เกริ่นนำ

จากที่เขียนบทความเปรียบเทียบวัฒนธรรมไทยกับญี่ปุ่นลงหนังสือเล่มแรกไป ก็ได้รับเสียงตอบรับมาพอสมควร จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายประเด็นที่สามารถหยิบยกมาอภิปรายกันได้ หนึ่งในนั้นก็คือ “ทำไมคนไทยชอบไปเที่ยวที่ญี่ปุ่น” คำตอบก็คงมีหลากหลาย แต่หลักๆ น่าจะเป็น “ธรรมชาติสวยงาม” และ “ชอบคนญี่ปุ่น”

ชาวญี่ปุ่นที่เราได้พบได้เจอเวลาไปเที่ยว ช่างน่ารัก สุภาพ สำรวม มีมารยาทและคอยคิดถึงผู้อื่นอยู่เสมอ แล้วเหตุใด ถึงมีข่าวว่าชาวญี่ปุ่นมีอัตราฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก ดูไม่น่าเป็นไปได้สำหรับชนชาติที่ดูใกล้ชิดและรักธรรมชาติ ดูบริสุทธิ์ไม่คิดร้ายกับใครๆ นักเรียนไทยที่มีโอกาสไปเรียน-แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ญี่ปุ่นจะบอกท่านได้ว่าสังคมของเขาเจ้าระเบียบ และทำให้รู้สึกกดดัน เครียด และหดหู่ได้มากขนาดไหน

ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเรามาจากประเทศที่ร้อนและหยวนกันเป็นกิจวัตร (อ้างอิงถึงบทความก่อนหน้านี้) แต่ดิฉันที่มีโอกาสอยู่ร่วมบ้านกับคนญี่ปุ่นมาตลอดหนึ่งปีเต็มนั้น สามารถพูดได้ว่าคนญี่ปุ่นเองเขาก็รู้สึกถึงความเครียดตรงนี้เช่นเดียวกัน

สำหรับประเทศที่จัดว่าเจริญแล้วอย่างญี่ปุ่นนั้น การมาสายเป็นเรื่องที่ต้องขอโทษขอโพยกันเป็นเรื่องเป็นราว มีคำพูดเฉพาะสำหรับพูดว่า “ขอโทษที่ทำให้คุณต้องรอ” (お待たせしました) มีทั้งฉบับเป็นกันเองเอาไว้พูดกับเพื่อนสนิท (お待たせ) และฉบับเป็นทางการกดตัวเองให้ต่ำกว่าคู่สนทนา (お待たせいたしました) เผื่อเดินเข้าไปเจอผู้รอกำลังอารมณ์เสียอยู่พอดีเขาจะได้รู้สึกดีขึ้นมาักหน่อย (หัวเราะ)

ไม่ว่าจะรถไฟ รถใต้ดิน รถเมล์ ทุกอย่างมีตารางเวลาแปะเอาไว้ที่สถานี/ป้ายรถเมล์ทั้งนั้น สามารถดาวน์โหลดจากเว็บไซต์เพื่อพิมพ์แปะไว้หน้าตู้เย็นที่บ้านได้อีกต่างหาก ข้ออ้างที่ว่าพอไปถึงป้ายรถเมล์รถก็วิ่งออกไปพอดีนั้น จึงไม่ค่อยมีความหมายอะไรสักเท่าไรในประเทศเขา

นอกจากนี้สิ่งที่คนไทยคุ้นเคยกันอย่างดีก็คือการต่อแถว ไม่ว่าจะซื้อโมจิ เข้าร้านอาหาร ขึ้นรถเมล์รถไฟรถแท็กซี่ ซื้อตั๋วเบสบอล เข้าคิวถ่ายรูปกับใบไม้แดง (เจอมาแล้วที่จังหวัดนารา) เข้าร้านเปิดใหม่ (ตอนคริสปี้ครีมเปิดสาขาใหม่ที่จังหวัดที่ดิฉันไปอยู่ ก็ต้องต่อคิวพอๆ กับตอนมาเปิดที่สยามพารากอนเช่นกันสหากแต่ของเขาคิวเคลื่อนเร็วมาก และถ้ารอนานเกินครึ่งชั่วโมงจะได้กินฟรี 1 ชิ้นด้วย ทุกคนเลยไม่ว่าอะไร) (หัวเราะ)

พอเรียนจบก็ต้องผ่านกระบวนการที่เรียกว่า (就職活動) คือการแข่งขันสมัครงาน ซื้อสูทมาใส่ไปสมัครบริษัทนู้นบริษัทนี้ ส่วนผู้หญิงก็มักจะผ่านกระบวนการ (結婚活動) คือการแข่งขันหาคู่สมรส เคร่งเครียดทุกอย่างเพราะถูกสังคมมองว่าอายุสมควรแก่การแต่งงานแล้ว ต้องหาคู่ไปออกเดท และพยายามรวบรัดตัดความแต่งงานให้ได้ ก่อนจะถูกมองว่าแก่ขนาดนี้แล้วยังไม่แต่งงานอีกหรือ ไปญี่ปุ่นสมัยนี้จะเห็นคุณแม่ยังสาวเข็นรถเข็นลูกไปช้อปปิ้งในห้างฯ พร้อมเพื่อนสาวและรถเข็นเด็กของเพื่อนกันเป็นเรื่องปกติ

สิ่งที่จะบอกก็คือ ผู้ใดที่ทำไม่ได้อย่างที่ว่าทั้งหมดนี้ (แน่นอนว่ายังมีบรรทัดฐานอื่นๆ คอยชี้นำการกระทำต่างๆ ในชีวิตของชาวญี่ปุ่นอีก) ถ้าไม่ประสบความสำเร็จด้านอื่นไปเลย ก็อาจจะถูกมองว่าไร้ค่า ทำอะไรก็ไม่ได้สักอย่าง อยู่รอดในสังคมไม่ได้หรอกคนแบบนี้ ในสังคมญี่ปุ่นเราจะต้องทำเหมือนๆ คนอื่น ใครแตกต่าง ใครโดดเด่นเกินจะถูกมองด้วยสายตาตำหนิ (ยกเว้นคุณเป็นชาวต่างชาติ เขาจะมองว่าเก่งจัง เยี่ยมจังที่กล้าแตกต่าง ฉันอยากเป็นเหมือนคุณบ้าง) เพราะฉะนั้นไม่แปลกเลยที่จะมีความกดดันในสังคมสูงมาก ต้องพยายามอยู่ตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นก็จะตกลงไปสู่ด้านล่างของสังคมที่ไม่มีใครต้องการเรา แล้วพอเราตกลงไปแล้ว ใครจะอยากคุยกับเรา ใครจะอยากยื่นมือช่วยเราหรือ? ไม่มีหรอก เพราะเขาไม่อยากตกลงมาอยู่กับเรา คนที่รู้สึกไร้ค่าและว้าเหว่ขนาดนี้ มากๆ เข้าก็ทนไม่ไหวต้องฆ่าตัวตายหนีไป

เวลาที่ความฝันพังทลาย แม้แต่ความจริงก็แทบจะไม่เหลือ คนเราจะอยู่ในจุดที่อาจจะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น สิ่งสุดท้ายที่จะดึงเราไว้ไม่ให้เสียจิตวิญญาณของเราไป ก็มีเพียงความศรัทธา หรือเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ อย่างที่ทราบกันดีว่า คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ในประเทศนั้น ไม่มีศาสนา เมื่อไม่มีเขาก็ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ไปอีกทำไม เพราะไม่มีอะไรมาอธิบายว่า ชีวิตคืออะไร? แล้วทำไมเขาควรจะมีชีวิตอยู่ต่อไป? ไม่มีอะไรจะให้ความหมายกับชีวิตหรือการกระทำของเขาได้ ทำไมเขาต้องมาเจอเรื่องราวโหดร้าย? หรือทำไมการฆ่าตัวตายจึงไม่ทำให้อะไรดีขึ้น? สิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะพูดว่าอันตรายก็คงจะได้

สำหรับคนไทยแทบจะทั้งหมดของประเทศที่นับถือศาสนาต่างๆ ก็ขอให้นำคำสอนของศาสนาที่ท่านนับถือไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดประโยชน์เถิด ในวันที่ท่านท้อ หมดความหวัง จะได้ยังมีความเชื่อที่จะฉุดให้ท่านลุกขึ้นมาใหม่ได้อีกครั้ง

สุดท้ายนี้ขอออกตัวว่าที่เล่ามาทั้งหมดมิได้มีเจตนาจะตัดสินวัฒนธรรมใดแต่อย่างใด สิ่งที่ดิฉันเล่ามาทั้งหมดเป็นสิ่งที่คนไทยที่ได้ไปอยู่ญี่ปุ่นสักระยะเวลาหนึ่งมักจะมองเห็น โดยที่มองบนพื้นฐานที่ว่าเราเป็นคนไทย ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ยังรักประเทศและประชากรของประเทศนี้เสมอ และไม่ว่าใครจะพูดหรือมองอย่างไรก็จะไม่สามารถเปลี่ยนความคิดนี้ไปได้ ขอบพระคุณค่ะ

ขออนุโมทนากับทุกท่าน

รัญชิดา อุทัยเฉลิม 
บรรณาธิการ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น