความเห็นผิดที่สั่งสมมา
ลาทีจักรวาลที่นึกว่าใหญ๋
ที่แท้เล็กกว่าจิตซะอีก


แม้จักรวาลนี้ก็เกิดดับเปลี่ยนแปลงไปทุกวินาที ต่อให้เป็นวินาทีสิ้นจักรวาลนี้ วินาทีที่ดับก็ยังคงสืบเนื่องต่อไปจนมีการเกิดอีก สิ่งทั้งปวงก็ล้วนเป็นไปตามเหตุและปัจจัย ดังนั้นเมื่อรูปนามก่อขึ้นด้วยเหตุปัจจัย จนมีพลังงานที่ก่อกำเนิดชีวิตขึ้นจากจิตโง่ ผสมผสานกับวิญญาณจึงเกิดการถือครองขันธ์ 5 ความทุกข์จึงเริ่มต้นต่อไป ทุกข์ของสัตว์โลกจึงเริ่มต้นหมุนต่อไป



บทความภายในเล่ม:

เพราะสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ จึงเกิดขึ้น | พระอาจารย์องค์นั้นไม่ดี | เป็ดแสนสุข | เชื่อไหมว่านี่…เขียด | เนกขัมมะ การพรากออกจากสิ่งยึดติด | วิธีเลิกยาเสพติด | ศาสตราจารย์ | ยาแก้อักเสบกับพาราเซตามอล | เมื่อน้ำหนาว…รดตัว!!! | ห้องน้ำกับขันธ์ 5 | ขึ้นบันไดอย่างมั่นคง | สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นไปตามเหตุและปัจจัย | คุณนี่…เป็นเศรษฐีนะ! | สุขสันต์ปีใหม่ 2556 | บ้านเช่า | เล่นโยคะเป็นกายานุปัสสนาฯ | ตามดู ไม่ตามไป | เมฆอยู่บนฟ้า น้ำอยู่ในขวด | ปกป้องพระศาสดา | คนเราไม่รู้อริยสัจ | กระแสโลกมันแรง | การเจริญสติ ต่างจากการเจริญมรรค อย่างไร | หน่วยศึกษา “ขี้” กับ หน่วย “ทิ้งขี้” | ความห่วงใย | ลูกของนักโทษ | แอร์ Inverter | คิดเลขได้ ไม่เห็นต้องเรียน | คนน่ารังเกียจ… | นกกับต้นไม้


สุขสันต์ปีใหม่ 2556


โลกหมุนรอบตัวเองใช้เวลา 24 ชม. เราเรียก 1 วัน

โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ใช้เวลา 365 วันกับ 6 ชม. (ทุก 4 ปีถึงไปทบให้ได้อีกวันในวันที่ 29 กพ. แสดงว่าทุกๆ ปีก็ขาดไป 6 ชม.) เราเรียก 1 ปี

สุขสันต์วันโลกหมุนรอบตัวเองแล้วเหวี่ยงไปหมุนรอบดวงอาทิตย์ด้วยวงโคจรโค้งๆ เป็นวงรีตามเหตุปัจจัยของรูปนามที่มีแรงผลักแรงดึง นี่ก็เป็นเพราะมันพยายามรักษาเสถียรภาพไว้ แต่ในความเป็นจริงมันจะอ่อนแรงลงทุกขณะ จึงทำให้วงโคจรยืดออกตลอดเวลา และสมดุลย์ก็จะเปลี่ยน นี่จึงทำให้สรรพสิ่งต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ได้มีใครบงการหรือใครแกล้งใคร แต่เนื่องจากเหตุปัจจัยของรูปและนามส่งผลกันอยู่ตลอดเวลา พลังงานและมวลสารต่างๆ จึงส่งผลต่อกัน ไม่ว่ากุศลอกุศลบุญบาปก็ส่งผลต่อกันและกันเป็นอิทัปปัจจยตา (เพราะสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ จึงเกิดขึ้น)

และกระบวนการนี้สืบเนื่องไม่เคยหยุดแม้สักขณะ ถ้าจะ countdown ไปสู่ปีใหม่ คง countdown กันไม่รู้จะหยุดตรงไหนเพราะวัฏฏะนี้ไม่มีปลาย นับกันจริงๆ มันก็ไม่ได้หยุดเมื่อเรานับไปถึง มันไม่หือไม่อือด้วยเลย

แม้จักรวาลนี้ก็เกิดดับเปลี่ยนแปลงไปทุกวินาที ต่อให้วันที่เป็นวินาทีสิ้นจักรวาลนี้ วินาทีที่ดับก็ยังคงสืบเนื่องต่อไปจนมีการเกิดอีก ไม่ว่าจะเรียกสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต สิ่งทั้งปวงก็ล้วนเป็นไปตามเหตุและปัจจัย ดังนั้นเมื่อรูปนามก่อขึ้นด้วยเหตุปัจจัยจนมีพลังงานที่ก่อกำเนิดชีวิตขึ้นจากจิตโง่ผสมผสานกับวิญญาณจึงเกิดการถือครองขันธ์ 5 ขันธ์ 5 จึงเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยปัจจัยทั้งภายในที่สั่งสมมาด้วยกรรมและปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อลักษณะอันซับซ้อนแต่ละยุคแต่ละสมัย

สุขสันต์วันปีใหม่ว่าง… ไม่อย่างนั้นก็ต้องร้องเพลงปีใหม่กันไปเรื่อยๆ โดยน่าแปลกที่ไม่เอะใจเลยว่าตกลงปีไหนมันปีใหม่ตัวจริง…มันไม่มี…

วางความยึดถือจึงจะสงบ ว่างเพราะเห็นความจริง วางความเห็นผิด ถอดถอนสิ่งที่สั่งสมมา ลาทีจักรวาลที่นึกว่าใหญ่ ที่แท้เล็กกว่าจิตซะอีก

30 ธันวาคม 2555


ปกป้องพระศาสดา


(เรียบเรียงจากคำบรรยายของ อ. ประเสริฐ อุทัยเฉลิม)

บุญแปลว่าชำระ ชำระโลภะ โทสะ โมหะ
บุญไม่ได้แปลว่าเอา
บุญมีอยู่ 3 อย่าง คือ ทาน ศีล และภาวนา

การทำทานเป็นบุญ เข้าใจไม่ยาก ใครๆ ก็ทำได้ คนดีทำได้ คนเลวทำได้ คนชั่วทำได้ โกงบ้านกินเมืองก็ทำเป็น ทำได้หมดทุกระดับ เพราะฉะนั้น ฐานของพีระมิดในเรื่องของทานเนี่ย ใครๆ ก็ทำเป็น 7 พันล้านคนเนี่ย

ศีล คนดีทำได้ แทบไม่ต้องออกแรง คนชั่วทำไม่ได้ คนเลวไม่คิดจะทำ ถ้าโกงบ้านกินเมืองล่ะไปไกลๆ เลย ศีลน่ะ เพราะฉะนั้นแคบเข้ามาละ

ภาวนา คนดีส่วนเดียวที่ทำได้ จึงเป็นยอดของพีระมิด

มีวันหนึ่ง ได้พบกับนักธุรกิจพูดน่าฟังมากเลยเขาบอกว่า

“อาจารย์ ผมว่าทานเนี่ยสำคัญ ถ้าไม่มีการทำทานเลย ผมว่าสังคมไม่น่าอยู่แล้วก็สังคมจะลำบาก”
ผมบอก “ผมเห็นด้วย”

“เห็นด้วย?” แต่เห็นอาจารย์บอกว่า ทาน ศีล ภาวนา ภาวนา ได้บุญมากกว่าอีก

“ผมว่าภาวนาเนี่ยมีแต่พวกเห็นแก่ตัว”

เขาตรงไปตรงมาเลย

“ไปนั่งหลับตา ไปเดินช้าๆ อยู่คนเดียว แล้วไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับใคร แล้วมาอ้างนิพพานๆ ทิ้งครอบครัวออกมาเนี่ย แทนที่จะทำประโยชน์ให้คนอื่นบ้าง แล้วบอกได้บุญมาก มีแต่พวกเห็นแก่ตัวทั้งนั้นเลย ใครเขาทำกันบ้างในโลกนี้”

พูดน่าฟัง “ผมก็ว่างั้น เมื่อก่อนผมก็ว่างั้น”

แล้วเมื่อไม่กี่วันมานี้ พูดไปแล้วเราแทบจะรับไม่ได้ ผมใช้คำเขาเลยแล้วกันนะ เดี๋ยวจะหาว่าผมน่ะพูดอะไรไม่สุภาพ

“พระพุทธเจ้าเนี่ย เก่งนะ แต่เห็นแก่ตัว ทิ้งครอบครัวออกบวช พ่อแม่ก็ทิ้งหมด เมียลูกก็ทิ้ง”

ขอตอบเลยนะ เริ่มจากนักธุรกิจก่อน ที่บอกว่า “พวกนักปฏิบัตินี่เห็นแก่ตัว มีแต่เดินไปเดินมา เดินช้าๆ ตาก้มต่ำเนี่ย มานั่งหลับหูหลับตา แล้วบอกได้บุญมาก”

ทาน ใครก็ทำได้ ศีล ก็ต้องเป็นคนดีถึงจะทำ ส่วนภาวนา ผมก็บอกคนดีส่วนเดียวที่ทำได้ แล้วผมก็ไม่ได้บอกว่าทานไม่สำคัญ แต่คุณเข้าใจอะไรผิดไปบางอย่างหรือเปล่า ในทาน ศีล ภาวนา เขาไม่ได้ให้เลือก ก. ข. ค. นะ คนทำทานอาจจะไม่มีศีล อาจจะไม่ได้ภาวนา แต่คนมีศีลทำทานนะ แล้วคนภาวนาเนี่ย มีศีล แล้วก็ทำทานด้วย ตกลงใครดีกว่าใคร?

เอาละ เริ่มกลืนน้ำลายไม่ค่อยลงไปข้อหนึ่งแล้ว

ผมยังไม่เคยเห็นคนภาวนาไม่ทำทานเลย แล้วยังไม่เคยเห็นคนภาวนาไม่มีศีล แต่อาจจะไม่ครบ บางคนน่ะ แต่เขาก็เต็มที่นะ แล้วคนมาภาวนาเนี่ย ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ แต่เขาแสวงหาหนทางแห่งการพ้นทุกข์ เขากำลังพยายามที่จะพัฒนาจิตพัฒนาตน ให้พ้นจากความเห็นแก่ตัว

ดังนั้นในระหว่างกระบวนการเนี่ย

“เห็นที่บ้านไปภาวนาก็ยังเหมือนเดิม เสียเวลาจริงๆ ลางานไปกลับมาก็เห็นด่าเหมือนเดิม วีนแตกเหมือนเดิม หงุดหงิดเหมือนเดิม ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นเลย ถ้าภาวนาแล้วเป็นอย่างยัยนี่ ไม่ไปหรอก”

อ้าว! คนพาลเนี่ย ถ้ารู้ว่าตัวเองพาลแล้วพยายามปรับปรุง เขามีโอกาสจะเป็นบัณฑิต แต่คนพาลที่ไม่รู้ว่าตัวเองพาล จะพาลไปชั่วนิจนิรันดร

คนที่ภาวนา เหมือนการมาเข้ายิม ถ้าพูดถึงคอร์สปฏิบัตินะ เขากำลังเข้ามาฝึก เพื่อจะลด ละ เลิก สิ่งที่เรียกว่า กิเลส เรื่องตัวตนหรือว่าความเห็นแก่ตัว คุณเคยเห็นคนภาวนา ที่เขาภาวนาจนเขาเข้าใจอะไรบ้างแล้วเขาออกไปช่วยโลกมนุษย์ ออกไปช่วยคนอื่น ออกไปช่วยผู้คนโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนไหม?

แล้วทุกวันนี้ที่คุณบอกว่าคุณให้ทานน่ะ ตลอด 365 วัน คุณให้ทานกี่วัน? แล้วที่เหลือคุณโกยเข้ากระเป๋าตัวเองกี่วัน? กับคนที่เขาทำอย่างนี้ทั้งชีวิต ไม่เคยคิดจะเอาเข้ากระเป๋าตัวเองเลย ไม่เคยคิดที่จะหาความสุขใส่ตัว มีแต่ช่วยเพื่อนมนุษย์แบบไม่เอาสิ่งตอบแทนเลย พวกคุณทำได้บ้างไหม? นี่แหละผลแห่งการภาวนา

อย่ามองแค่จุดที่ทุกคนเพิ่งจะเริ่มต้น หรือว่าทุกคนกำลังพยายามอยู่ แต่มองไปที่จุดที่มันประสบความสำเร็จกันบ้าง บุคคลเหล่านั้นไม่เคยต้องการสิ่งอะไรตอบแทนเลย นอกจากให้โลกเพียงอย่างเดียว เริ่มต้นตั้งแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ลงมาจนถึงพระอรหันต์สาวก รวมถึงสาวกทั้งหลายที่กำลังเดินทาง ไม่ว่าจะกี่พันปีผ่านมาแล้ว ทุกคนยังทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่เคยต้องมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาคอยกำกับว่า “เธอต้องตื่นแต่เช้านะ เธอต้องรีบออกไป เธอต้องมาทำประโยชน์ให้ผู้คน” ท่านไม่เคยต้องมาบอกใคร แต่สาวกทงั้ หลายกลับทำหน้าที่ไปทั้งประเทศทั้งโลกนี้ ไม่เคยมีใครต้องมากำกับดูแล อย่างนี้ใช่ไหมที่เห็นแก่ตัว? ใครเห็นแก่ตัวกันแน่? ใครทำประโยชน์เพื่อตน? ใครทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น? ทำไมถึงมาดูแต่จุดเล็กๆ จุดที่มันกำลังเริ่มต้น

นักกีฬาก่อนจะไปแข่งขันโอลิมปิก เขาก็ไปเข้าค่ายฝึกซ้อม คุณจะบอกว่าตอนที่เข้าค่ายฝึกซ้อมน่ะ เขาเห็นแก่ตัวเหรอ? ไม่ต้องเข้าค่ายฝึกซ้อมแล้วไปขึ้นชกโอลิมปิกเลยเหรอ? ชกไปก็แพ้อยู่ดี ถ้าไม่เข้าค่ายฝึกซ้อมเลย

เอาล่ะ ทีนี้ขอตอบแบบเด็ดหัว ที่ปรามาสพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหน่อย

วันที่ท่านประสูติออกมา พราหมณ์ทั้งหลายได้ทำนายทายทักกันเต็มไปหมดว่า “ถ้าอยู่ในวัง เป็นกษัตริย์ ท่านจะเป็นพระมหาจักรพรรดิ แต่ถ้าออกบวชจะเป็นศาสดาเอกของโลก” พระราชบิดา, ไม่ว่า
พ่อแม่ใคร รวมถึงเราด้วย ถ้ามีใครมาบอกลูกเราว่า ถ้าออกบวชเนี่ยจะหลุดพ้น จะบวชไม่สึกเลย แต่ถ้าอยู่บ้านจะได้เป็นมหาเศรษฐีใหญ่ ท่านเป็นพ่อแม่ท่านจะเลือกทางไหน?

พ่อแม่ก็รักลูก พระราชบิดาก็จึงทำทุกอย่างเลย เพื่อไม่ให้ออกบวช เพราะว่าถามพราหมณ์แล้วพราหมณ์บอกว่า ถ้าเกิดเห็นเทวทูต 4 ท่านตัดสินใจออกบวชแน่ คือความแก่ ความเจ็บ แล้วก็ความตาย แล้วสมณะ

ทีนี้ท่านทำอย่างไรถึงจะไม่เห็นความแก่ ความเจ็บ และความตาย จึงสร้างปราสาท 3 ฤดู แล้วก็ให้มีความสุขตลอด เพื่อไม่ให้เห็น ความแก่ ความเจ็บ ความตายเลย พอใครเริ่มแก่-เอาออก ใครเริ่มแก่-เอาออก ใครเจ็บป่วย-เอาออก เพราะฉะนั้นในวังของท่านจึงไม่มีคนพวกนี้เลย

จนกระทั่งท่านเสด็จนิวัติพระนคร พ่อทนรบเร้าไม่ไหว สงสารแล้วก็รักลูก จึงปล่อยให้ออกไป แต่ก็เตรียมทุกอย่างไว้แล้ว ไม่ให้มี แต่มันก็พลาดจนได้ ขณะที่นั่ง กำลังนั่งรถม้าไปเนี่ย เจอคนแก่ เดินออกจากบ้านพอดี หลังโกง ง๊อกๆ ถือไม้เท้า ก็เลยถามฉันนะว่า

“เขาเป็นอะไร ทำไมเขาถึงเดินตัวงออย่างนั้นล่ะ ทำไมเขาไม่เดินตัวตรงๆ”
ฉันนะก็บอกว่า “เขาเรียกว่าคนแก่ พระเจ้าข้า”
“คนแก่ ทำไมต้องแก่ด้วยล่ะ เราต้องแก่ด้วยเหรอ”
“ค่ะ พระเจ้าข้า”
“พ่อเราด้วยเหรอ พ่อเราเป็นกษัตริย์นะ”
“กษัตริย์ก็ต้องแก่”
“ชายาเราด้วยเหรอ ทุกคนเหรอ ในโลกนี้ทุกคนเลยเหรอ”
“พระเจ้าข้า”

ท่านเริ่มอึ้งแล้ว ผ่านไปสักพักเจอผู้ชายคนหนึ่ง นอนกลิ้งเกลือกอยู่กับพื้น เนื้อตัวเป็นพุพองน้ำเหลืองไหลเต็มไปหมด ท่านกระโดดลงจากรถม้าที่ประทับ เข้าไปคว้าผู้ชายคนนั้นขึ้นมาเลย นี่คือเรื่องที่ท่านเล่าให้พระสารีบุตรฟังในวันหลัง ช้อนขึ้นมา นายฉันนะเลยกระโดดแล้วก็ตะโกนว่า “วางเขาลง โลหิตของเขาเป็นพิษ พระเจ้าข้า เดี๋ยวท่านจะติด” ท่านไม่ได้วาง แต่ท่านกลับมาถามฉันนะว่า

“เขาเป็นอะไร ทำไมเขาถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมเนื้อตัวเขาถึงเป็นอย่างนี้”
ฉันนะบอก “เขาเรียกคนป่วย”

“คนป่วย ป่วยได้ยังไง อยู่ๆ ก็ป่วยได้ด้วยหรือ? นอนอยู่เฉยๆ พรุ่งนี้เช้าก็อาจจะป่วยหรือ? เราด้วยเหรอ พ่อเราด้วยหรือ ชายาเรา ทุกคนเลยหรือ?”

“ใช่ พระเจ้าข้า”

“แล้วทำไมไม่มีใครคิดจะออกจากเรื่องนี้เลย ไม่มีใครคิดจะรักษาอะไรเลยหรือ?”
“คิดแล้ว แต่ทำไม่ได้”

ทีนี้นั่งรถม้าเงียบกริบเลย ชักชมเมืองไม่สนุกแล้ว ท่านเริ่มสงสัยว่า “ทำไมไม่มีใครคิดอะไรสักอย่างเลยเหรอ ไม่มีใครพยายามออกจากเรื่องนี้เลย เรื่องนี้ทุกข์มากนะเนี่ย ทำไมทุกคนทนอยู่กับมันได้อย่างไรเนี่ย” ท่านถามฉันนะว่า “ไม่มีใครคิดจะออกจากเรื่องนี้เลยหรือ ทนอยู่กันได้อย่างไร”

หลังจากนั้นไม่นานเจอแบบผ้าขาวห่อไปเลย ท่านก็นั่งมองไปเรื่อยๆ ไปถึงเขาก็โยนเข้ากองไฟเลย ท่านตกใจเลยถามฉันนะว่า “ทำไมเขาไม่สู้เลย ทำไมเขาไม่ดิ้น ทำไมเขาไม่ลุก ปล่อยให้คนอื่นทำกับเขาอย่างนั้นได้อย่างไร” ฉันนะบอกว่า “เขาเรียกคนตาย”

“ตาย! ตายแปลว่าอะไร คำอะไรแปลกจัง อะไรคือตาย?”
ฉันนะก็อธิบายให้ฟัง

“พ่อเราด้วยเหรอ เราด้วยเหรอ ชายา ทุกคนเลยหรือ? ทุกคนต้องตายหมดเลยหรือ? อยู่ดีๆ ไปทุกวัน แล้วก็ตายหรือ? อยู่ๆ แล้วก็ตาย ทำไมไม่มีใครคิดออกจากเรื่องนี้เลยล่ะ?”

ถ้าเราเป็นฉันนะ เราก็คง “เฮ้อ…ออกอย่างไรเนี่ย? ออกแบบไหนเหรอ? นี่มันเป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่หรือ?

ผมถึงบอกว่า เราโชคดีมหาศาลที่ท่านไม่เห็นเรื่องนี้เป็นธรรมดาพวกเราเกิดมาเนี่ย เราก็ยอมรับเรื่องนี้เป็นธรรมดา ยอมจำนนหลังติดฝาไปเลย แต่ท่านเห็นแค่นี้ ท่านถามว่า “ไม่มีใครคิดจะออกมาเลยหรือ นี่มันเป็นทุกข์มหันต์ของมวลมนุษยชาติเลยนะ”

ท่านบอก “ฉันนะ กลับวัง” หมดเวลาหรรษาแล้ว ดูอะไรก็ไม่สวยแล้ว…งง งงว่าคนทั้งหมดอยู่กับมันได้อย่างไร? ไม่มีใครคิดจะออกจากมันเลย ท่านพูดคำหนึ่งว่า “ไม่มีใครคิดจะทุ่มเทสติปัญญาทั้งหมดที่มี เพื่อจะออกจากสิ่งนี้เลยเหรอ?”

เราเป็นฉันนะ เราก็คงไม่กล้าตอบอะไรทั้งนั้น คงนั่งเงียบๆ ดีกว่า พอกลับวัง ระหว่างทางก็เห็นสมณะ สมณะมีมาก่อนท่านแล้ว มีทุกคนที่เห็นทุกข์แบบนี้แล้วพยายามจะออกเหมือนกัน แต่ออกไม่ได้ได้แต่สมาธิ พยายามทรมานตนให้มันหลุดพ้นอะไร กระทำมันทุกอย่างน่ะ

ถึงตรงนี้ ผมขอเบรกไว้ ผมขอตัดภาพกลับมา เรื่องอุปมาที่ผมจะอุปไมยให้ฟัง

ถ้ามีพ่อ แม่ ลูก อยู่ในบ้าน ในหมู่บ้านที่ห่างไกล ทั้ง 3 คนเป็นโรคร้ายที่ตายแน่ ตายแน่ เป็นโรคร้ายแบบตายแน่ ไม่มียารักษา ไม่เคยหายารักษาได้ คนในหมู่บ้านทั้งหมด คนในละแวกนั้นทั้งหมด ในประเทศนั้นทั้งหมด ไม่มีใครมียารักษาเลย ทุกคนเป็นโรคนี้กันหมดเลย มีพ่อบ้านคนหนึ่ง ที่ไม่สามารถทนรอดูให้เมียของตัวเอง ลูกของตัวเอง พ่อของตัวเอง แล้วคนในหมู่บ้าน คนในประเทศของตัวเอง ต้องทนตายอย่างทุกข์ทรมานกับเรื่องแบบนี้ คนๆ นั้นตัดสินใจที่จะออกไปหายารักษาโรค โดยไม่รู้ว่ามันมีไหม ไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน โดยจะทุ่มเทสรรพกำลังสรรพปัญญาทั้งหมด เพื่อจะหายานี้ให้ได้
ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่ามันมีอยู่ไหม ไม่ว่าจะลำบากยากเข็ญอย่างไร จะออกไปหายานี้ให้ได้ แต่ถ้าบอกครอบครัว บอกเมีย บอกลูก บอกทุกคน ทุกคนก็จะห้าม เพราะไม่เคยมีใครคิดว่ามันจะออกจากเรื่องนี้ได้ จึงตัดสินใจออกไปก่อน เพื่อออกไปหายามาช่วยทุกคนให้ได้

ถ้ามีคนบอกว่า “พ่อคนที่หนีออกไปเพื่อจะช่วยลูกทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่า ยามีไหม พ่อคนนี้เห็นแก่ตัว” ผมรับไม่ได้ ผมว่าคนๆ นี้แหละ คือคนที่เสียสละที่สุด ในโลกใบนั้น ในหมู่บ้านนั้นเลย ที่ไม่เคยคิด มีใครจะออกไปทนลำบาก เพื่อจะหายานี้มาเลย เพื่อทุกคน

แล้ววันนี้ ยานั้นถูกค้นพบแล้ว มีส่วนผสมอยู่ 8 อย่างในยานั้น ชื่อยา อริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งท่านได้พบแล้ว ท่านทำสำเร็จแล้ว ท่านนำกลับมาแล้วก็ช่วยเหลือพระราชบิดาได้ เข้าสู่มรรคผลนิพพาน เข้าถึงความเป็นพระอรหันต์ก่อนที่จะสวรรคต พระนางพิมพาที่โกรธท่านแทบเป็นแทบตาย ตอนที่ท่านหนีออกไป สุดท้ายบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ราหุลที่บอกว่าท่านทิ้ง ท่านไม่เคยทิ้ง สุดท้ายบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงทั้งสิ้น คนในหมู่บ้าน ผู้คนในเมืองในประเทศของท่าน พระอรหันต์สาวก ลามมาถึง 2,600 ปี ล่วงมาแล้ว อย่างนี้ใช่ไหมคนเห็นแก่ตัว?

14 กุมภาพันธ์ 2556


การเจริญสติ ต่างจากการเจริญมรรค อย่างไร


สารีบุตร! ที่มักมีคำกล่าวกันว่า โสดาบัน โสดาบัน ดังนี้เป็นอย่างไรเล่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านผู้ใดเป็นผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 นี้อยู่ ผู้เช่นนั้นแล ข้าพระองค์เรียกบุคคลผู้นั้นว่า พระโสดาบัน ผู้มีชื่ออย่างนี้อย่างนี่ มีโคตรอย่างนี้อย่างนี้ พระเจ้าค่ะ

สารีบุตร! ถูกแล้ว ถูกแล้ว ผู้ที่ประกอบพร้อมแล้วด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 นี้อยู่ ถึงเราเองก็เรียกผู้เป็นเช่นนั้นว่าเป็น พระโสดาบัน ผู้มีชื่ออย่างนี้อย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้อย่างนี้…

ทั้งพระพุทธเจ้าและพระสารีบุตรไม่ได้กล่าวเลยว่า ผู้ที่เจริญสติอยู่ เอะอะนักปฏิบัติก็จะบอกว่า เจริญสติไว้ ฟังดูดีนะ แต่พูดผิดพูดใหม่ดีกว่า และจะพูดใหม่ต้องทำความเข้าใจให้ถูกด้วย

เพราะเราไม่รู้จัก มรรคมีองค์ 8 วันนี้จึงพูดตามๆ กันมาโดยไม่รู้เรื่อง เห็นวิทยากรตามคอร์สเขาพูดกัน เห็นนักปฏิบัติรุ่นก่อนเขาพูดกัน ก็เลยสีลพพตุปาทานไปกับเขาด้วย

ก่อนท่านจะอ่านต่อไป ไปหาหนังสือสวดมนต์แปล แล้วศึกษาว่า บทสวด อริยมรรคมีองค์ 8 คืออะไร หรือเอาง่ายๆ เลยหาหนังสือ กลัวเกิด ไม่กลัวตาย หรือไม่ก็การบรรยายตามคอร์สต่างๆ ที่สาธยายถึงมรรคมาศึกษาดู ในไฟล์เสียงมีให้ดาวน์โหลดอยู่

จากนี้ไปจะถือว่าท่านรู้มรรคมีองค์ 8 แล้วว่ามรรคแต่ละองค์หมายถึงอะไร

เราจะลองมาดูว่า เราว่าเราปฏิบัติธรรม แล้วใช้คำว่า เจริญสติมากินรวบทุกอย่างมันพลาดตรงไหน ทำไมพระพุทธเจ้าใช้คำว่า เจริญมรรค ท่านไม่ได้ใช้คำว่า เจริญสติ
  • เวลาโกรธ คนทั่วไปบอกว่า มีสติรู้ไว้ คือ ให้เข้าไปรู้โกรธเอาไว้ (คงคิดเอาเองว่าจะได้เห็นการเกิดดับของโกรธ) แต่การเจริญมรรคคือ ใช้มรรคข้อที่ ๖ สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ ให้เพียรละอกุศล ผิดกันแล้วนะ หากท่านเถียงในใจว่า ก็จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็พูดไว้ชัดเจนว่า ให้รู้ชัดว่า จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ แล้วจะผิดได้อย่างไร? เอาล่ะ พูดเอง ย้อนกลับไปอ่านอีกครั้งหนึ่ง ที่เราเข้าไปนั้นเอาให้แน่ว่า เห็นว่าจิตมีโทสะหรือเรามีโทสะ และที่สำคัญคือ ถ้าเห็นว่า จิตมีโทสะ นั่นไม่มีเราเข้าไปปนในผู้ดู และผู้ถูกดูก็ไม่เป็นของเราด้วยเช่นกัน สภาพนั้นจิตต้องตั้งมั่นมาก เพราะจิตไม่ตั้งมั่นจากการเจริญมรรค การดูการรู้จึงหลงทั้งหมด เมื่อหลงจะเกิดเป็นภพ ชาติ ชรา มรณะ ต่อไปเรื่อยๆ
  • เวลาเล่นเกม ติดเกม คนทั่วไปบอกว่าให้มีสติตามรู้ไว้ แต่การเจริญมรรค ใช้มรรคองค์ที่ 2 สัมมาสังกัปโป การดำริชอบ เพราะเห็นว่านี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ จึงดำริที่จะเนกขัมมะออกจากกาม คือวางสิ่งนั้นลง หรือถอนฉันทราคะในสิ่งนั้นๆ คือถอนความพอใจเมื่อเห็นโทษภัยของมัน ตกลง “ละ” หรือ “รู้” ฟองก๊าซไข่เน่าเกิดเป็นกลิ่นเหม็นจากน้ำนำในบ่อที่เน่า จะนั่งดูฟองก๊าซหรือ ถ้าทำอย่างนั้นเมื่อไหร่ฟองก๊าซไข่เน่าถึงจะหมดไป ไม่มีวันซะล่ะ ถ้าไม่จัดการกับสภาพบ่อ การจัดการสภาพบ่อต้องใช้มรรคตั้งแต่องค์ที่ 1-6
  • เวลาไปกินอาหารที่เขาจัดไว้อย่างดี เขาว่าให้เจริญสติไว้ อันนี้ใช่ การเจริญสติและการเจริญมรรค เหมือนกันในข้อนี้ เพราะอาหารอย่างไรก็ต้องกิน จึงต้องกินอย่างมีปัญญา จะมีปัญญาก็อาศัยสมาธิไปละราคะก่อน เพราะการเจริญสตินั้น พระองค์บอกไว้แล้วว่า “มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้” ดังนั้นตรงนี้เหมือนกัน เมื่อเจริญสติจะเห็นว่า เวทนาความสุขจากความพอใจหรือความไม่พอใจในรสชาติ จะเห็นเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นดับไป ไม่มีอะไรให้ยึดถือ หรือแม้ว่าจะมองในมุมของอายตนะ ลิ้นหรือรส ก็เช่นกันล้วนเกิดขึ้นดับไป ตรงนี้คำว่าเจริญมรรค คือการเจริญสติ
  • มีความหลงใหลในเพศตรงข้าม บางคนทนไม่ไหวอยากไปเที่ยวสถานเริงรมย์ เช่น อาบอบนวด เมื่อถามนักปฏิบัติก็ตอบว่า เจริญสติไว้?? ส่วนการเจริญมรรคนั้น จากการเนกขัมมะในมรรคองค์ที่ 2 แล้ว ในมรรคองค์ที่ 2 ยังกล่าวถึงการไม่มุ่งร้าย การไม่เบียดเบียนอีก ซึ่งนั่นนำไปสู่มรรคองค์ที่ 4 สัมมากัมมันโต เป็นศีลในข้อ 1, 2, 3 ซึ่งหากเรามีคู่อยู่แล้ว นี่จะเป็นการทำร้ายจิตใจของคู่ของเราหรืออาจจะไปทำร้ายคู่ของคนอื่นหรือไปทำร้ายจิตใจพ่อแม่ของเขาอีก ตกลงจะเอาแค่รู้กิริยาอาการเคลื่อนไหวในขณะกำลังสมสู่อย่างนั้นหรือ ที่ว่าให้เจริญสติ มันทะแม่งๆ นะ แล้วมีวิทยากรตอบอย่างนี้จริงๆ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องการจะสื่อให้นักปฏิบัติได้เข้าใจ เพราะการเจริญสติเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญมรรคเท่านั้นเองไม่ใช่ทุกอย่างๆ จะเจริญสติกันอยู่เรื่อย จนมีคนเขาพูดทำนองแซวๆ ว่า ขโมยก็มีสติ คนกำลังด่าคนอื่นอยู่ ก็ว่าตัวเองมีสติ เราเอาสติมาใช้กันจนเฝือ โดยไม่ดูเลยว่า สติที่ใช้ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น มีไว้ให้เห็นว่า กายนี้ไม่ใช่ตัวตน บุคคล เรา เขา เล่นโยคะก็ว่าฝึกกายาฯ มันเลยเลอะเทอะไปกันใหญ่ กำลังเอาคัตเตอร์ไปตัดต้นมะพร้าวกันแล้ว

วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราควรทำการศึกษาและเจริญมรรค หลายท่านมุ่งมั่นปรารถนาในหนทางแห่งการพ้นทุกข์ ไม่อยากให้เสียเวลาสะเปะสะปะ ปฏิบิติอย่างมีปัญญา หนทางแห่งการพ้นทุกข์อยู่ที่กายยาววาหนาคืบนี้เอง ไม่ได้อยู่ที่ครูบาอาจารย์องค์ไหน ส่วนของท่านก็เป็นของท่าน ส่วนที่เรานี่ล่ะที่ต้องทำเอาเอง หนทางนั้นไม่ได้ไกลอย่างกรุงเทพ-เชียงใหม่ แต่หนทางอยู่บนลู่วิ่งสายพาน ถึงไม่ถึงอยู่ที่มีคนวิ่งไหม ถ้ายังมีคนวิ่งก็เหนื่อยแต่ยิ่งเหนื่อยก็ต้องวิ่งต่อไป จนเข้าใจ เข้าถึง รู้แจ้ง สลัดคืนเมื่อไหร่ เมื่อนั้นจะไม่มีผู้วิ่ง จะเหลือแต่สังขารวิ่งไปชลอลง ชลอลงตามสภาพวิบากและอายุของเขาจนเสื่อมไป สลายตัวออกจากลู่วิ่ง สายพานของโลกยังคงหมุนต่อไปเพราะยังมีผู้วิ่ง วิ่งกันเต็มฟิตเนส แล้วต่างก็ตะโกนบอกกันทำนองเรียกร้องความเห็นใจว่า เหนื่อยจริงๆ แต่น่าแปลกไม่เห็นมีใครคิดจะหยุดวิ่ง แถมยังดูเหมือนว่า ยิ่งวิ่งยิ่งมันส์ …พวกปากกับใจไม่ตรงกัน

22 มีนาคม 2556


กระแสโลกมันแรง


คนที่มาเข้าคอร์สปฏิบัติ เวลากลับออกไป ก็มักจะมาเล่าให้ฟังเสมอๆ ว่า กระแสข้างนอกมันแรงจริงๆ

เราพลาดอะไรไปบางอย่างรึเปล่า ตอนที่มาฝึกอยู่ในคอร์สนั้น แน่นอนการกระทบต่างๆ มันน้อยก็จริง แต่ว่าเราฝึกที่จะไม่ลงไปเป็นผู้กระทบหรือเป็นเจ้าของการกระทบ นั่นจึงทำให้เรารู้สึกเบาและสบาย

ยกตัวอย่างเช่น เราไปเล่นน้ำตก น้ำตกมีทั้งช่วงที่ไหลแรง มีทั้งช่วงที่ไหลเบา หากมีคนลงไปเล่นน้ำตกในช่วงที่น้ำตกไหลแรง เขาจะต้องต้านน้ำตกนั้นอย่างมาก นั่นคือเขาต้องใช้พลังงานในการยืนอยู่เพื่อรักษาเสถียรภาพไม่ให้ล้ม นั่นทุกข์มาก เมื่อเขาอยู่ในบริเวณที่น้ำไหลเอื่อยๆ เขาทำแบบเดียวกันแต่เผอิญว่าน้ำมันไหลไม่แรง เขาจึงรู้สึกว่ายืนได้ไม่ยากนัก นี่ประเภทปุถุชนผู้มิได้สดับ

นักปฏิบัติต้องยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ถ้าแบบที่กล่าวมานี้ถือว่าไม่ก้าวหน้าเลย หมายถึงอย่างไร หากเราเอาตัวต้านน้ำตกก็จะอยู่ภายใต้กระแสที่เปลี่ยนไปมาตามเหตุปัจจัยของมัน เราก็ยังคงทุกข์อยู่นั่นล่ะ ในเบื้องต้น เมื่อเกิดสัมมาทิฏฐิ จะมีธรรมชาตหนึ่งที่อยู่ในน้ำเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยคืออยู่กับวิบากของเขา อีกธรรมชาติหนึ่งอยู่บนฝั่งดูธรรมชาตินั้น แต่ไม่ทุกข์กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับการปะทะ การกระทบ (นี่เบื้องต้นแน่หรือ?) อย่างนี้เรียกว่า ผู้ตกอยู่ในกระแส แต่ไม่ใช่กระแสน้ำที่เรากำลังพูดถึงนี่นะ หมายถึงกระแสแห่งพระนิพพาน แค่นี้ความทุกข์กับคนที่อยู่ในน้ำไม่มีแล้วเข้าใจไหม

ถ้าทำไปอย่างนี้จะเห็นว่ามีคนอยู่ในน้ำหนึ่ง มีคนอยู่บนบกเพื่อเฝ้าดูคนอยู่ในน้ำอีกหนึ่ง แรกๆ ก็ดูเหมือนจะไม่ทุกข์ไม่ร้อนกับคนที่อยู่ในน้ำแล้ว แต่เชื่อไหมเมื่อยังเฝ้าดูมันก็ทุกข์กับการเฝ้าดู เที่ยวไปรู้เรื่องคนที่เราเฝ้าดู (คนข้างบ้าน…รู้จักรึยัง) คนที่อยู่ในน้ำจะเป็นยังไงก็เรื่องของวิบาก ผู้เฝ้าดูอยู่บนฝั่งตัดใจที่จะไม่ผูกพันด้วยอีกต่อไป ตัดใจลุกขึ้นทิ้งทุกอย่างที่เคยร่วมทุกข์ร่วมทุกข์กันมา (เขียนถูก…ไม่ผิดหรอก) ไม่มีคนข้างบ้าน เพราะไม่มีใครไปอยู่ข้างบ้านคนที่เราเคยเฝ้าดู หมดที่ตั้งของความทุกข์ หมดเรื่องกัน…หมดเหตุเกิด

ทำอย่างนี้ อยู่ที่ไหนๆ บนโลกก็ทำได้ อยู่ในเพศไหนๆ ก็ทำได้ ขอให้เจริญมรรคให้มากๆ ความสงบเย็นจักเกิดมีในทุกคน

21 มีนาคม 2556


คุณนี่…เป็นเศรษฐีนะ!


ในวงสนทนาแห่งหนึ่ง
ชายคนแรก :  คุณนี่เป็นเศรษฐีนะ
ชายคนที่สอง :  โอ้ย ไม่ใช่หรอกครับ หนี้สินเยอะแยะ
ชายคนแรก :  แล้วระหว่างเบนซ์กับบีเอ็มที่ใช้อยู่ชอบคันไหนมากกว่ากัน
ชายคนที่สอง :  ผมชอบบีเอ็มมากกว่า ขับสนุกแต่สะเทือนกว่า เบนซ์ก็นิ่มดี แต่มันป๋าไปหน่อย
ชายคนแรก :  มีทั้งเบนซ์ทั้งบีเอ็มยังว่าตัวเองไม่ใช่เศรษฐีอีกเหรอ…

เห็นไหมเมื่อชายคนที่สองถูกถามว่าเขาเป็นเศรษฐีเหรอ เขากลับบอกว่าเขาไม่ได้เป็นเศรษฐี แต่ถ้าถามถึงรถหรูที่เขามี (อย่จริง) เขาจะตอบได้อย่างฉะฉานไม่มีการเก้อเขิน

ทำไมเหรอ? เพราะว่าบีเอ็ม เบนซ์ สมรรถนะเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ส่วนคำว่าเศรษฐีถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเรียกบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ใช่สิ่งที่เขาจะต้องไปปรารถนาจะเป็นอะไรแล้ว ส่วนใหญ่เราก็จึงเห็นว่าเศรษฐีจริงๆ กลับไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นเศรษฐีเลย เขาก็แค่มีเงินใช้อยากซื้ออะไรอยากได้อะไรก็ซื้อ มันก็เท่านั้นเอง เป็นเศรษฐีตรงไหน


แล้วเกี่ยวอะไรกับพระโสดาบันหรือ? ถ้ามีใครไปถามพระโสดาบันหรือพระอรหันต์ ท่านจะไม่ตอบรับหรือปฏิเสธเพราะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตัวท่าน นั่นเป็นสิ่งที่คนๆ นั้นพูดไปเอง แต่หากถามว่าแล้วท่านยังลังเลสังสัยในพระพุทธเจ้าไหม ในพระธรรมไหม ในพระอริยสงฆ์ไหม ท่านก็จะตอบได้เป็นฉากๆ อย่างผู้ที่สัมผัสเองตลอดเวลา

เอาล่ะถ้ามีคนบอกว่า การตอบแบบนี้ก็คือการอวดตัวว่าตัวเองเป็นพระโสดาบันนั่นแหละ ก็คงตอบว่า ไม่ใช่ เพราะคำที่ว่าเป็นพระโสดาบันหรือพระอรหันต์ (ซึ่งละสังโยชน์ ๑๐ แล้ว) นั่นท่านตอบตามที่ถูกถามและสิ่งนั้นก็เป็นอย่างนั้นอยู่จริงๆ ไม่ใช่ท่านหรือตัวท่าน เมื่อคนไปตีความกันเองจะเกี่ยวอะไรกับท่านด้วย แล้วจะบอกว่าท่านตอบอย่างนี้จะให้คนคิดว่าอย่างไรล่ะ นั่นก็กล่าวหาท่านไม่ได้เพราะถามในสิ่งที่ท่านรู้แล้วทำไมท่านจะไม่ตอบ นอกจากเห็นว่าผู้ถามมีเจตนาเป็นที่ไม่ได้ต้องการคำตอบแต่พยายามจะโยงไปเรื่องที่ตัวเองต้องการเท่านั้น

ในสมัยพุทธกาลเคยมีเรื่องอย่างนี้เกิดกับพระสารีบุตรเช่นกัน…

จะเห็นความต่างมีอยู่บ้างคือ ในเศรษฐีมีการปฏิเสธ เมื่อมีคนกล่าวว่าเขาเป็นเศรษฐี เนื่องจากเศรษฐีนั้นหากเป็นปุถุชนก็จะเกิดความเป็นตน หนึ่งคือรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ว่า “เรา” ไม่ได้เป็น

สองทำเป็นถ่อม “ตัว” เขาจะได้เห็นว่า “เรา” เป็นคนดี

นั่นเป็นเรื่องปรกติกับผู้ที่มีสักกายทิฏฐิ ถ้าไม่ชี้แจงหรือออกตัวในลักษณะปกป้องตัวเอง เดี๋ยว “เขา” จะหาว่า “เรา” …นี่คือปุถุชนแน่นอน

แต่ในพระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ไม่มีการยอมรับหรือคัดค้าน เนื่องจากเมื่อไม่มีความรู้สึกในความเป็นตัวตนแบบบุคคลเราเขา จึงไม่ได้รู้สึกว่าเขาพูดถึงเรา เราต้องตอบ เราต้องปฏิเสธเพราะเขากำลังกล่าวหาเรา เมื่อไม่มีเรา ใครจะปกป้องใครกัน หากจะชี้แจงหากควรหรือจำเป็นก็แค่ทำไป เพราะจะเป็นประโยชน์หรือผดุงความถูกต้องไว้เท่านั้น

24 ธันวาคม 2555


คิดเลขได้ ไม่เห็นต้องเรียน


ในตลาดสดแถวบ้าน พ่อค้าแม่ค้าขายมะนาวเป็นกองๆ กองละ 5 ลูก ในกระจาดมี 10 กอง กองละ 20 บาท ลูกค้ามาซื้อกี่กอง พ่อค้าแม่ค้าคิดเงินได้หมดไม่มีผิดเลย พ่อค้าแม่ค้าก็พูดเสมอๆ ว่า ฉันไม่เห็นต้องเรียนหนังสือเลย ฉันก็ทำมาหากินจนรำรวยมีเงินมีทองได้

พ่อค้าแม่ค้าขายผลไม้ เป็นคนใฝ่เรียนรู้ ใฝ่ศึกษา แม้ตอนเด็กจะไม่มีโอกาสเรียนหนังสือแต่ก็ยังไปเรียน กศน. เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ได้เรียนการท่องสูตรคูณ การนำสูตรคูณมาใช้ การใช้สมการแทนค่า การคิดคำนวณเปอร์เซ็นต์ เรียนเรื่องดอกเบี้ย คอมมิชชั่น เข้าใจเรื่องร้อยละ

เพื่อนพ่อค้าแม่ค้าขายมะนาว เข้ามาพูดคุยและก็ยังคงปลื้มอกปลื้มใจในการไม่เรียนหนังสือของตนเองแต่ขายได้ดีกว่าและรำรวยกว่า พ่อค้าแม่ค้าผลไม้ที่เสียเวลาไปเรียนหนังสือให้มันเหนื่อยเปล่า แถมยังโชว์การคำนวณการคิดเลขอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ไม่เห็นต้องรู้สูตรคูณเลย แต่ทุกครั้งที่พ่อค้าแม่ค้ามะนาวคิดคำนวณราคาต่างๆ ของมะนาว พ่อค้าแม่ค้าผลไม้จะรู้หมดว่านันมาจากการคำนวณโดยผ่านสูตรคูณแบบไหน วิธีอะไร สามารถแสดงวิธีทำออกมาได้ แต่พ่อค้าแม่ค้ามะนาวจะรู้เฉพาะผลตรงหน้าเท่านั้น เสมือนว่า พ่อค้าแม่ค้ามะนาวจะเห็นมิติเดียว แต่พ่อค้าแม่ค้าผลไม้เห็นมิติเชิงซ้อนคือ ไปเห็นเบื้องหลังการคำนวณด้วย

ท่านคิดว่าใครแตกฉานและผิดพลาดน้อยกว่าล่ะ… วันหนึ่งพ่อค้าแม่ค้ามะนาวเกิดช๊อตเงินต้องไปขอกู้หนี้ยืมสินคนอื่น ไปธนาคาร ธนาคารบอกว่าดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี ก็ไม่รู้ว่ามันเท่าไหร่และเห็นหลักเกณฑ์ยุ่งยาก เลยไปกู้แถวบ้านนอกระบบ เขาว่าร้อยละ 20 คิดไปคิดมาไม่เข้าใจ ต่อให้รู้ว่าร้อยละ 20 ต่อเดือนจะมากกว่าแต่ไม่รู้ว่ามันมากกว่าแค่ไหน เพราะไม่เคยรู้เกี่ยวกับระบบต้นทุน กำไร ว่าที่เราค้าขายอยู่นี้ต้นทุนกี่เปอร์เซ็นต์ กำไรกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วเรามีค่าใช้จ่ายรายเดือนอยู่เท่าไหร่ ขายได้เท่าไหร่ถึงจะค้มทุน จึงได้แต่กู้มาแล้วก็ขายไป สุดท้ายไม่สามารถจ่ายหนี้ได้เพราะดอกเบี้ยก็หามาไม่พอจ่าย แล้วจะจ่ายต้นได้อย่างไร แถมค่าใช้จ่ายตัวเองก็ไม่เหลือ นี่ใช่ไหมที่นั่งปลื้มกับการไม่เรียนรู้

วันนี้มีคนเข้าสู่การปฏิบัติโดยไม่ศึกษาอะไรเลยแล้วมานั่งชื่นชมกับการที่ไม่เห็นต้องรู้ต้องศึกษาอะไร หมวดธรรมต่างๆ ก็ไปว่าเรื่องปริยัติ พวกเรานักปฏิบัติ ปฏิบัติตามๆ กันแล้วก็หลงว่าตัวเองทำดี ครูบาอาจารย์ชม นั่งปลื้มจนตัวตนตั้งเด่ก็ไม่เห็นจะจัดการอะไรได้ ไปที่ไหนก็กร่างนึกว่าตัวเองรู้เสียเต็มประดา พ่อค้าแม่ค้าผลไม้เขาไปหัดท่องสูตรคูณก็ว่าไม่จำเป็นชั้นไม่เห็นต้องเรียนเลย แล้วไงพอมีปัญหาแล้วแก้ได้ไหม เข้าใจไหมว่าทางเดินที่แท้จริงคืออะไร

จะบอกให้ว่าสูตรคูณมาจากไหน? คนคิดสูตรคูณเขาเอามาจากของจริง

ด้วยการเอามะนาวกองละ 2 ลูก ตั้งไว้ 12 กอง ดึงออกมากองแรก แล้วนับ ได้ 2 จดไว้ เอากองที่ 2 เข้ามารวมกันแล้วนับได้ 4 จดไว้ กองที่ 3 มารวมแล้วได้ 6 จดไว้ … กองที่ 12 มารวมได้ 24 จดไว้ แล้วมาตั้งเป็นสูตร 2 x 1 = 2, 2 x 2 = 4, …, 2 x 12 = 24 แล้วเขาก็ทำที่แม่ 3, แม่ 4, แม่ 5, … สูตรทั้งหมดมาจากของจริงนี่ล่ะ ที่เรามาเรียนกัน

พระพุทธเจ้านำมาบอกสอน 84,000 พระธรรมขันธ์ นั่นคือการปฏิบัติ ไม่ได้เรียนไว้สอบ ส่วนที่ไม่เกี่ยวโดยตรงกับการปฏิบัติก็เป็นส่วนเพิ่มเติมอินทรีย์ส่วนอื่นเช่น ศรัทธา วิริยะ เพราะท่านเห็นความจริงแล้ว แต่การบอกสอนให้เร็วและกระชับให้ผู้ไม่รู้ที่มีอวิชชาสามารถเรียนรู้ได้ ก็ทำการจัดหมวดหมู่เป็นรูปแบบอย่างชัดเจน เช่น อริยมรรคมีองค์ 8

เรามาดูกันในผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มีทั้งหมด 3 คน
1. พ่อค้าแม่ค้ามะนาว
2. พ่อค้าแม่ค้าผลไม้
3. ผู้คิดสูตร-สูตรคูณ

พ่อค้าแม่ค้ามะนาว ไม่รู้อะไรเลย ทำได้เท่าที่มีคนบอกมาหรือประสบการณ์ตัวเอง ก็หากินได้แต่เสี่ยงคือความรู้แคบมาก ถึงจะไปเรียนรู้ก็เรียนรู้จากแม่ค้าในตลาดเดียวกัน ได้แต่เคล็ดลับการคิดเลขจากประสบการณ์ของพ่อค้าแม่ค้าอีกคนที่ขายมาก่อน ไม่ได้กระบวนการ มองไม่เห็นเส้นทางเดินทั้งหมดเลย

พ่อค้าแม่ค้าผลไม้ ศึกษาเรียนรู้ สูตรคูณและนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตทำมาหากินได้ และเห็นความเป็นเหตุเป็นผลที่พ่อค้าแม่ค้ามะนาวคิด แต่พ่อค้าแม่ค้ามะนาวไม่เห็น จึงเข้าใจได้มากกว่า

ส่วนผู้คิดค้นสูตรนั้น จะมีมิติการมองที่เห็นทุกจุดทั้งฉากหน้าฉากหลัง วิธีคิด วิธีแก้ไขปรับปรุง ข้อบกพร่อง จุดดี จุดเด่น จุดแข็ง จุดอ่อน เห็นที่มาที่ไป รายละเอียดทุกแง่มุม ปฏิบัติเองก็ได้ สั่งสอนผู้อื่นก็ได้ เห็นมิติซ้อนมิติ เห็นทุกมุมมอง แล้วแบบไหนดีกว่ากัน

ยกตัวอย่างลงมาให้เห็นว่า 3 คนนี้ถ้าเป็นนักปฏิบัติจะเป็นอย่างไร?

พวกแรก ไปสำนักไหนใครเขาให้ทำอะไรก็ทำตามเขา เขาบอกว่ามาที่นี่ต้องทำอย่างของเขาให้ทิ้งของที่ทำมาแล้วให้หมด ก็ทำตามเขา โดยไม่รู้ด้วยซำว่ามาทำอะไรและทำไปเพื่ออะไร เสร็จแล้วเห็นนั่นเห็นนี่ ก็ว่าวิธีแบบนี้ดีอัศจรรย์ พวกนี้เห็นได้มิติเดียว แล้วนั่งปลื้ม คุยโว คุยโอ่อย่างทรนง ว่าแบบของฉัน สำนักของฉันดีกว่าใครๆ พวกนี้ถ้าหากเป็นผู้สั่งสมมา มีอัธยาศัยทางธรรม แล้วเกิดเจอสำนักที่ถูกกับจริตก็ไปได้ง่าย แต่จะยิ่งหลงคิดว่าวิธีนี้ดีกว่าทางใดๆ

พวกที่สอง ศึกษาหลักการมาและได้นำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติ รู้เหตุรู้ผลว่าเส้นทางเดินคืออะไร บางสูตรแม้จะศึกษาเกินไปบ้าง แต่เมื่อปฏิบัติจริงก็จะได้เห็นจริงตามลำดับ เพราะนั่นเป็นคำที่พระพุทธเจ้านำมาบอกสอนไว้ ทำให้มีศาสตราอาวุธครบถ้วนไม่ได้มีไว้ยึดมั่นถือมั่น

ส่วนบุคคลที่สาม ผู้คิดสูตร บุคคลนี้เห็นแจ่มแจ้งทุกมุมมองเหมือนคนดูละครเวที

คนแรกนั่งดูละคร เห็นผู้ร้ายแสดงเกิดอารมณ์ไม่ชอบใจ เห็นพระเอก นางเอกแสดงเกิดอารมณ์ชอบใจ เห็นอารมณ์เกิดขึ้น อารมณ์ดับไป พวกนี้จะเห็นมิติเดียว ในส่วนอนิจจัง เข้าถึงธรรมได้ไหม… ได้ ถ้าเผอิญเห็นตรง

พวกที่สอง เห็นว่าที่พระเอก นางเอก ผู้ร้ายที่ออกมาแสดงนั้น ที่เขาทำอย่างนั้นเพียงเพราะทำตามบทบาทที่ผู้กำกับหลังม่าน หลังเวทีเป็นคนสั่ง เห็นแต่การแสดงหลอกๆ ลวงๆ ไม่ได้มีอะไรเลย พวกนี้เห็นมิติในส่วน อนัตตาไม่เกิดอารมณ์เพราะรู้ทันหรือเห็นความจริง

ส่วนบุคคลที่สามนั้นเห็นตั้งแต่วันสร้างโรงละคร สร้างเวที สร้างฉาก เห็นหมดว่าจะกี่คณะมาแสดงก็ทำอยู่อย่างนี้ ทุกคนมาหาเงินมาสร้างความร่ำรวยกันเท่านั้นเอง มีแต่ของว่างของเปล่า บุคคลเหล่านี้ เห็นแจ้งโลก ไม่หลงโลก เข้าใจโลกหมดแล้ว เห็นทุกมิติ

อริยสัจ 4 นั้น เอาแค่ ทุกขอริยสัจ คำเดียว มีความหมายมากมายตามภูมิธรรมของผู้ที่เกิดสัมมาทิฏฐิ คนทั่วไปก็เห็น “ทุกข์” ได้ในมิติ ความรู้สึกสุขทุกข์ มิติต่อไปก็เห็นได้ว่า ขันธ์ 5 เป็นทุกข์เพราะเห็นมาจากการท่องเที่ยวในฐาน 4 คือ กาย เวทนา จิต ธรรม จึงไปเข้าใจขันธ์ 5 จากนั้นเห็นว่าขันธ์ 5 เป็นรูปนาม รูปนามนี้แจ่มแจ้งกว่าเดิมมากเพราะความที่ไปเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตลอดการเดินทาง จึง รู้เลยว่าการแสดงผลของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นมาจากเหตุในความเป็นรูปนามนั่นเอง ปัญญาจึงย้อนไปเข้าใจว่า สรรพสิ่งล้วนเป็นรูปนาม ทุกข์นั้นมาจากการเข้าไปยึดถือขันธ์ซึ่งเป็นทุกข์ จะไม่ทุกข์ได้อย่างไร นี่จึงมาสู่คำว่า “ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์” จากนั้นไม่ใช่แต่ขันธ์ 5 ที่ทุกข์ รูปนามทั้งโลกทั้งจักรวาลก็เป็นสภาพทนอยู่ไม่ได้ จิตเองก็เช่นกันการที่จิตยึดถือตัวเองนั่นแหละคือต้นเหตุที่ทำให้ไปเกิดอุปาทาน เมื่อจัดการเหตุที่ทำให้จิตเข้าใจผิดคือมีอวิชชา นั่นจึงจะเปลี่ยนอวิชชาเป็นวิชชา ตัณหา อุปาทานก็สลาย จึงเป็นความอิสระอย่างแท้จริง

ฟังผู้รู้แจ้งเถอะ ไม่อย่างนั้นทำอะไรก็มีแต่ดี มีแต่ปลื้ม โดยไม่รู้ว่า ไอ้ปลื้ม ไอ้ดี นั่นน่ะผลผลิตของอวิชชา กบอยู่ในกะลา ถ้าฉลาดยัง พอรู้ได้ว่าตัวเองอยู่ในกะลา แต่พวกกบที่เห็นว่าโลกที่ข้าเห็นนี่ถูกที่สุดต้องแบบนี้ ใครๆ ต้องทำอย่างนี้ ผิดไปจากนี้ผิด แล้วกร่างอย่างทรนงว่าต้องแบบของกู นั่นกบเองยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอยู่ใต้กะลา แล้วที่ว่าข้าเห็นหมดแล้วนั่นน่ะ เห็นแต่รอยฟันกระต่ายกับเศษมะพร้าวที่แม่ค้าเขาขูดไม่หมดนะซิ…

30 เมษายน 2556


บ้านเช่า


ฟังธรรมเรื่องตัวกู-ของกูก็ดูเหมือนจะเข้าใจ แต่ก็ไม่เห็นว่าจะถอดถอนความเห็นผิดได้ เกิดอะไรขึ้นก็มักจะเป็นทุกข์อยู่เรื่อย

อาจจะเป็นเพราะเราเกิดมากับกายนี้ใจนี้ จะบอกว่ามันไม่ใช่เราข้างในก็เถียงใจขาด ให้สังเกตดูกายใจ ก็ไม่เห็นว่าจะเป็นธรรมชาติตรงไหน ก็ยังเห็นเป็นเราอยู่เรื่อยไป

ธรรมชาติของรูปนามจะแสดงผลออกมาให้ได้เห็นเป็นลักษณะ 3 ประการคือ

ความเป็นอนิจจัง-ไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

ความเป็นทุกขัง-สภาพทุกขัง สามารถทำความเข้าใจได้ในสองทางคือ สภาพทุกข์ รูปนาม (ซึ่งรวมเราเข้าไปด้วย) มีสภาพทุกข์บีบคั้นเพราะความไม่เที่ยง มันจึงดิ้นรนเพื่อรักษาสภาพของมันตลอดเวลา นี่เป็นสภาพทุกข์หรือทุกข์โดยสภาพของมัน จะมีผู้เข้าไปยึดหรือไม่ มันก็ทุกข์อยู่แล้ว กับอีกสภาพคือ เมื่อมีจิตโง่เพราะมีอวิชชาไปยึดของที่มีสภาพทุกข์มาเป็นของตน ทำไมจะไม่ทุกข์ล่ะ นี่จึงเกิดเป็นความทุกข์ใจขึ้น จึงเกิดผู้ทุกข์ขึ้น

ความเป็นอนัตตา คำว่าไม่มีตัวตนฟังดูเข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป ทำไมจึงเป็นอนัตตา ก็เพราะว่าสภาพที่เห็นได้ในวินาทีปัจจุบันเป็นผลมาจากเหตุในวินาทีก่อน เช่นก่อนจะเป็นน้ำมาจากการรวมตัวกันของธาตุเพราะปัจจัยที่ถึงพร้อมจึงเกิดขึ้น จากนั้นสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็ยังคงกระทำต่อน้ำนั้นตลอดเวลา เช่น ความร้อน ความชื้น ฯลฯ ทำให้โมเลกุลมันดิ้นไปมา ระเหยไปเป็นไอน้ำ ไอน้ำก็เป็นผลจากน้ำที่ถูกกระทำ น้ำก็เป็นเหตุ ไอน้ำก็เลยเป็นผล มันเปลี่ยนแปลงสภาพกันตลอดด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ เราเองก็เช่นกัน ตรงนี้เมื่อเห็นธรรมเข้าไปมากๆ ก็จะเข้าใจสภาพนั้นๆ ได้ จะยิ่งปล่อยความยึดถือโดยลำดับ

เมื่อเห็นไตรลักษณ์มากๆ จะเข้าใจลึกลงไปถึงความเป็นรูปนามที่มาประกอบกันเป็นชีวิต รวมถึงการเกิดขึ้นแห่งโลกภายในและโลกภายนอกว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร จนสามารถจัดการกับเหตุเกิดแห่งทุกข์ ทั้งระดับความรู้สึกจนถึงสภาพทุกข์ของขันธ์ จนสลัดความยึดถือลงได้

พวกเรายึดกายนี้หรือ?…ใช่ สังเกตง่ายๆ ถ้าเราป่วยทุกข์ไหม? ถ้าเราเป็นมะเร็งทุกข์ไหม? เวลาอ่านธรรมะดูเหมือนเข้าใจได้ เวลาปฏิบัติดูเหมือนจะเข้าใจนะ แต่พอมันเกิดอะไรขึ้นจริงๆ มันก็ยังรู้สึกเป็นเราอยู่นั่นเอง

เอาอย่างนี้ ถ้าเราอยู่บ้านเช่าแล้วไปทำงาน เกิดไฟไหม้บ้านเช่า ทุกข์กับบ้านเช่าไหม? ทุกข์ซิทุกข์กับของที่อยู่ในบ้านแต่บ้านเช่าช่างมันเพราะไม่ใช่ของกู

ถ้าอยู่บ้านตัวเองแล้วเกิดกรณีเดียวกันคือไฟไหม้บ้านทุกข์ไหม? ไม่ต้องถามเลย คงแทบเป็นลม ทำไมล่ะ ถ้าเอาวิดีโอไปถ่าย ก็เข้านอน กินข้าว ดูทีวีอยู่ในบ้าน ดูไม่เห็นความต่างกันเลยไม่ว่าบ้านเช่าหรือบ้านตัวเอง ที่จ่ายรายเดือนก็จ่ายเหมือนกัน มากน้อยอาจต่างกันบ้าง แต่ที่ต่างกันคือความรู้สึกเป็นเจ้าของที่เติมขึ้นมา

แล้วบ้านที่เช่าอยู่ตอนนี้ทำสัญญาไว้ 80 ปี อยู่ไปอยู่มาชักหลงขึดมาเป็นบ้านกูเข้าแล้ว (ความจริงไม่ใช่อยู่ไปอยู่มาหรอก มันยึดตั้งแต่ก่อนเกิดซะอีก) บ้านไม่ว่าอะไรหรอกนะเพราะเขาให้เราเช่า เราจะตู่เอาเป็นของเรา เขาก็ไม่หือไม่อือด้วย แต่ถึงเวลาสัญญาหมดอายุ เขาก็เรียกคืน จะโหยหาตีโพยตีพายไปก็เรื่องของคนเช่าเอง จะไปร้องกับใครเขาไม่ว่าเลย เพราะเขาไม่เคยเป็นของเราเป็นเราสักวินาที

เช่าอยู่ก็ดูแลไปตามสมควร ดูแลมากไป ตกแต่งมากไปจะรู้สึกว่าบ้านเช่าเป็นบ้านเรานะ

23 มกราคม 2556


หน่วยศึกษา “ขี้” กับ หน่วย “ทิ้งขี้”


วันนี้หากเราแบ่งนักปฏิบัติเป็น 2 พวกใหญ่ๆ จะแบ่งได้เป็น
  1. หน่วยศึกษาวิจัยขี้
  2. หน่วยทิ้งขี้

หน่วยแรกได้ยินมาแล้วว่า “ขี้” มันไม่ดี แต่มันอดไม่ได้อยากรู้อยากเห็น พวกนี้มักจะบอกตัวเองมีปัญญา ต้องรู้ให้ได้ว่า “ขี้” มันมีส่วนผสมอะไรถึงได้เหม็นและสกปรก มีแบคทีเรียกี่ชนิด เป็นชนิดที่มีพิษร้ายอย่างไรบ้าง เมื่อวิเคราะห์ด้วยเหตุและผล จนแจ่มแจ้งแล้วจึงคิดได้ว่า ไฉนเลยเราจะมาเสียเวลาดูขี้ดมขี้อยู่ทำไม เราทิ้งมันเสียดีกว่า

หน่วยที่สอง ได้ยินมาเหมือนกันว่าขี้ไม่ดี ทุกครั้งที่มีขี้กระเด็นมาโดนก็จะรีบล้างออก ทุกครั้งที่เข้าไปพบไปเจอ ก็จะรีบทิ้ง รีบออกห่าง ประเภทนี้ไม่เล่นขี้ ไม่เอาขี้ ฝึกที่จะทำความรู้จักว่าอะไรคือ “ขี้” แล้วทิ้งทันที พวกนี้ มือไม่เปื้อนขี้ ไม่เหม็นขี้ หน่วยนี้ไม่ต้องรอทิ้ง “ขี้” เพราะทิ้งมาตลอด ไม่เคยมานั่งดอมดม “ขี้” เพราะ “ขี้” นี่เล่นนานๆ จะเห็นดีเห็นงามพาลติด “ขี้” ได้ง่ายๆ ชีสเน่าฝรั่ง (ก็ยัง) ชอบ ปลาเน่า (ปลาร้า) คนไทย (ก็) ชอบ

ดูเผินๆ บุคคลากรใน 2 หน่วยนี้ สุดท้ายไม่เอา “ขี้” ทั้งคู่ แต่ระหว่างทางก่อนจะทิ้ง “ขี้” นั้น จะต่างกันนะ หน่วยแรก วิจัยไปวิจัยมา “ร้” มาก เลยผูกพันกับ “ขี้” แต่มันลึกกว่านั้น ไม่ใช่ว่าไปผูกพันที่ตัว “ขี้” หรอก แต่ดันไปผูกพันกับความเก่งกาจที่ไป “รู้ขี้” ได้ต่างหาก เลยกลายเป็น “กูรู้ขี้ได้เก่งกว่าใคร” ตรงนี้เหนื่อยเลย “ขี้” กองใหม่ละเอียดกว่ากองเดิมอีกทีนี้ มันท่าจะหอมหวลชวนดม เพราะชักคุ้น

ส่วนพวกทิ้ง “ขี้” พอไม่มีขี้ก็สบาย ทำท่าจะไปติดสบายอีก แต่อันนี้ง่ายหน่อย เพราะทิ้ง “ขี้” มาจนชำนาญ ทิ้ง น้ำตาล ก็ทิ้งมาแล้ว ทิ้งน้ำเปล่ามันจะยากอะไร แค่ของเกิดๆ ดับๆ

ศึกษาคำจาก บรมครูให้ดีนะว่า ท่านสอนให้ทิ้ง “ขี้” หรือ “ให้ดม “ขี้”

ภพแค่เพียงลัดนิ้วมือเดียว ก็น่ารังเกียจ ดุจมูตรคูถ : พุทธพจน์

22 มีนาคม 2556


ความห่วงใย


ที่บ้านหลังหนึ่ง เนื่องจากความที่ไม่ค่อยอยู่บ้านและบ้านก็ไม่มีคนอยู่ จึงทำให้นกเขานำเศษหญ้าเศษไม้มาสร้างรังอยู่ที่หน้าต่างตรงบันไดขึ้นชั้นสอง ซึ่งหน้าต่างอยู่ติดกับทางเดินที่บันได

การเดินผ่านจะทำให้นกรู้สึกตื่นเต้นตกใจด้วยสัญชาตญาณในการปกป้องของแม่ แม้นมันจะกลัวแต่ก็ไม่เคยที่จะบินหนี คนที่อยู่บ้านหลังนั้นด้วยความสงสารและเห็นใจนกประกอบกับเป็นคนรักสัตว์…

ก. พยายามสั่งคนในบ้านว่าอย่าไปยุ่งกับมัน ไปหากระดาษเพื่อมาสร้างมาสร้างฉากบังนกเพื่อไม่ให้เห็นคนจะได้ไม่ตกใจกลัว

ข. แสดงตัวว่าฉันรักและห่วงใยด้วยการเข้าไปเจ้ากี้เจ้าการจัดการดูแล หาอาหารไปให้มันไว้ใกล้ๆ

ค. เดินห่างๆ เบาๆ หลบๆ สายตา พยายามไม่เข้าไปยุ่งจนมัน วางใจว่าเราไม่เข้าไปยุ่งกับชีวิตมัน เพื่อให้มันทำหน้าที่แม่ไปแบบไว้วางใจ

ท่านอย่าเลือกแบบทำข้อสอบนะ เอาแบบที่ท่านแสดงในชีวิตจริง ท่านทำแบบไหน? ท่านคิดว่าความรักที่แท้จริงในกรณีนี้น่าจะเป็นอย่างไร? ต้องทำให้รู้ว่าฉันรักแกนะเจ้านก แล้วก็ทำแบบข้อ ก. และ ข.

แต่หากเป็นข้อ ค. เขารักมันในแบบที่มันเป็น ให้เกียรติแบบไม่ต้องการความรักตอบ รักแบบนกไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารัก ผู้นั้นมีแต่ให้แบบไม่ต้องให้ ไม่หวังความรักตอบแทน

วันที่ลูกนกฟักไป ทั้งแม่และลูกก็บินจากไปอย่างอิสระ ส่วนข้อ ก. และ ข. นั้นจะทำให้แม่นกผละรังหนีไปในที่สุด นั่นจะทำให้ลูกนกต้องตาย และคนๆ นั้นก็ได้แต่พล่ามปกป้องตัวเองว่าฉันทำเพราะฉันเป็นห่วงมัน ฉันทำไปเพราะความหวังดี แต่ที่แท้เป็นเพียงตอบสนองตัณหาในใจของตนเองเท่านั้น

2 เมษายน 2556


ลูกของนักโทษ


ลูกนักโทษ เกิดในคุก ตนเองไม่ได้ทำผิดอะไร มีสิทธิเข้าออกได้ แต่ด้วยความที่เกิดมาแล้วมีสิทธินั้นและก็มิได้เห็นคุณค่าใดๆ ในสิทธินั้น ทั้งๆ ที่ประตูคุกก็เปิดอ้าอยู่ แต่ไม่เคยคิดจะออกไปทั้งๆ ที่ออกได้

จนเปลี่ยนพัศดีเรือนจำคนใหม่ กฎระเบียบใหม่ไม่อนุญาตให้ใครๆ เข้าออกคุกได้อีก ถึงเวลานั้นลูกนักโทษนั้นจึงร้องแรกแหกกระเชออ้างว่าตนเคยได้สิทธินี้มาก่อน ตอนนี้ตนต้องการจะออกแล้ว ไม่อยากอยู่ในนี้แล้ว แต่ได้รับคำตอบว่า สิทธิของเจ้าหมดไปแล้ว

หมดไปในวันที่…ศาสนาในพระสมณโคดม สิ้นสุดลง…เจ้าจะต้องอยู่ในนี้ไปอีกชั่วกาลอันยาวนาน จนกว่าจะมีผู้มีบารมีมาเปิดประตูให้อีกครั้ง ตอนเจ้าได้สิทธินั้นอยู่ แต่กลับไม่ใช้สิทธิในเวลาที่ยังมีโอกาส แล้วจะมาร้องขอความเห็นใจจากใคร…เจ้าคนเขลา…คนอย่างเจ้าสมควรอยู่ในนี้ล่ะ

9 เมษายน 2556


แอร์ Inverter


วันนี้มาช่วยเขาขายแอร์หน่อย ถ้าเราเห็นโฆษณาทีวีจะเห็นว่าแอร์รุ่นใหม่จะใช้ระบบ Inverter กันหมดแล้ว นั่นเพราะระบบ inverter ช่วยประหยัดพลังงานได้มาก เพราะอะไร?

ถ้าเราสังเกตแอร์ที่บ้าน เราจะพบว่าการทำงานของแอร์ที่เราคุ้นเคยก็คือ เราตั้งความเย็นไว้ที่ 25 องศา เมื่อแอร์ทำงานมาจนถึงอุณหภูมิที่ตั้งไว้คอมเพรสเซอร์ (คือตัวที่อยู่ภายนอกบ้าน) จะหยุดการทำงาน จนเมื่ออุณหภูมิในห้องสูงขึ้นจนถึง 26 องศา คอมเพรสเซอร์ก็จะทำงานอีกครั้ง แอร์บ้านท่านจึงทำงานแบบติดๆ ดับๆ (หมายถึงตัวคอมเพรสเซอร์นะ แต่พัดลมภายในห้องนั่นทำงานตลอด) นี่เป็นสาเหตุให้กินไฟมากเพราะเมื่อหยุดสนิทแล้วสตาร์ทขึ้นมาใหม่ไฟจึงกระชากและมีผลตามมาคือความเย็นในห้องเปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ ด้วย

แล้ว Inverter ทำงานอย่างไร? Inverter ทำงานเหมือนการปั่นจักรยาน คอมเพรสเซอร์จะสามารถเร่งรอบและชลอลงได้เหมือนการถีบจักรยาน เมื่อตอนเริ่มต้นออกตัวจะใช้แรงมากจนความเร็วเข้าใกล้ที่เราต้องการก็เริ่มชลอลง จนถึงความเร็วที่ต้องการก็เพียงเดินช้าๆ หรือหยุดบ้าง เมื่อความเร็วจะลดลงก็สามารถถีบให้มากขึ้นได้ จึงเป็นระบบทที่ยืดหยุ่น นี่จึงเป็นสาเหตุให้ประหยัดไฟ ไม่ติดๆ ดับๆ ไฟไม่กระชาก ความเย็นภายในห้องจึงสม่ำเสมอด้วย

อย่าปฏิบัติแบบแอร์รุ่นเก่าคือปฏิบัติแต่ในคอร์ส ไม่อย่างนั้นพอถึงคอร์สก็ติดเครื่อง ออกจากคอร์สก็ไหลไปเต็มที่เลย เข้าคอร์สก็เร่งเต็มที่ อย่างนี้เปลืองไฟมากและไม่มีประสิทธิภาพ

นักปฏิบัติรุ่นใหม่ต้อง inverter ภาวนาในชีวิตประจำวันไว้เรื่อยๆ มากน้อยตามสถานการณ์ อกุศลไม่มีก็เข้าสู่โหมดสแตนด์บายได้บ้าง อย่างนี้ประหยัดพลังงานและมีประสิทธิภาพเข้าขั้นเบอร์ 5

ส่วนจะยี่ห้ออะไร ก็ดูกันเองแล้วกัน ซื้อยี่ห้อไหนใช้แล้วสบายใจ สติเกิด ปัญญาเกิด ก็เอายี่ห้อนั้นแหละ เขามียี่ห้อ (สำนัก) ให้เลือกตั้งเยอะ

29 เมษายน 2556


เล่นโยคะเป็นกายานุปัสสนาฯ


เราได้ยินกันบ่อยเหมือนกัน บางครั้งไปเข้าคอร์สปฏิบัติ เขามีการนำโยคะตอนเช้า แล้วบอกให้รู้ตามไปเพื่อเป็นการเจริญสติ ภายใต้กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจเรื่องคำว่า
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือเป็นการพิจารณากายในกาย ให้เห็นว่านี้ไม่ใช่ตัวตนบุคคลเราเขา

ที.ม. 10/273-300/325-351
ม.มู. 12/131-152/103-127

กลับมาที่การทำโยคะ เคยเห็นคนเล่นโยคะที่บอกว่ารู้ตามอาการ เคลื่อนแล้วรู้แจ้งขึ้นมาว่า นี่ไม่ใช่ของเรา นี่ไม่เป็นเรา นี่ไม่ใช่อัตตาของเราไหม? ผมเคยเห็นแต่เขาเล่นโยคะแล้วยึดถือว่าตัวเองหุ่นดี สุขภาพร่างกายเฟิร์มดี เหงื่อออกดี ผิวพรรณสดใส เลือดลมเดินดี นี่คือคนเล่นโยคะ ถูกไหม?

อย่าเข้าใจผิด ผมไม่ได้ว่าอะไรเกี่ยวกับการออกกำลังกายไม่ว่าโยคะหรือไท้เก๊ก หรืออะไรอีกเยอะแยะ ไม่ว่าจะรู้ตาม ตามรู้ก็อาจมีสมาธิติดปลายนวมมาบ้าง สมาธิมีได้ไม่ยากหรอก (เด็กปั้นดินน้ำมันก็มีสมาธิ ใครมาแย่งก็โกรธร้องไห้นะ)

มันไม่ใช่ว่ารู้ตามหรือตามรู้มันจะเกิดเป็นกายานุปัสสนาได้ นั่นต้องอาศัยมรรคมีองค์ 8 เพื่อให้จิตตั้งมั่นจึงเห็นความจริงที่ว่านี่ ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ไม่อย่างนั้นดูอย่างไรก็เห็นแต่เราแต่ของเราทั้งนั้น ยิ่งรู้ก็ยิ่งหลงกันใหญ่

23 มกราคม 2556


ตามดู ไม่ตามไป


ผมได้อ่านพบบทความซึ่งเป็นคำนำในหนังสือ “อินทรีสังวร” ของวัดนาป่าพง เห็นว่ามีประโยชน์ต่อนักปฏิบัติ เปิดใจให้กว้างแล้ว พิจารณาดูจะพบความจริงที่อาจปฏิบัติเอนออกไปจึงทำให้ไม่ก้าวหน้า เพราะไม่ศึกษามรรคให้ดี

มนุษย์เป็นสัตว์ที่สื่อสารกันด้วยระบบภาษาที่ซับซ้อน ทั้งโครงสร้างและความหมาย วจีสังขาร ที่มนุษย์ปรุงแต่งขึ้นนั้น มีความวิจิตรเทียบเท่าดุจความละเอียดของจิต ทั้งนี้เพราะจิตเป็นตัวสร้างความหมายรูปต่างๆ (จิต เป็นเหตุในการเกิดของนามรูป และนามรูปซึ่งจิตสร้างขึ้นนั้น เป็นเหตุในการดำรงอยู่ได้ของจิต)

ถ้อยคำหนึ่งๆ ในภาษาหนึ่งๆ เมื่อนำไปวางไว้ในบริบทต่างๆ กันก็มีความหมายต่างกัน ยิ่งไปกว่านั้น ถ้อยคำหนึ่งๆ ในบริบทเดียวกันสามารถถูกเข้าใจต่างกันในความหมายได้ ขึ้นอยู่กับการหมายรู้เฉพาะของจิตผู้รับสาร ซึ่งก็มีอนุสัยในการปรุงแต่งแตกต่างกันไป ความหยาบละเอียดในอารมณ์ อันมีประมาณต่างๆ แปรผันไปตามการหมายรู้นั้นๆ

การสื่อความให้เข้าใจตรงกัน จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้เรื่องราวในระดับชีวิตประจำวัน แม้ในระหว่างบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเช่น ในครอบครัวเดียวกันก็ตาม การผิดใจกันที่มีเหตุมาจากการสื่อความหมายที่ไม่ตรง ก็มีให้เห็นเป็นเรื่องปกติ

กับกรณีของปรากฏการณ์ทางจิต ซึ่งมีมิติละเอียดปราณีตที่สุดในระบบสังขตธรรม ใครเล่า จะมีความสามารถในการบัญญัติระบบคำพูด ที่ใช้ถ่ายทอดบอกสอนเรื่องจิตนี้ ให้ออกมาได้เป็นหลักมาตรฐานเดียวและใช้สอนเข้าใจตรงกันได้โดยไม่จำกัดกาลเวลา

“ดูกายดูใจ” “ดูจิต” “ตามดูตามรู้”

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วลีข้างต้นนั้น ถูกใช้พูดกันทั่วไปเป็นปกติในหมู่นักภาวนา ปกติจนเรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกมองข้ามเพิกเฉย (take for granted) ไป ราวกับว่าใครๆ ก็รู้กันหมดแล้วเหมือนคำที่ใช้กันเป็นประจำเช่น กินข้าว อาบน้ำฯ

หากพิจารณาให้ดี จะพบจุดสังเกต ๒ ข้อ
  1. เมื่อถูกถามลงไปในขั้นตอนโดยละเอียดว่าอะไรอย่างไรเกี่ยวกับดูกายดูใจดูจิตฯ คำตอบที่ได้ มีความหลากหลายแตกต่างกันไป แต่มีสิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ต่างก็อ้างว่ามาจากมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งเป็นทางเอกเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
  2. ในแง่ของความแตกต่างดังกล่าวนั้น ส่วนมากมักจะบอกกันว่า เป็นเรื่องธรรมดา “แล้วแต่จริต” จะปฏิบัติกันอย่างไร สุดท้ายแล้วก็ “ไปถึงที่หมายเดียวกัน”
เมื่อมาใคร่ครวญดูแล้ว จะพบความแปลกประหลาดซ้อนทับอีกชั้นหนึ่ง คือ ทั้ง 2 ข้อนั้น เป็นสิ่งที่ถูก take for granted อีกเช่นกัน เสมือนเป็นเรื่องที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า การปฏิบัติที่แตกต่างกันนั้นเป็นเรื่องธรรมดา “แล้วแต่จริต” และ “ไปถึงที่หมายเดียวกัน” โดยละเลยการทำความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจน ว่าอะไรอย่างไรในความแตกต่างนั้น

เหตุการณ์ทั้ง 2 นี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นกับอริยสาวกผู้ประกอบพร้อมด้วยโสตาปัตติยังคะ 4 ผู้ถึงซึ่งศรัทธาอย่างไม่หวั่นไหว ในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์เป็นอริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ถึงการนับว่าเป็นคนของพระพุทธเจ้าโดยไม่มีข้อสงสัยแล้ว ย่อมที่จะรู้ด้วย อสาธารณญาณ โดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกจากใครอื่นว่า ธรรมะที่ถูกบัญญัติโดยพระพุทธเจ้านั้น จะมีคุณลักษณะคล้องเกลียวเชื่อมโยงเป็นหนึ่ง

“ภิกษุทั้งหลาย นับแต่ราตรี ที่ตถาคตได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จนกระทั่งถึงราตรีที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปทิเสสนิพพานธาตุ ตลอดเวลาระหว่างนั้น ตถาคตได้กล่าวสอน พรำสอนแสดงออกซึ่งถ้อยคำใด ถ้อยคำเหล่านั้นทั้งหมดย่อมเข้ากันได้โดยประการเดียวทั้งสิ้น ไม่แย้งกันเป็นประการอื่นเลย”
– อิติวุ. ขุ. 25/321/293.

ก่อนพุทธปรินิพพาน ทรงรับสั่งไว้กับพระอานนท์เถระว่า ความสอดคล้องเข้ากันเป็นหนึ่งนี้ ให้ใช้เป็นหลักมาตรฐานในการตรวจสอบว่าอะไรใช่ หรือไม่ใช่พระธรรมวินัย (มหาปเทส 4) ยิ่งไปกว่านั้น ทรงระบุไว้ด้วยว่า หากรู้แล้วว่าไม่ใช่พระธรรมวินัยให้เราละทิ้งสิ่งนั้นไปเสีย

ความสามารถในการใช้บทพยัญชนะที่มีอรรถะ (ความหมาย) สอดคล้องกันเป็นหนึ่งเดียวนี้ เป็นพุทธวิสัยมิใช่สาวกวิสัย ทั้งนี้เพราะเหตุคือความต่างระดับชั้นกันของบารมีที่สร้างสมมา พระตถาคตสร้างบารมีมาในระดับพุทธภูมิ เพื่อให้ได้มา ซึ่งความเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระสาวก สร้างบารมีในระดับสาวกภูมิ เพื่อให้ได้มา ซึ่งโอกาสในการเป็นสาวกในธรรมวินัยนี้ ที่มาที่ไปของคำว่า ดูจิต หรือ ตามดูตามรู้ฯ ไม่ใช่เรื่องลึกลับซ้อนที่จะสืบค้น ตัวสูตรที่เป็นพุทธวจน เพื่อใช้ตรวจสอบเทียบเคียงตามหลักมหาปเทส ก็มีอยู่

ใช่หรือไม่ว่า ปัญหาที่แท้จริงทั้งกับในกรณีนี้ และอื่นๆ ทำนองเดียวกันนี้ คือ ความขี้เกียจ ความมักง่ายของชาวพุทธนั่นเอง ที่ไม่อยากเข้าไปลงทุนลงแรงศึกษาสืบค้นพุทธวจน แล้วไปคาดหวังลมๆ แล้งๆ ว่าน่าจะมีใครสักคนหนึ่งหรือสองคน ที่มีความสามารถพิเศษคิดค้นย่นย่อหลักธรรมที่พระตถาคตบัญญัติไว้เป็นสวากขาโตแล้วนั้นให้ง่ายสั้นลงกว่าได้

การเชื่อเช่นนี้ เป็นลักษณะความเชื่อของปุถุชนผู้มิได้สดับ มิได้เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ไม่ไดัสดับการแนะนำในธรรมของพระอริยเจ้า จึงไม่ทราบว่าพระสาวกมีภูมิธรรมจำกัดอยู่เพียงแค่เป็นผู้เดินตามมรรคที่พระตถาคตบัญญัติไว้เท่านั้น (มคฺคานุคา จ ภิกฺขเว เอตรหิ สาวกา วิหรนฺติ ปจฺฉา สมนฺนาคตา)

ผู้ที่สร้างบารมีมาในระดับสาวกภูมิ ไม่มีความสามารถในการคดิ สร้างมรรคขึ้นเอง ไม่เว้นแม้แต่พระอรหันต์ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา (ปัญญาวิมุตฺเตน ภิกฺขุนาติ) ก็ตาม

พระพุทธเจ้า (อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ) ในฐานะพระศาสดานั้น มีคุณสมบัติเหนือไปกว่า คือ ทรงเป็นผู้รู้มรรค (มคฺคัญญู) รู้แจ้งในมรรค (มคฺควิทู) และเป็นผู้ฉลาดในมรรค (มคฺคโกวิโท)

พระพุทธองค์จึงทรงรับสั่งป้องกันไว้ล่วงหน้าแล้วว่า สูตรใดๆ ก็ตามที่แต่งขึ้นใหม่ในภายหลัง แม้จะมีความสละสลวยวิจิตร เป็นของนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก ให้เราไม่สำคัญตนว่า เป็นสิ่งที่ควรเล่าเรียนศึกษา ในทางกลับกัน คำกล่าวของตถาคต อันมีความหมายลึกซึ้งนั้น ให้เราสำคัญตนว่าเป็นสิ่งที่ควรเล่าเรียนศึกษาและให้พากันเล่าเรียนศึกษาคำของตถาคตนั้น แล้วให้ไต่ถามทวนถามกันและกันในเรื่องนั้นๆ ว่าพระพุทธเจ้าทรงกล่าวเรื่องนั้นไว้อย่างไร

ข้างต้นนี้ คือวิธีการเปิดธรรมที่ถูกปิดด้วยพุทธวจน และชาวพุทธที่มีการศึกษาในลักษณะนี้ (ปฏิปุจฺฉาวินีตา ปริสา โน อุกฺกาจิต วินีตา) พระพุทธองค์ทรงเรียกว่าเป็นพุทธบริษัทอันเลิศ

ในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้นแบ่งฐานที่ตั้งแห่งสติออกเป็น 4 ฐาน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม โดยแต่ละฐานมีรายละเอียดระบุชัดเจนว่าปฏิบัติอย่างไร ขอบเขตแค่ไหน และจบลงอย่างไร

ผู้ที่ศึกษาพุทธวจนโดยละเอียดรอบคอบ ย่อมที่จะเข้าใจแง่มุมต่างๆ โดยลึกซึ้งครบถ้วน และย่อมที่จะรู้ได้ว่าความแตกต่างในมรรควิธีมีได้ แต่ไม่ใช่มีโดยสะเปะสะปะไร้เงื่อนไขขอบเขต หากแต่มีได้หลากหลายได้ ภายใต้พุทธบัญญัติซึ่งมีลักษณะเชื่อมโยงสอดคล้องเป็นหนึ่ง ผลอานิสงส์มุ่งหมายในที่สุด ก็สามารถเข้าถึงได้ ด้วยวิธีอันหลากหลายภายใต้ความเป็นหนึ่งนี้

ในวาระนี้ จะขอยกหมวดของ จิตตานุปัสสนา คือการตามเห็นในกรณีของจิตขึ้นเป็นตัวอย่าง

ปัจจุบันมีผู้ที่ดูจิตหรือดูอาการของจิตโดยใช้คำอธิบายสภาวะของจิตซึ่งบัญญัติขึ้นใหม่เอง แล้วหลงเข้าใจไปว่า การฝึก ตามดูตามรู้สภาวะนั้นๆ ไปเรื่อยๆ คือ การเจริญสติ คือการดูจิต หากพิจารณาโดยแยบคายแล้ว คำเรียกอาการของจิต ที่คิดขึ้นใหม่เองทั้งหลายเหล่านั้นเป็นเพียงการตั้งชื่อเรียกอารมณ์อันมีประมาณต่างๆ และการตามเห็นสภาวะนั้นๆ ไปเรื่อยๆ ก็คือการฝึกผูกจิตติดกับอารมณ์ด้วยอำนาจแห่งความเพลิน (ฝึกจิตให้มีสัญโญคะ)

จะด้วยเหตุอย่างไรก็ตาม แต่ระบบคำเรียกที่ต่างกันตรงนี้ อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หากเทียบในระดับความละเอียดของจิตแล้ว องศาที่เบี่ยงเพียงเล็กน้อย ณ จุดตรงนี้ สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สุดในการปฏิบัติ คืออานิสงส์มุ่งหมายที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

นัยยะหนึ่ง ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้เราตามเห็นจิต (จิตฺตานปุสฺสนา) แท้จริงแล้วก็เพื่อ ให้เห็นเหตุเกิดและเสื่อมไปโดยอาศัยการตามเห็น “อาการของจิต” เพียงแค่ 8 คู่อาการเท่านั้น

อินทรียสังวร 7 ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่นั้นเป็นอย่างไรเล่า?

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในกรณีนี้
(๑) รู้ชัดซึ่งจิตอันมีราคะ ว่า “จิตมีราคะ”
(๒) รู้ชัดซึ่งจิตอันปราศจากราคะ ว่า “จิตปราศจากราคะ”
(๓) รู้ชัดซึ่งจิตอันมีโทสะ ว่า “จิตมีโทสะ”
(๔) รู้ชัดซึ่งจิตอันปราศจากโทสะ ว่า “จิตปราศจากโทสะ”
(๕) รู้ชัดซึ่งจิตอันมีโมหะ ว่า “จิตมีโมหะ”
(๖) รู้ชัดซึ่งจิตอันปราศจากโมหะ ว่า “จิตปราศจากโมหะ”
(๗) รู้ชัดซึ่งจิตอันหดหู่ว่า “จิตหดหู่”
(๘) รู้ชัดซึ่งจิตอันฟุ้งซ่านว่า “จิตฟุ้งซ่าน”
(๙) รู้ชัดซึ่งจิตอันถึงความเป็นจิตใหญ่ว่า “จิตถึงแล้วซึ่งความเป็นจิตใหญ่”
(๑๐) รู้ชัดซึ่งจิตอันไม่ถึงความเป็นจิตใหญ่ว่า “จิตไม่ถึงแล้วซึ่งความเป็นจิตใหญ่”
(๑๑) รู้ชัดซึ่งจิตอันยังมีจิตอื่นยิ่งกว่าว่า “จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า”
(๑๒) รู้ชัดซึ่งจิตอันไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าว่า “จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า”
(๑๓) รู้ชัดซึ่งจิตอันตั้งมั่นว่า “จิตตั้งมั่น”
(๑๔) รู้ชัดซึ่งจิตอันไม่ตั้งมั่นว่า “จิตไม่ตั้งมั่น”
(๑๕) รู้ชัดซึ่งจิตอันหลุดพ้นแล้วว่า “จิตหลุดพ้นแล้ว”
(๑๖) รู้ชัดซึ่งจิตอันยังไม่หลุดพ้นว่า “จิตยังไม่หลุดพ้น”

ด้วยอาการอย่างนี้แล ที่ภิกษุเป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นจิตในจิต (จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี วิหรติ) อันเป็นภายในอยู่บ้าง, ในจิตอันเป็นภายนอกอยู่บ้าง, ในจิตทั้งภายในและภายนอกอยู่บ้าง;

และเป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุ เกิดขึ้นในจิตอยู่บ้าง, เห็นธรรมเป็นเหตุเสื่อมไปในจิตอยู่บ้าง, เห็นธรรมเป็นเหตูทั้งเกิดขึ้นและเสื่อมไปในจิตอยู่บ้าง;

ก็แหละสติ (คือความระลึก) ว่า “จิตมีอยู่” ดังนี้ ของเธอนั้นเป็นสติที่เธอดำรงไว้เพียงเพื่อความรู้ เพียงเพื่อความอาศัยระลึก.

ที่แท้เธอเป็นผู้ที่ตัณหาและทิฏฐิอาศัยไม่ได้ และเธอไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลกนี้.

ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีปกติตามเห็นจิตในจิตอยู่ แม้ด้วยอาการอย่างนี้.
– มหาสติปัฏฐานสูตร มหาวาร. สํ. 10/331/289.

จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้ามิได้ให้เราฝึกตามดูตามรู้เรื่องราวในอารมณ์ไปเรื่อยๆ และ การตามดูตามรู้ซึ่งจิต (จิตฺตานุปสฺสนา) จะต้องเป็นไปภายใต้ 8 คู่อาการนี้เท่านั้น

สมมุติสถานการณ์ตัวอย่าง เช่น ในขณะที่เรากำลังโกรธอยู่

ในกรณีนี้ หน้าที่ของเรา ที่ต้องทำให้ได้ คือ “รู้ชัดซึ่งจิตอันมีโทสะ ว่า จิตมีโทสะ” ไม่ใช่ไปตามดูตามรู้โทสะ (หรือรู้ในอารมณ์ที่จิตผูกติดอยู่) ในจิตอันมีโทสะขณะนั้น

ปัญหามีอยู่ว่า โดยธรรมชาติของจิต มันรู้ได้อารมณ์เดียวในเวลาเดียว (one at a time) ในขณะที่เรากำลังโกรธอยู่นั้น เราจึงต้องละความเพลินในอารมณ์ที่ทำให้เราโกรธเสียก่อน ไม่เช่นนั้น เราจะไม่มีทาง “รู้ชัดซึ่งจิตอันมีโทสะ ว่า จิตมีโทสะ” ได้เลย

มีผัสสะ >> จิตรับรู้อารมณ์ >> มีสติ >> ละความเพลิน >> รู้ชัดซึ่งจิต

ในระหว่างขั้นตอนข้างต้น ถ้าเราสามารถเห็นธรรมอันเป็นเหตุเกิดขึ้นหรือเสื่อมไปในจิตได้ การเห็นตรงนี้ เรียกว่า วิปัสสนา ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐานทั้งสี่ โปรดสังเกต สติปัฏฐานสี่ทุกหมวด จบลงด้วยการเห็นธรรมอันเป็นเหตุเกิดขึ้นและเสื่อมไป ขั้นตอนของสติที่เข้าไปตั้งอาศัยในฐานทั้งสี่ เป็นเพียงบันไดขั้นหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่จุดหมาย

เมื่อผัสสะถูกต้องแล้ว หากเราหลงเพลิน “รู้สึก” ตามไปเรื่อยๆ นี่คือ อนุสัย (ตามนอน) หากละความเพลินในอารมณ์แล้วมาเห็นจิตโดยอาการ 8 คู่ข้างต้น นี่คืออนุปัสสนา (ตามเห็น) และ ถ้ามีการเห็นแจ้งในธรรมเป็นเหตุเกิดขึ้นและเหตุเสื่อมไปในจิต นี่คือ วิปัสสนา (เห็นแจ้ง)

ถ้าหากว่า เราไม่สามารถรู้ชัดซึ่งจิตโดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งใน 8 คู่ ข้างต้นได้ให้ดึงสติ กลับมารู้ที่ฐานคือกาย เช่น อิริยาบถ หรือ ลมหายใจ พลิกกลับเป็นกายานุปัสสนา อย่ามักง่ายไปคิดคำขึ้นใหม่ เพื่อมาเรียกอารมณ์ที่จิตหลงอยู่ในขณะนั้น เพราะนั่นคือจุดเริ่ม ของการเบี่ยงออกนอกมรรควิธี (ไปใช้คำอธิบายอาการของจิตที่นอกแนวจากพุทธบัญญัติ เป็นผลให้หลงเข้าใจได้ว่า กำลังดูจิตทั้งๆ ที่กำลังเพลินอยู่ในอารมณ์ขาดสติ แต่หลงว่ามีสติ)

นี้เป็นเพียงตัวอย่างของการตามเห็นในกรณีจิตตานุปัสสนา คือใช้จิตเป็นฐานที่ตั้งของสติ ในกรณีของ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา ธรรมานุปัสสนา พึงศึกษาในลักษณะเดียวกัน คือปฏิบัติตามพุทธวจนในกรณีนั้นๆ ให้ถูกต้องครบถ้วนทั้งโดยอรรถะและโดยพยัญชนะ

พระพุทธเจ้ามองเห็นธรรมชาติในจิตของหมู่สัตว์ในแบบของผู้ที่สร้างบารมีมาเพื่อบอกสอน การบัญญัติมรรควิธี จึงเป็นพุทธวิสัย หน้าที่ของเราในฐานะพุทธสาวกมีเพียงอย่างเดียว คือ ปฏิบัติตามพุทธบัญญัติโดยระมัดระวังอย่างที่สุด (มคฺคานุคา จ ภิกฺขเว เอตรหิ สาวกาฯ)

เมื่อเข้าใจความหมายของการตามเห็น (อนุปสฺสนา) และการเห็นแจ้ง (วิปสสฺนา) แล้ว ทีนี้จะมีวิธีอย่างไร ที่จะทำให้อัตราส่วน Ratio ของ วิปัสสนา ต่อ อนุปัสสนา มีค่าสูงที่สุด (คือ เน้นการปฏิบัติที่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อความลัดสั้นสู่มรรคผล)

ตัวแปรหลักที่เป็นกุญแจไขปัญหานี้ คือ สมาธิ

ตราบใดที่จิตยังซัดส่ายไปๆ มาๆ ทั้งการอนุปัสสนาก็ดีและการวิปัสสนาก็ดีต่างก็ทำได้ยาก พระพุทธเจ้าจึงทรงรับสั่งว่า ให้เราเจริญสมาธิ เพื่อให้ธรรมทั้งหลายปรากฏตามเป็นจริง

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ. ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้วย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง

ก็ภิกษุย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงอย่างไร?

ย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิดและความดับแห่งรูป ความเกิดและความดับแห่งเวทนา ความเกิดและความดับแห่งสัญญา ความเกิดและความดับแห่งสังขาร ความเกิดและความดับแห่งวิญญาณ.
– ขนฺธ. สํ. 17/17-18/27.

นอกจากนี้แล้ว พระพุทธองค์ยังทรงแนะนำเป็นกรณีพิเศษ สำหรับกรณีที่จิตตั้งมั่นยาก เช่น คนที่คิดมาก มีเรื่องให้วิตกกังวลมาก ย้ำคิดย้ำทำ คิดอยู่ตลอดเวลา หยุดคิดไม่ได้ หรือ คนที่เป็น hyperactive มีบุคลิกภาพทางจิตแบบ ADHD ซึ่งมีปัญหาในการอยู่นิ่ง ทรงแนะนำวิธีแก้ไขอาการเหล่านี้ โดยการเจริญทำให้มาก ซึ่งอานาปานสติสมาธิ


ภิกษุทั้งหลาย ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งกายก็ตาม ความหวั่นไหว โยกโคลงแห่งจิตก็ตาม ย่อมมีไม่ได้ เพราะการเจริญทำให้มากซึ่งอานาปานสติสมาธิ
– มหา. สํ. 19/400/1325.

เมื่อถึงตรงนี้ แม้จะไม่เอ่ยถึง เราก็คงจะเห็นได้ชัดแล้วว่า ความสงบแห่งจติ (สมถะ) นั้น จะต้องดำเนินไปควบคู่ และเกอื้ หนนุ กับระดับความสามารถในการเห็นแจ้ง (วิปัสสนา) ซึ่งพระพุทธองค์เองได้ตรัสเน้นย้ำในเรื่องนี้ไว้โดยตรงด้วย

ภิกษุทั้งหลาย. ธรรมที่ควรกระทำให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นอย่างไรเล่า? สมถะ และ วิปัสสนา เหล่านี้เรากล่าวว่า เป็นธรรมที่ควรกระทำให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง.
– จตุกฺก. อํ. 21/334/254.

ธรรมที่ควรกระทำให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง มีสองอย่าง คือ ทั้งสมถะ และวิปัสสนา นั่นหมายความว่า ทั้งสมถะ และวิปัสสนา เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยปัญญาอันยิ่งในการได้มา ดังนั้น ใครก็ตามที่มีความสามารถในการทำจิตให้ตั้งมั่นได้ บุคคลนั้นมีปัญญาอันยิ่ง ใครก็ตามที่จิตตั้งมั่นแล้วสามารถเห็นแจ้งในธรรมอันเป็นเหตุ บุคคลนั้นมีปัญญาอันยิ่ง


สำหรับบางคนที่อาจจะเข้าใจความหมายได้ดีกว่า จากตัวอย่างอุปมาเปรียบเทียบ พระพุทธองค์ได้ทรงยกอุปมาเปรียบเทียบไว้ในฌานสูตร ว่าเหมือนกับการฝึกยิงธนู เมื่อพิจารณาแล้ว จะพบว่ามีตัวแปรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องปรับให้สมดุลย์ เช่น ความนิ่งของกาย วิธีการจับธนู การเล็ง นำหนัก และจังหวะในการปล่อยลูกศร อุปมานี้ พอจะทำให้เราเห็นภาพได้ดี ในการเจริญสมถะวิปัสสนาด้วยปัญญาอันยิ่ง ว่าการเห็นแจ้งในธรรมอันเป็นเหตุนั้น จะต้องอาศัยความสมดุลย์ต่างๆ อย่างไรบ้าง

หากจะพูดให้สั้นกระชับที่สุด การตามดูไม่ตามไปนี้ แท้จริงแล้วคือ การไม่ตามไป เพราะเมื่อไม่ตาม (อารมณ์อันมีประมาณต่างๆ) ไป มันก็เหลือแค่การตามดูที่ถูกต้อง หลักการไม่ตามไปนี้ ก็คือ หลักการละนันทิ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับหลักอินทรียสังวร ภิกษุมิคชาละฟังธรรมเรื่องการละนันทิแล้วหลีกจากหมู่ไปอยู่ไปอยู่ผู้เดียวก็บรรลุอรหัตตผล ความเร็วในการละนันทิ ยังถูกใช้เป็นเครื่องวัดความก้าวหน้าในการปฏิบัติจิตภาวนา (ดูความเชื่อมโยงได้ในเรื่อง อินทรียสังวร, การไม่ประมาท, อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ)

คณะผู้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ขอนอบน้อมสักการะต่อ ตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ และ ภิกษุสาวกในธรรมวินัยนี้ ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล จนถึงยุคปัจจุบัน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสืบทอดพุทธวจน คือ ธรรม และวินัย ที่ทรงประกาศไว้ บริสุทธิ์บริบูรณ์ดีแล้ว

คณะศิษย์พระตถาคต

ชัดเจน…อนุโมทนา

26 มกราคม 2556


เป็ดแสนสุข


เมื่อวันก่อนเดินไปในสวนแห่งหนึ่งไปกับนักปฏิบัติ สวนแห่งนั้นมีธารน้ำไหล เห็นเป็ด 2 ตัวว่ายน้ำหาอาหารกันอย่างมีความสุข จึงถามขึ้นว่า

เป็ดมันมีความสุขไหม? ผมถาม
ก็ดูมันมีความสุขดีนะคะ
ถ้าเราชวนมันมาเป็นคน มันจะมาไหม?
อือ…คงไม่มั้งคะ มันคงว่ามันอยู่อย่างนี้ก็มีความสุขดีอยู่แล้ว
นั่นนะซิ แล้วเราอยากไปเป็นนายกฯ ไหม?
คงไม่ล่ะค่ะ ปวดหัวกับสารพัดเรื่อง

แล้วนายกฯ อยากมาเป็นเราไหมล่ะ ถ้าเราว่าเราดีกว่า เขาก็คงต้องอยากมาเป็นเราซิ
ก็ไม่คิดว่าเขาจะอยากมาเป็นเราหรอกค่ะ เพราะเรามันก็ธรรมดาๆ ไม่มีอะไร

สังเกตไหมว่าไม่มีใครอยากไปเป็นใคร เป็ดก็ไม่อยากเป็นมนุษย์ มนุษย์ก็ไม่ได้อยากเป็นเป็ด คนไม่ดีก็อยากจะไม่ดีอยู่อย่างนั้น ไม่เห็นจะอยากเป็นคนดีเลย

มันน่ากลัวก็ตรงนี้ล่ะ รู้ไหมน่ากลัวยังไง

ถ้าดูเผินๆ ไปแล้วจะเห็นว่า แต่ละคนแต่ละภูมิ ถ้าไม่เห็นทุกข์ของตัวเองด้วยตัวเอง จะไม่มีใครคิดจะออกจากความเป็นสิ่งนั้นกันเลย ทุกคนหลงว่าตัวเองดีกว่าใครๆ กันหมด

เป็ดมันก็ว่าเป็นคนให้โง่
คนก็ว่าเป็นเป็ดให้โง่
ผู้ชายก็ว่าเป็นผู้หญิงไม่เอาหรอก
ผู้หญิงก็ว่าฉันไม่ขอเป็นชาย

ส่วนทอมก็ว่าฉันขอเป็นทอมไปทุกชาติทุกชาติ
ตุ๊ดก็ว่าฉันมีความสุขที่ฉันเป็นอย่างนี้

ทุกข์นะ ทุกข์จริงๆ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกข์ไม่มีอะไรเหมือน ยากที่สุดก็ตรงนี้ล่ะ ที่จะทำให้ใครๆ รู้ให้ได้ว่าตนทุกข์ แต่ละภูมิมีข้อจำกัดที่ต่างกันตรงไหนรู้ไหม

ทุกภูมิดูจะหลงโง่เหมือนๆ กันเพราะอวิชชาสร้างตัวตนเอาไว้ แต่มีภูมิของมนุษย์ที่ได้เปรียบกว่าเพื่อนเขาหน่อยคือมีโอกาสที่จะย้อนกลับมาดูตัวเองได้ เมื่อฝึกมีสัมมาสติและสัมมาสมาธิ โดยใช้ศีลและสัมมาวายามะขูดเกลาให้พ้นจากสัญชาตญาณ จะเห็นทุกข์และรู้ทุกข์ขึ้นมาได้

รู้รึยังว่าผู้เกิดสัมมาทิฏฐิที่พระพุทธเจ้าบอกคืออะไรและสำคัญต่อการพ้นทุกข์แค่ไหน

ความรู้อันใดเป็นความรู้ในทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ ทางดำเนินให้ถึงความดับแห่งทุกข์ นั่นล่ะเราเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ เมื่อนั้นจึงจะเห็นที่ผ่านมาว่าโง่ไม่มีอะไรเหมือน แต่จะไม่เห็นว่าผู้อื่นโง่นะ แต่จะหาทางช่วยอย่างสุดความสามารถที่จะทำให้เขารู้ขึ้นมาให้ได้ ไม่ว่าเขาจะเข้าใจได้แค่ไหนก็ตาม หรือถึงแม้ว่าเขาจะด่าจะว่าจะปรามาสที่ไปยุ่งกับชีวิตเขา ก็จักไม่ยอมหยุดเพราะวันหนึ่งเขาจะรู้เอง ไม่ว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่

ผมยังจำวันที่รัฐจะออกกฎหมายหมวกกันน็อค มีการชุมนุมประท้วงของชาวมอเตอร์ไซค์เขียนป้ายประท้วงว่า “หัวกูมึงอย่าเสือก” แต่ฝ่ายออกกฎหมายก็ดึงดันออกกฎหมายมาจนได้ จนวันหนึ่งคนที่ชูป้ายคนนั้นรถมอเตอร์ไซค์พลิกคว่ำแล้วหัวฟาดพื้น เมื่อเขาลุกขึ้นมาด้วยความดีใจที่รอดตายมาได้เพราะหมวกกันน็อค เขาจึงจะรู้สึกขอบคุณในใจลึกๆ เองว่า ดีนะที่เขาไม่เชื่อกู หรือไม่ก็ขอบคุณที่เสือกกับหัวกู

2 ตุลาคม 2555