พระอาจารย์องค์นั้นไม่ดี


เหรอ…ทำไมท่านไม่ดีล่ะ ฉันว่าท่าน…ไม่น่าทำอย่างนั้นเลย

ผมว่าจะบอกว่าองค์ไหนเป็นอย่างไร ให้เอาธรรมวินัยมาวัดดีกว่า อย่าเอาความรู้สึกของเราเป็นตัววัดเลยว่าองค์ไหนดีหรือไม่ดี เพราะแม้ธรรมวินัยเองยังยากที่จะบอกได้ว่าท่านดีหรือไม่ดี หากเอาธรรมวินัยข้อที่เล็กๆ น้อยๆ มันเสี่ยง ผิดพลาดไปก็จะสร้างเวรเปล่าๆ เพราะเท่าที่ฟัง มันเกิดขึ้นมาจากมาจากความคิดเห็นของ “กู” ทั้งนั้นเลย ซึ่งอย่างนั้นเราสร้างมโนกรรมไปแล้ว

องค์นั้นดีถูกจริต เอาให้แน่นะว่าจริต ที่พูดนั้นไม่ใช่กิเลสย้อมใจให้พูดล่ะ จริตที่ว่ามักจะมาจากปฏิบัติสบายๆ หรือสนุกดีอย่างที่คนทั่วๆ ไปชอบ ระวังดีๆ นะ ที่ว่าชอบนนั่นมันเป็นแบบที่พาไปสู่หนทางพ้นทุกข์รึเปล่า หรือให้ย้อมจิตยึดติดในเรื่องนั้นเพิ่มขึ้นไปอีก ไปสวนสนุกก็ชอบ ไปทำจิตอาสาก็ชอบ ไปแค้มป์ปิ้งก็ชอบ เอาชอบเป็นเครื่องวัดหรือ? เพราะการบำเพ็ญภาวนานั่นฝืนกิเลส เผากิเลส มันอาจไม่ใช่อย่างที่ใครๆ ชอบ แต่เพราะเห็นโทษภัยจึงเกิดความพอใจที่จะมุ่งมั่นกระทำใหัถึงที่สุด

คำว่าจริต หมายความอย่างที่เราเข้าใจรึเปล่า จะยกตัวอย่างสักตัวอย่างหนึ่ง

สมัยพุทธกาล ภิกษุหนุ่มลูกศิษย์พระสารีบุตร เพิ่งบวชใหม่ พระสารีบุตรจึงแนะนำให้เจริญอสุภกรรมฐานเป็นฐานแห่งการปฏิบัติ แต่ผ่านไป 4 เดือนกลับไม่มีอะไรดีขึ้น เข้าไม่ถึงแม้ปฐมฌาน พระสารีบุตรจึงพาไปกราบพระพุทธเจ้า

พระองค์จึงทรงแนะนำให้ภิกษุหนุ่มนั้นไปนั่งเพ่งดอกบัวด้วยกสิณสีแดง โดยให้ท่อง “โลหิตัง…โลหิตัง…” จากนั้นไม่นาน ก็เริ่มเข้าสู่ปฐมฌานจนถึงฌานที่ 4 ช่วงนั้นเองดอกบัวที่เพ่งเหี่ยวลง จิตใจของภิกษุหนุ่มก็เริ่มเหี่ยวลงตามดอกบัว ภิกษุนั้นเกิดปัญญาเห็นว่าเพราะเราเริ่มยึดติดผูกพันกับดอกบัว (เกิดอุปาทาน) ใจจึงเหี่ยวทุกข์เศร้าหมองไปด้วย เพราะขณะนั้นอำนาจของความตั้งมั่นในฌานจึงเกิดเป็นปัญญาถอดถอน เมื่อถอนอุปาทานในขันธ์ได้เพราะเกิดความเห็นถูก จึงบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์


มาดูประเด็นเรื่องนี้กัน ที่เราชอบพูดว่าองค์นั้นองค์นี้ไม่ดี ตกลงเรื่องเป็นอย่างไร
  1. พระสารีบุตร ไม่ดีหรือที่สอนศิษย์ไม่ตรงจริต? นี่ท่านเมตตามากนะ ยังว่าไม่ดีอีกหรือ? ย้อนกลับมาดูดีๆ ใครจะบรรลุนั้นต้องทำเอาเอง แม้นพระพุทธเจ้ายังบอกว่า “ตถาคตเป็นเพียงผู้บอกทาง…” ไม่มีใครรับผิดชอบใครได้จริงๆ หรอก มันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนภายใต้วิบากกรรมอีก
  2. พระพุทธเจ้า ท่านให้กรรมฐานตรงกับจริต เพราะท่านบอกว่า ภิกษุนี้เป็นพุทธเวไนยยะ ซึ่งต้องรู้ธรรมจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น สาวกชี้ให้ไม่ได้ ถ้าอย่างนี้จะพระสารีบุตรหรือสาวกองค์ใดๆ ก็ไม่มีทาง
  3. จริตของภิกษุหนุ่มนั้น แม้ระดับพระสารีบุตรยังอาจให้กรรมฐานไม่ตรง เพราะท่านไม่ใช่สัพพัญญู ทั้งๆ ที่ท่านเองเป็นอัครสาวกเบื้องขวาผู้เป็นเลิศด้านปัญญา ลูกศิษย์เองต้องทำเอง รับผิดชอบตนเอง ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ก็สอนรวมๆ ตามที่ท่านเข้าใจและสั่งสมมา นั่นไม่ได้แปลว่าลูกศิษย์จะทำได้อย่างที่ท่านสอน และคำว่าลูกศิษย์จริงๆ แปลว่าอะไร? เราฟังคำสอนท่าน ไปปฏิบัติในสำนักท่าน ก็เลยเรียกตัวเองว่าเป็นลูกศิษย์ท่านหรือ? ความเป็นจริงนั้นคืออะไร ศิษย์เลือกอาจารย์หรืออาจารย์เลือกศิษย์
  4. จริตคือความชอบของฉันหรือ? ฉันว่าฉันชอบการปฏิบัติแบบอาจารย์องค์นี้นะ…เหรอ

ถ้าวันไหนรู้สึกศรัทธาเปลี่ยนไปเพราะไม่ได้ดั่งใจเรา เราก็จะรู้สึกว่าคนนั้นคนนี้ไม่ดี ไม่จัดการตัวเอง ดีแต่โยนความผิดไปที่ผู้อื่น คนมี “กู” จะโยนความผิดให้คนอื่นไว้ก่อน ทั้งๆ ที่ตนเองไม่พยายามพัฒนาจิตใจ สติปัญญา ลดละเลิกกามคุณอย่างจริงจังเลย นอกจากความก้าวหน้าไม่มี ก็ยังสร้างอกุศลกรรมไม่หยุดหย่อน คนที่เราว่าเขาดีไม่ดีนั้น จะดีไม่ดี ดูดีๆ ว่าท่านนั้น ที่เราว่า อาจดีกว่าเราร้อยเท่าพันเท่า ทั้งการปฏิบัติตน ความเห็นแก่ตัวก็ยังน้อยกว่าคนที่ว่าท่านตั้งมากมาย นั่นก็ยังไม่ดีเพราะ กูเห็นแต่ตัว “กู” เอง กูน่ะดีหมด

หันกลับมาชำระตนเองน่าจะเป็นทางที่ดีที่สุด หากจริตตัวเองเป็นอย่างไรไม่รู้ ก็เพียรฝึกสติสัมปชัญญะในแต่ละขณะให้มาก มีศีลเพียรระวัง ทุจริต 3 กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตไว้

ตอนนี้รู้ลมหายใจไว้ หลับตาลงสักพักก่อนอ่านต่อ…

อารมณ์ต่างไปไหม? อ่านข้อความที่เป็นธรรมะใจเป็นกุศลหรืออกุศล

นี่ล่ะที่เรียกว่าทำความเพียร มันยากตรงไหน? มาดูเนื้อเรื่องพวกที่ชอบเพ่งโทษว่าผู้อื่นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ย้อนดูตนกัน

ครั้งนั้นพระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเถระรูปหนึ่ง ชื่ออุชฌานสัญญี

คุณวิเศษไม่เกิดแก่ผู้เพ่งโทษผู้อื่น

ได้ยินว่า พระเถระรูปนั้นเที่ยวแส่หาความผิดของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นว่า “ภิกษุนี้ก็นุ่งผิดอย่างนี้ ภิกษุนี้ก็ห่มผิดอย่างนี้.” พวกภิกษุกราบทูลแด่พระศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเถระชื่อโน้นชอบทำแบบนี้.”

พระศาสดาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในข้อปฏิบัติแล้วกล่าวสอนอยู่อย่างนี้ ใครๆ ก็ไม่ควรติเตียน, ส่วนภิกษุใดแสวงหาโทษของชนเหล่าอื่นเพราะความมุ่งหมายที่จะจับผิด พูดแบบนี้ไปอยู่, บรรดาคุณวิเศษ มีฌานเป็นต้น คุณวิเศษแม้อย่างหนึ่ง ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น, อาสวะทั้งหลายเท่านั้น ย่อมเจริญอย่างเดียว”

ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น ผู้คอยดูความผิดของบุคคลอื่น ผู้มีความมุ่งหมายในอันจับผิดเป็นนิตย์ บุคคลนั้น เป็นผู้ไกลจากความสิ้นไปแห่งอาสวะ

ระวัง! ยิ่งเดินทางยิ่งห่างไกลออกไปจากปลายทาง

25 กันยายน 2555


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น