บรรลุธรรมด้วยปัญญา

อริยมรรคมีองค์ 8 นั้น เมื่อแบ่งเป็น 3 ส่วน ก็คือไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา

ปัญญาแบ่งเป็น 2 ข้อ

  1. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นอันถูกต้อง
  2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริอันถูกต้อง


ปัญญาในการบรรลุธรรม คือ ความเห็นอันถูกต้อง

เห็นอะไรถูกต้อง?

เห็น (รู้แจ้ง) อริยสัจ 4

รู้แจ้งอะไร ในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

รู้จักว่าอะไรเป็นทุกข์ แล้วอะไรเป็นเหตุเกิดของทุกข์ เมื่อรู้จักทุกข์ ก็คือรู้จักการเกิด เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้ที่เกิดขึ้นล้วนเป็นทุกข์ เมื่อรู้จักทุกข์ ก็จะเริ่มรู้จักว่าอะไรเป็นเหตุเกิดของมัน เหตุเกิดของมันมีอยู่แค่ 2 อย่างก็คือ ตัณหาและอุปาทาน เท่านั้นเอง

การจัดการกับทุกข์ทั้งหลายก็ด้วยการเจริญมรรค เมื่อเจริญมรรคไป ทุกข์ระหว่างทางจะลดลงไปเรื่อยๆ ตัณหาโดนเบรกไปเรื่อยๆ เปลี่ยนนิสัยสันดานใหม่ เริ่มเป็นคนดีมีใจกุศลมากขึ้น จนเห็นความจริง ปล่อยวางความยึดถือลงได้ เกิดเป็นนิโรธ

เพราะฉะนั้นหากจะพูดถึงมรรคองค์ที่สำคัญต่อการบรรลุธรรมพ้นทุกข์จริงๆ ก็คือ การเกิดปัญญาเกิดสัมมาทิฏฐิ แต่จะเกิดปัญญาได้จนปล่อยวางความยึดมั่นได้ต้องเห็นไตรลักษณ์ จะเห็นไตรลักษณ์ได้ก็ด้วยการเจริญมรรคมาเรื่อยๆ ดังนั้นเจริญมรรคแล้วต้องเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าไม่เห็น ปัญญาไม่เกิดหรอก ยิ่งเจริญ ยิ่งยึดมั่นว่าได้ปฏิบัติธรรม

เพราะฉะนั้นการรู้แจ้งอริยสัจ ในเบื้องต้นก็คือเห็นการเกิดของทุกข์ การดับไปของทุกข์ ต่อไปมันจะเห็นว่ากระทบมาแต่ทุกข์ไม่เกิด (เมื่อการกระทบมีค่าเท่ากับ 0 ผลจึงเท่ากับ 0) ดูเหมือนเหตุยังมี แต่กลับไม่มีผล จะเข้าใจ เกิดปัญญาตรงนี้ได้ว่า การกระทบ (ผัสสะ) ไม่ใช่เหตุของทุกข์ แต่เหตุของทุกข์กลับกลายเป็นอยู่ที่การปรุงแต่ง เมื่อการปรุงแต่งดับ ผล (คือทุกข์) จึงดับ จากนั้นจะดับยาวๆ ว่างๆ สงบยาวๆ จนเห็นว่าไม่มีอะไรน่ายึดถือ แม้นตัวจิตเอง ก็ปล่อยวางลงได้อย่างถาวร

นี่คือการรู้แจ้งอริยสัจอย่างแจ่มแจ้ง เมื่อรู้หมดแล้วว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุ จึงไม่ก่อไม่สร้างเหตุขึ้นมาอีก นิโรธจึงเกิดอย่างถาวร

หากจะพูดกันจริงๆ แล้ว ในส่วนของศีล สมาธิต้องทำมากแค่ไหนไม่ได้มีการบัญญัติไว้ แต่หากใครทำให้เกิดปัญญาตามนี้ได้ ก็เป็นอันว่าหลุดพ้น ทำมามากน้อยแค่ไหนไม่รู้ เกิดปัญญารู้แจ้งอริยสัจก็จบกัน

ทำมากกว่า หลุดพ้นก่อน? ทำมากกว่า เกิดปัญญามากกว่า? ทำน้อยกว่า ดีกว่า? ทำแบบนี้ ดีกว่า? ต้องเคร่งแบบนั้น ดีกว่า? ความจริงคือแค่ไหนก็ต้องพอดี เมื่อพอดีก็เกิดปัญญารู้แจ้งอริยสัจเป็นอันจบ


เขียนเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น