การเจริญสติ ต่างจากการเจริญมรรค อย่างไร


สารีบุตร! ที่มักมีคำกล่าวกันว่า โสดาบัน โสดาบัน ดังนี้เป็นอย่างไรเล่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านผู้ใดเป็นผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 นี้อยู่ ผู้เช่นนั้นแล ข้าพระองค์เรียกบุคคลผู้นั้นว่า พระโสดาบัน ผู้มีชื่ออย่างนี้อย่างนี่ มีโคตรอย่างนี้อย่างนี้ พระเจ้าค่ะ

สารีบุตร! ถูกแล้ว ถูกแล้ว ผู้ที่ประกอบพร้อมแล้วด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 นี้อยู่ ถึงเราเองก็เรียกผู้เป็นเช่นนั้นว่าเป็น พระโสดาบัน ผู้มีชื่ออย่างนี้อย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้อย่างนี้…

ทั้งพระพุทธเจ้าและพระสารีบุตรไม่ได้กล่าวเลยว่า ผู้ที่เจริญสติอยู่ เอะอะนักปฏิบัติก็จะบอกว่า เจริญสติไว้ ฟังดูดีนะ แต่พูดผิดพูดใหม่ดีกว่า และจะพูดใหม่ต้องทำความเข้าใจให้ถูกด้วย

เพราะเราไม่รู้จัก มรรคมีองค์ 8 วันนี้จึงพูดตามๆ กันมาโดยไม่รู้เรื่อง เห็นวิทยากรตามคอร์สเขาพูดกัน เห็นนักปฏิบัติรุ่นก่อนเขาพูดกัน ก็เลยสีลพพตุปาทานไปกับเขาด้วย

ก่อนท่านจะอ่านต่อไป ไปหาหนังสือสวดมนต์แปล แล้วศึกษาว่า บทสวด อริยมรรคมีองค์ 8 คืออะไร หรือเอาง่ายๆ เลยหาหนังสือ กลัวเกิด ไม่กลัวตาย หรือไม่ก็การบรรยายตามคอร์สต่างๆ ที่สาธยายถึงมรรคมาศึกษาดู ในไฟล์เสียงมีให้ดาวน์โหลดอยู่

จากนี้ไปจะถือว่าท่านรู้มรรคมีองค์ 8 แล้วว่ามรรคแต่ละองค์หมายถึงอะไร

เราจะลองมาดูว่า เราว่าเราปฏิบัติธรรม แล้วใช้คำว่า เจริญสติมากินรวบทุกอย่างมันพลาดตรงไหน ทำไมพระพุทธเจ้าใช้คำว่า เจริญมรรค ท่านไม่ได้ใช้คำว่า เจริญสติ
  • เวลาโกรธ คนทั่วไปบอกว่า มีสติรู้ไว้ คือ ให้เข้าไปรู้โกรธเอาไว้ (คงคิดเอาเองว่าจะได้เห็นการเกิดดับของโกรธ) แต่การเจริญมรรคคือ ใช้มรรคข้อที่ ๖ สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ ให้เพียรละอกุศล ผิดกันแล้วนะ หากท่านเถียงในใจว่า ก็จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็พูดไว้ชัดเจนว่า ให้รู้ชัดว่า จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ แล้วจะผิดได้อย่างไร? เอาล่ะ พูดเอง ย้อนกลับไปอ่านอีกครั้งหนึ่ง ที่เราเข้าไปนั้นเอาให้แน่ว่า เห็นว่าจิตมีโทสะหรือเรามีโทสะ และที่สำคัญคือ ถ้าเห็นว่า จิตมีโทสะ นั่นไม่มีเราเข้าไปปนในผู้ดู และผู้ถูกดูก็ไม่เป็นของเราด้วยเช่นกัน สภาพนั้นจิตต้องตั้งมั่นมาก เพราะจิตไม่ตั้งมั่นจากการเจริญมรรค การดูการรู้จึงหลงทั้งหมด เมื่อหลงจะเกิดเป็นภพ ชาติ ชรา มรณะ ต่อไปเรื่อยๆ
  • เวลาเล่นเกม ติดเกม คนทั่วไปบอกว่าให้มีสติตามรู้ไว้ แต่การเจริญมรรค ใช้มรรคองค์ที่ 2 สัมมาสังกัปโป การดำริชอบ เพราะเห็นว่านี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ จึงดำริที่จะเนกขัมมะออกจากกาม คือวางสิ่งนั้นลง หรือถอนฉันทราคะในสิ่งนั้นๆ คือถอนความพอใจเมื่อเห็นโทษภัยของมัน ตกลง “ละ” หรือ “รู้” ฟองก๊าซไข่เน่าเกิดเป็นกลิ่นเหม็นจากน้ำนำในบ่อที่เน่า จะนั่งดูฟองก๊าซหรือ ถ้าทำอย่างนั้นเมื่อไหร่ฟองก๊าซไข่เน่าถึงจะหมดไป ไม่มีวันซะล่ะ ถ้าไม่จัดการกับสภาพบ่อ การจัดการสภาพบ่อต้องใช้มรรคตั้งแต่องค์ที่ 1-6
  • เวลาไปกินอาหารที่เขาจัดไว้อย่างดี เขาว่าให้เจริญสติไว้ อันนี้ใช่ การเจริญสติและการเจริญมรรค เหมือนกันในข้อนี้ เพราะอาหารอย่างไรก็ต้องกิน จึงต้องกินอย่างมีปัญญา จะมีปัญญาก็อาศัยสมาธิไปละราคะก่อน เพราะการเจริญสตินั้น พระองค์บอกไว้แล้วว่า “มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้” ดังนั้นตรงนี้เหมือนกัน เมื่อเจริญสติจะเห็นว่า เวทนาความสุขจากความพอใจหรือความไม่พอใจในรสชาติ จะเห็นเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นดับไป ไม่มีอะไรให้ยึดถือ หรือแม้ว่าจะมองในมุมของอายตนะ ลิ้นหรือรส ก็เช่นกันล้วนเกิดขึ้นดับไป ตรงนี้คำว่าเจริญมรรค คือการเจริญสติ
  • มีความหลงใหลในเพศตรงข้าม บางคนทนไม่ไหวอยากไปเที่ยวสถานเริงรมย์ เช่น อาบอบนวด เมื่อถามนักปฏิบัติก็ตอบว่า เจริญสติไว้?? ส่วนการเจริญมรรคนั้น จากการเนกขัมมะในมรรคองค์ที่ 2 แล้ว ในมรรคองค์ที่ 2 ยังกล่าวถึงการไม่มุ่งร้าย การไม่เบียดเบียนอีก ซึ่งนั่นนำไปสู่มรรคองค์ที่ 4 สัมมากัมมันโต เป็นศีลในข้อ 1, 2, 3 ซึ่งหากเรามีคู่อยู่แล้ว นี่จะเป็นการทำร้ายจิตใจของคู่ของเราหรืออาจจะไปทำร้ายคู่ของคนอื่นหรือไปทำร้ายจิตใจพ่อแม่ของเขาอีก ตกลงจะเอาแค่รู้กิริยาอาการเคลื่อนไหวในขณะกำลังสมสู่อย่างนั้นหรือ ที่ว่าให้เจริญสติ มันทะแม่งๆ นะ แล้วมีวิทยากรตอบอย่างนี้จริงๆ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องการจะสื่อให้นักปฏิบัติได้เข้าใจ เพราะการเจริญสติเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญมรรคเท่านั้นเองไม่ใช่ทุกอย่างๆ จะเจริญสติกันอยู่เรื่อย จนมีคนเขาพูดทำนองแซวๆ ว่า ขโมยก็มีสติ คนกำลังด่าคนอื่นอยู่ ก็ว่าตัวเองมีสติ เราเอาสติมาใช้กันจนเฝือ โดยไม่ดูเลยว่า สติที่ใช้ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น มีไว้ให้เห็นว่า กายนี้ไม่ใช่ตัวตน บุคคล เรา เขา เล่นโยคะก็ว่าฝึกกายาฯ มันเลยเลอะเทอะไปกันใหญ่ กำลังเอาคัตเตอร์ไปตัดต้นมะพร้าวกันแล้ว

วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราควรทำการศึกษาและเจริญมรรค หลายท่านมุ่งมั่นปรารถนาในหนทางแห่งการพ้นทุกข์ ไม่อยากให้เสียเวลาสะเปะสะปะ ปฏิบิติอย่างมีปัญญา หนทางแห่งการพ้นทุกข์อยู่ที่กายยาววาหนาคืบนี้เอง ไม่ได้อยู่ที่ครูบาอาจารย์องค์ไหน ส่วนของท่านก็เป็นของท่าน ส่วนที่เรานี่ล่ะที่ต้องทำเอาเอง หนทางนั้นไม่ได้ไกลอย่างกรุงเทพ-เชียงใหม่ แต่หนทางอยู่บนลู่วิ่งสายพาน ถึงไม่ถึงอยู่ที่มีคนวิ่งไหม ถ้ายังมีคนวิ่งก็เหนื่อยแต่ยิ่งเหนื่อยก็ต้องวิ่งต่อไป จนเข้าใจ เข้าถึง รู้แจ้ง สลัดคืนเมื่อไหร่ เมื่อนั้นจะไม่มีผู้วิ่ง จะเหลือแต่สังขารวิ่งไปชลอลง ชลอลงตามสภาพวิบากและอายุของเขาจนเสื่อมไป สลายตัวออกจากลู่วิ่ง สายพานของโลกยังคงหมุนต่อไปเพราะยังมีผู้วิ่ง วิ่งกันเต็มฟิตเนส แล้วต่างก็ตะโกนบอกกันทำนองเรียกร้องความเห็นใจว่า เหนื่อยจริงๆ แต่น่าแปลกไม่เห็นมีใครคิดจะหยุดวิ่ง แถมยังดูเหมือนว่า ยิ่งวิ่งยิ่งมันส์ …พวกปากกับใจไม่ตรงกัน

22 มีนาคม 2556


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น