ในตลาดสดแถวบ้าน พ่อค้าแม่ค้าขายมะนาวเป็นกองๆ กองละ 5 ลูก ในกระจาดมี 10 กอง กองละ 20 บาท ลูกค้ามาซื้อกี่กอง พ่อค้าแม่ค้าคิดเงินได้หมดไม่มีผิดเลย พ่อค้าแม่ค้าก็พูดเสมอๆ ว่า ฉันไม่เห็นต้องเรียนหนังสือเลย ฉันก็ทำมาหากินจนรำรวยมีเงินมีทองได้
พ่อค้าแม่ค้าขายผลไม้ เป็นคนใฝ่เรียนรู้ ใฝ่ศึกษา แม้ตอนเด็กจะไม่มีโอกาสเรียนหนังสือแต่ก็ยังไปเรียน กศน. เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ได้เรียนการท่องสูตรคูณ การนำสูตรคูณมาใช้ การใช้สมการแทนค่า การคิดคำนวณเปอร์เซ็นต์ เรียนเรื่องดอกเบี้ย คอมมิชชั่น เข้าใจเรื่องร้อยละ
เพื่อนพ่อค้าแม่ค้าขายมะนาว เข้ามาพูดคุยและก็ยังคงปลื้มอกปลื้มใจในการไม่เรียนหนังสือของตนเองแต่ขายได้ดีกว่าและรำรวยกว่า พ่อค้าแม่ค้าผลไม้ที่เสียเวลาไปเรียนหนังสือให้มันเหนื่อยเปล่า แถมยังโชว์การคำนวณการคิดเลขอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ไม่เห็นต้องรู้สูตรคูณเลย แต่ทุกครั้งที่พ่อค้าแม่ค้ามะนาวคิดคำนวณราคาต่างๆ ของมะนาว พ่อค้าแม่ค้าผลไม้จะรู้หมดว่านันมาจากการคำนวณโดยผ่านสูตรคูณแบบไหน วิธีอะไร สามารถแสดงวิธีทำออกมาได้ แต่พ่อค้าแม่ค้ามะนาวจะรู้เฉพาะผลตรงหน้าเท่านั้น เสมือนว่า พ่อค้าแม่ค้ามะนาวจะเห็นมิติเดียว แต่พ่อค้าแม่ค้าผลไม้เห็นมิติเชิงซ้อนคือ ไปเห็นเบื้องหลังการคำนวณด้วย
ท่านคิดว่าใครแตกฉานและผิดพลาดน้อยกว่าล่ะ… วันหนึ่งพ่อค้าแม่ค้ามะนาวเกิดช๊อตเงินต้องไปขอกู้หนี้ยืมสินคนอื่น ไปธนาคาร ธนาคารบอกว่าดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี ก็ไม่รู้ว่ามันเท่าไหร่และเห็นหลักเกณฑ์ยุ่งยาก เลยไปกู้แถวบ้านนอกระบบ เขาว่าร้อยละ 20 คิดไปคิดมาไม่เข้าใจ ต่อให้รู้ว่าร้อยละ 20 ต่อเดือนจะมากกว่าแต่ไม่รู้ว่ามันมากกว่าแค่ไหน เพราะไม่เคยรู้เกี่ยวกับระบบต้นทุน กำไร ว่าที่เราค้าขายอยู่นี้ต้นทุนกี่เปอร์เซ็นต์ กำไรกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วเรามีค่าใช้จ่ายรายเดือนอยู่เท่าไหร่ ขายได้เท่าไหร่ถึงจะค้มทุน จึงได้แต่กู้มาแล้วก็ขายไป สุดท้ายไม่สามารถจ่ายหนี้ได้เพราะดอกเบี้ยก็หามาไม่พอจ่าย แล้วจะจ่ายต้นได้อย่างไร แถมค่าใช้จ่ายตัวเองก็ไม่เหลือ นี่ใช่ไหมที่นั่งปลื้มกับการไม่เรียนรู้
วันนี้มีคนเข้าสู่การปฏิบัติโดยไม่ศึกษาอะไรเลยแล้วมานั่งชื่นชมกับการที่ไม่เห็นต้องรู้ต้องศึกษาอะไร หมวดธรรมต่างๆ ก็ไปว่าเรื่องปริยัติ พวกเรานักปฏิบัติ ปฏิบัติตามๆ กันแล้วก็หลงว่าตัวเองทำดี ครูบาอาจารย์ชม นั่งปลื้มจนตัวตนตั้งเด่ก็ไม่เห็นจะจัดการอะไรได้ ไปที่ไหนก็กร่างนึกว่าตัวเองรู้เสียเต็มประดา พ่อค้าแม่ค้าผลไม้เขาไปหัดท่องสูตรคูณก็ว่าไม่จำเป็นชั้นไม่เห็นต้องเรียนเลย แล้วไงพอมีปัญหาแล้วแก้ได้ไหม เข้าใจไหมว่าทางเดินที่แท้จริงคืออะไร
จะบอกให้ว่าสูตรคูณมาจากไหน? คนคิดสูตรคูณเขาเอามาจากของจริง
ด้วยการเอามะนาวกองละ 2 ลูก ตั้งไว้ 12 กอง ดึงออกมากองแรก แล้วนับ ได้ 2 จดไว้ เอากองที่ 2 เข้ามารวมกันแล้วนับได้ 4 จดไว้ กองที่ 3 มารวมแล้วได้ 6 จดไว้ … กองที่ 12 มารวมได้ 24 จดไว้ แล้วมาตั้งเป็นสูตร 2 x 1 = 2, 2 x 2 = 4, …, 2 x 12 = 24 แล้วเขาก็ทำที่แม่ 3, แม่ 4, แม่ 5, … สูตรทั้งหมดมาจากของจริงนี่ล่ะ ที่เรามาเรียนกัน
พระพุทธเจ้านำมาบอกสอน 84,000 พระธรรมขันธ์ นั่นคือการปฏิบัติ ไม่ได้เรียนไว้สอบ ส่วนที่ไม่เกี่ยวโดยตรงกับการปฏิบัติก็เป็นส่วนเพิ่มเติมอินทรีย์ส่วนอื่นเช่น ศรัทธา วิริยะ เพราะท่านเห็นความจริงแล้ว แต่การบอกสอนให้เร็วและกระชับให้ผู้ไม่รู้ที่มีอวิชชาสามารถเรียนรู้ได้ ก็ทำการจัดหมวดหมู่เป็นรูปแบบอย่างชัดเจน เช่น อริยมรรคมีองค์ 8
เรามาดูกันในผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มีทั้งหมด 3 คน
1. พ่อค้าแม่ค้ามะนาว
2. พ่อค้าแม่ค้าผลไม้
3. ผู้คิดสูตร-สูตรคูณ
พ่อค้าแม่ค้ามะนาว ไม่รู้อะไรเลย ทำได้เท่าที่มีคนบอกมาหรือประสบการณ์ตัวเอง ก็หากินได้แต่เสี่ยงคือความรู้แคบมาก ถึงจะไปเรียนรู้ก็เรียนรู้จากแม่ค้าในตลาดเดียวกัน ได้แต่เคล็ดลับการคิดเลขจากประสบการณ์ของพ่อค้าแม่ค้าอีกคนที่ขายมาก่อน ไม่ได้กระบวนการ มองไม่เห็นเส้นทางเดินทั้งหมดเลย
พ่อค้าแม่ค้าผลไม้ ศึกษาเรียนรู้ สูตรคูณและนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตทำมาหากินได้ และเห็นความเป็นเหตุเป็นผลที่พ่อค้าแม่ค้ามะนาวคิด แต่พ่อค้าแม่ค้ามะนาวไม่เห็น จึงเข้าใจได้มากกว่า
ส่วนผู้คิดค้นสูตรนั้น จะมีมิติการมองที่เห็นทุกจุดทั้งฉากหน้าฉากหลัง วิธีคิด วิธีแก้ไขปรับปรุง ข้อบกพร่อง จุดดี จุดเด่น จุดแข็ง จุดอ่อน เห็นที่มาที่ไป รายละเอียดทุกแง่มุม ปฏิบัติเองก็ได้ สั่งสอนผู้อื่นก็ได้ เห็นมิติซ้อนมิติ เห็นทุกมุมมอง แล้วแบบไหนดีกว่ากัน
ยกตัวอย่างลงมาให้เห็นว่า 3 คนนี้ถ้าเป็นนักปฏิบัติจะเป็นอย่างไร?
พวกแรก ไปสำนักไหนใครเขาให้ทำอะไรก็ทำตามเขา เขาบอกว่ามาที่นี่ต้องทำอย่างของเขาให้ทิ้งของที่ทำมาแล้วให้หมด ก็ทำตามเขา โดยไม่รู้ด้วยซำว่ามาทำอะไรและทำไปเพื่ออะไร เสร็จแล้วเห็นนั่นเห็นนี่ ก็ว่าวิธีแบบนี้ดีอัศจรรย์ พวกนี้เห็นได้มิติเดียว แล้วนั่งปลื้ม คุยโว คุยโอ่อย่างทรนง ว่าแบบของฉัน สำนักของฉันดีกว่าใครๆ พวกนี้ถ้าหากเป็นผู้สั่งสมมา มีอัธยาศัยทางธรรม แล้วเกิดเจอสำนักที่ถูกกับจริตก็ไปได้ง่าย แต่จะยิ่งหลงคิดว่าวิธีนี้ดีกว่าทางใดๆ
พวกที่สอง ศึกษาหลักการมาและได้นำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติ รู้เหตุรู้ผลว่าเส้นทางเดินคืออะไร บางสูตรแม้จะศึกษาเกินไปบ้าง แต่เมื่อปฏิบัติจริงก็จะได้เห็นจริงตามลำดับ เพราะนั่นเป็นคำที่พระพุทธเจ้านำมาบอกสอนไว้ ทำให้มีศาสตราอาวุธครบถ้วนไม่ได้มีไว้ยึดมั่นถือมั่น
ส่วนบุคคลที่สาม ผู้คิดสูตร บุคคลนี้เห็นแจ่มแจ้งทุกมุมมองเหมือนคนดูละครเวที
คนแรกนั่งดูละคร เห็นผู้ร้ายแสดงเกิดอารมณ์ไม่ชอบใจ เห็นพระเอก นางเอกแสดงเกิดอารมณ์ชอบใจ เห็นอารมณ์เกิดขึ้น อารมณ์ดับไป พวกนี้จะเห็นมิติเดียว ในส่วนอนิจจัง เข้าถึงธรรมได้ไหม… ได้ ถ้าเผอิญเห็นตรง
พวกที่สอง เห็นว่าที่พระเอก นางเอก ผู้ร้ายที่ออกมาแสดงนั้น ที่เขาทำอย่างนั้นเพียงเพราะทำตามบทบาทที่ผู้กำกับหลังม่าน หลังเวทีเป็นคนสั่ง เห็นแต่การแสดงหลอกๆ ลวงๆ ไม่ได้มีอะไรเลย พวกนี้เห็นมิติในส่วน อนัตตาไม่เกิดอารมณ์เพราะรู้ทันหรือเห็นความจริง
ส่วนบุคคลที่สามนั้นเห็นตั้งแต่วันสร้างโรงละคร สร้างเวที สร้างฉาก เห็นหมดว่าจะกี่คณะมาแสดงก็ทำอยู่อย่างนี้ ทุกคนมาหาเงินมาสร้างความร่ำรวยกันเท่านั้นเอง มีแต่ของว่างของเปล่า บุคคลเหล่านี้ เห็นแจ้งโลก ไม่หลงโลก เข้าใจโลกหมดแล้ว เห็นทุกมิติ
อริยสัจ 4 นั้น เอาแค่ ทุกขอริยสัจ คำเดียว มีความหมายมากมายตามภูมิธรรมของผู้ที่เกิดสัมมาทิฏฐิ คนทั่วไปก็เห็น “ทุกข์” ได้ในมิติ ความรู้สึกสุขทุกข์ มิติต่อไปก็เห็นได้ว่า ขันธ์ 5 เป็นทุกข์เพราะเห็นมาจากการท่องเที่ยวในฐาน 4 คือ กาย เวทนา จิต ธรรม จึงไปเข้าใจขันธ์ 5 จากนั้นเห็นว่าขันธ์ 5 เป็นรูปนาม รูปนามนี้แจ่มแจ้งกว่าเดิมมากเพราะความที่ไปเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตลอดการเดินทาง จึง รู้เลยว่าการแสดงผลของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นมาจากเหตุในความเป็นรูปนามนั่นเอง ปัญญาจึงย้อนไปเข้าใจว่า สรรพสิ่งล้วนเป็นรูปนาม ทุกข์นั้นมาจากการเข้าไปยึดถือขันธ์ซึ่งเป็นทุกข์ จะไม่ทุกข์ได้อย่างไร นี่จึงมาสู่คำว่า “ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์” จากนั้นไม่ใช่แต่ขันธ์ 5 ที่ทุกข์ รูปนามทั้งโลกทั้งจักรวาลก็เป็นสภาพทนอยู่ไม่ได้ จิตเองก็เช่นกันการที่จิตยึดถือตัวเองนั่นแหละคือต้นเหตุที่ทำให้ไปเกิดอุปาทาน เมื่อจัดการเหตุที่ทำให้จิตเข้าใจผิดคือมีอวิชชา นั่นจึงจะเปลี่ยนอวิชชาเป็นวิชชา ตัณหา อุปาทานก็สลาย จึงเป็นความอิสระอย่างแท้จริง
ฟังผู้รู้แจ้งเถอะ ไม่อย่างนั้นทำอะไรก็มีแต่ดี มีแต่ปลื้ม โดยไม่รู้ว่า ไอ้ปลื้ม ไอ้ดี นั่นน่ะผลผลิตของอวิชชา กบอยู่ในกะลา ถ้าฉลาดยัง พอรู้ได้ว่าตัวเองอยู่ในกะลา แต่พวกกบที่เห็นว่าโลกที่ข้าเห็นนี่ถูกที่สุดต้องแบบนี้ ใครๆ ต้องทำอย่างนี้ ผิดไปจากนี้ผิด แล้วกร่างอย่างทรนงว่าต้องแบบของกู นั่นกบเองยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอยู่ใต้กะลา แล้วที่ว่าข้าเห็นหมดแล้วนั่นน่ะ เห็นแต่รอยฟันกระต่ายกับเศษมะพร้าวที่แม่ค้าเขาขูดไม่หมดนะซิ…
30 เมษายน 2556
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น