ส่วนการซื้อของให้ผู้อื่น จะเกิดความรู้สึก 2 ด้าน คือ
- เสียดายเงิน ถ้าต้องซื้อก็เอาแค่พอเหมาะๆ ใครเป็นอย่างนี้ก็จะได้การชำระความตระหนี่ถี่เหนียวลงบ้างแล้ว แต่ถ้าซื้อให้ลูกให้แฟนล่ะก้อเต็มที่ พวกนี้ต้องระวังการพอกพูนอวิชชาคือโมหะ เพราะจะมีตัวตนมากขึ้น ดูได้อย่างไร ลองดูสิ ถ้าเห็นเขาชอบสิ่งที่เราซื้อความรู้สึกเป็นอย่างไร ถ้าเขาแสดงอาการไม่ชอบสิ่งนั้นเลยความรู้สึกเป็นอย่างไร ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ซื้อหรือไม่ซื้อ ปัญหาคือซื้อแล้วเสียเงินแล้วโง่ ได้บาปมาด้วยไหม
- ซื้อให้คนอื่น ตั้งแต่ผู้ที่เราเคารพศรัทธาจนถึงคนทั่วไปและสุนัขหมาแมว การซื้อจะเบาจิตเบาใจ มีความสุขโชยๆ ที่ได้ให้ คนประเภทที่ทำบ่อยๆ จะรู้เองว่าจิตใจขณะนั้นรู้สึกเป็นกุศล แต่ถึงแม้ว่าจะมีความตระหนี่ปนอยู่บ้าง นั่นก็ยังคงได้ชำระกิเลสอยู่ดี แต่ในข้อนี้ ก็ยังมีความต่างของบุคคลอีก คือความปราณีตในของที่ให้
ยกตัวอย่าง คนชอบซื้อแบรนด์บ้าง สก็อตบ้างเพื่อมอบให้คนอื่น (ไม่มีใครซื้อกินเองนะ น้อยมากที่จะซื้อกินเอง) ในการซื้อให้ผู้อื่น คนส่วนใหญ่ก็จะให้ดูดีคือเป็นกระเช้า มากเข้าไว้ (นั่นระวังแฝงให้ตัวเราดูดี) แต่ยังไงจะมีตัวตนก็ไม่เกี่ยวนะ จะให้ก็ต้องให้ จะเห็นตัวตนก็ให้ เพราะการให้เป็นสิ่งดี ตัวตนให้ไปชำระไป อย่าโง่ หยุดให้ล่ะ
มีบางคนที่จะมองหาแต่สิ่งที่ดีที่สุดเสมอๆ เช่น ถ้าแบรนด์ก็จะขวดใหญ่ที่สุด ถ้าปลากระป๋องก็ต้องอะยัม ถ้าจะมอบหรือถวายพวงมาลัยต้องใหญ่สวยงามวิจิตร ตรงนี้เป็นความละเอียดปราณีตของผลบุญอันก่อเกิดเป็นอานิสงส์มากขึ้นไปอีก ให้อะไรๆ ก็ต้องดีที่สุดเสมอ เมื่อเกิดแรงสะท้อนกลับก็คือได้อะไรๆ ก็จะได้ดีที่สุดเสมอเช่นกัน ถ้าเอาอะไรก็ได้ กระจอกหน่อยก็ได้ ปลากระป๋องเอาถูกๆ ก็พอ ยิ่งลดราคายิ่งดีได้เยอะดี นั่นก็จะได้แรงสะท้อนเช่นเดียวกันกับความตั้งใจ ชีวิตใครให้อะไรมาก็จะได้แต่ของถูกๆ ไม่เคยได้ของดีเลย ใครให้อะไร ก็มีแต่ของที่เขาไม่ใช้ ของลดราคาบ้าง ของมือสองบ้าง (ถ้าเป็นผู้ไม่ยึดก็ไม่มีปัญหาอะไรนะ เพราะท่านนั้นได้มา ถ้าต้องใช้ก็ใช้ ถ้าไม่ใช้ก็ให้ผู้อื่นต่อไปอีก)
สรุปความเอาคร่าวๆ ก็คือ ซื้อให้ตัวเองไม่ได้บุญ ซื้อให้คนอื่นได้บุญ ดังนั้นซื้อให้ตัวเองซื้อเท่าที่ใช้ ซื้อเท่าที่จำเป็นก็พอ ส่วนซื้อให้ผู้อื่นนั้น หากประกอบด้วยปัญญามีแต่ได้กับได้ แต่ไม่ได้ทำเพราะอยากได้บุญ
กินข้าวเสร็จ ซื้อขนมติดมือไปให้คนที่เราไม่รู้จักบ้าง คนที่เขาขาดแคลนบ้าง สุนัขอดอยากบ้าง ทำทุกวันจะได้ไม่ต้องนั่งตกนรกกับงานที่ขนาดเงินเดือนก็ได้รับ แต่กลับหาความสุขใจไม่ได้เลยในแต่ละวัน ไม่มีบุญกุศลอะไรติดไม้ติดมือไปเลย เมื่อถึงตอนจบของชีวิต สั่งสมไปอย่างเดียวคือนรก คุ้มแล้วหรือที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่กว่าจะได้เป็นแสนยากเย็น
หากเป็นอย่างนั้น ถ้าท่านมีเพื่อนที่มีศีลมีธรรมเป็นผู้ให้ ใฝ่ปฏิบัติ บอกลาเขาได้เลย นี่อาจจะเป็นชาติสุดท้ายที่จะได้เจอกัน เพราะคนหนึ่งจะถูกพัดไปตามผลแห่งอกุศลวิบาก อีกคนเดินหน้าสู่มรรคผล ซึ่งถึงแน่ ไม่นานเกินรอ (เพราะไม่เคยรอ และไม่ได้หวัง แต่เป้าหมายมี)
บุญเกิด เมื่อให้ หรือเกิดเมื่อเสร็จ
ทำบุญใส่บาตร ได้บุญตอนไหน?
ตอนคิดจะให้ เริ่มไปซื้อของ ตื่นเช้ามาจัดเตรียม ยืนรอ พระมาจึงนิมนต์ เอาของที่เตรียมมาใส่บาตร ทุกขั้นตอนเป็นบุญทั้งหมด ทำไมหรือ? หรือคิดว่าพระต้องฉันสเราถึงได้บุญ ถ้าท่านเอาของเราไปขาย เราไม่ได้บุญ แถมเป็นการส่งเสริมการกระทำที่ผิด เราบาป ถ้าคิดอย่างนี้ จะบาปจริงล่ะ เพราะคิดด้วยอำนาจอวิชชาคือความไม่รู้ อยู่ๆ ก็สร้างผู้ทุกข์ขึ้นมาเสียอย่างนั้น ของเป็นบุญคิดจนบาปนี่ล่ะคน ทีของบาปจะคิดเป็นบุญ แบบนี้ยิ่งคิดยิ่งบาปเพราะมิจฉาทิฏฐิ
อย่าหลงให้มาก บุญคืออะไร? คือการชำระกิเลส เมื่ออาหารใส่ลงไปในบาตรส ก็เป็นอันจบหน้าที่แล้ว บุญได้แล้ว ได้มาตลอดแล้ว หากมารู้ว่าท่านเอาทานที่ได้ไปทำสิ่งไม่สมควร เราก็เลือกทำกับพระสุปฏิปันโนสิ การกระทำก็จะประกอบด้วยปัญญาเพิ่มขึ้นไปอีก นี่ก็สามารถนำไปเทียบเคียงกับการให้ในส่วนอื่นๆ ได้ เช่น ให้คนยากไร้ ให้ผู้ด้อยโอกาส ช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก จบที่การให้ไม่ยึด ปล่อยวางความดี แต่ไม่หยุดทำความดี ทำเพื่อผู้อื่น
การทำบุญสร้างเสนาสนะก็เช่นกัน ตอนท่านพุทธทาสยังมีชีวิต คนถามท่านว่า มหรสพทางวิญญาณที่ท่านสร้างอยู่จะเสร็จเมื่อไหร่ (ตอนนั้นยังไม่มีหลังคาเลย) ท่านบอกว่า “เสร็จแล้ว” คนงง…ที่ท่านสร้างอยู่นั่นเสร็จแล้ว เสร็จไปทุกวัน จบไปทุกขณะ ไม่ได้ยึดอะไร
เช่นกันผู้ให้ได้ให้แล้ว ผู้สร้างได้สร้างแล้ว สร้างเสร็จไปทุกวัน ต่อให้คนสร้างตายก่อน เขาก็ทำเสร็จแล้ว ต่อให้สร้างแล้วไม่เสร็จเพราะเหตุปัจจัยใดๆ หรือจะมีภัยพิบัติเกิดขึ้น ผู้สร้างก็ได้ทำจนสุดความสามารถแล้ว หากยังมีโอกาสทำก็ทำต่อไป ไม่มีโอกาสทำก็วางลง จะทุกข์กับอะไร ผู้ให้ได้บุญแล้ว (ได้ชำระตั้งแต่วันที่ให้แล้ว) ผู้ทำก็ได้ทำแล้วอย่างเต็มที่ (บุญที่ได้แล้วเช่นกัน) สามารถทำให้เสร็จได้ก็เสร็จ ไม่สามารถทำให้เสร็จได้ก็เสร็จ (แล้ว)
หากรู้จักวาง มีสัมมาทิฏฐิ มีมุมมองต่อชีวิตที่ถูกต้อง จะไปทุกข์ได้อย่างไร ชีวิตมีแต่ความสงบเย็น สำคัญที่สุดคือ สัมมาทิฏฐินั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น