ผู้พิพากษาตัดสินประหารหรือจองจำนักโทษ บาปไหม?
ครูตีนักเรียนเพราะขโมยเงินเพื่อน บาปไหม?
ผู้จัดการฝ่ายบุคคลไล่พนักงานที่โกงเงินบริษัทออก บาปไหม?
ดูตามนี้เผินๆ ก็ไม่น่าจะบาปอะไร เพราะแต่ละคนก็ทำตามหน้าที่ ซึ่งหลายคนที่เข้าใจเรื่องของกฏแห่งกรรมและวัฏฏะ 3 เรื่องเจตนาเป็นตัวกรรมและกิเลสเป็นตัวชักนำให้เกิดการกระทำกรรม ต้องรับวิบาก ก็จะเข้าใจได้ว่าไม่ผิด
ในความจริงที่เข้าใจได้ง่ายๆ กว่านั้นก็คือ เรามักไปมองการกระทำของฝ่ายพระราชา ผู้พิพากษา ครูสผู้จัดการฝ่ายบุคคล แต่ฝ่ายเดียว เราไม่ได้มองฝ่ายผู้กระทำผิด นี่จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไป แล้วโยนความผิดไปทางฝ่ายผู้ตัดสิน
พระราชาจะตัดหัวใครไหม ถ้าไม่ทำผิด?
ผู้พิพากษาจะตัดสินใครไหม ถ้าคนนั้นไม่ทำผิด?
ครูจะตีไหม ถ้านักเรียนไม่ทำผิด?
ผู้จัดการฝ่ายบุคคลจะไล่ใครออกไหม ถ้าเขาไม่ทำผิด?
นี่ล่ะคำตอบที่ถูกต้อง…การถูกลงโทษของใครๆ นั้น เกิดขึ้น เพราะเขาทำมันเอง
คนทั้งหมดที่ช่วยให้กฎเป็นกฎตามที่สังคมตกลงกันไว้เพื่อให้เกิดความสันติสุขนั้น เป็นการกระทำเพื่อความผาสุกของสังคมหมู่กลุ่ม ดังนั้นหากผู้คุ้มกฎทำหน้าที่ได้อย่างตรงไปตรงมา สังคมนั้นๆ จะสงบเย็น บุคคลเหล่านี้นอกจากจะไม่ผิดแล้ว กลับจะเป็นที่สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูอีกด้วย
หากเขาทำหน้าที่ลำเอียงหรือใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปในทางให้คุณให้โทษ เพราะมีอคติต่อผู้ใด นั่นถือเป็นกรรมอย่างแน่นอน เพราะมีความโลภอยากให้พวกพ้องได้ประโยชน์หรือทำร้ายฝ่ายอื่นให้เสียประโยชน์ หรือหากมีโทสะประกอบ เช่น โกรธคนนั้นคนนี้แล้วใช้ความได้เปรียบในตำแหน่งหน้าที่ ให้โทษคนที่เราเกลียด นั่นเป็นกรรมซึ่งต้องรับผลเป็นวิบากอย่างแน่นอน
ดังนั้น อีกคำหนึ่งที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอสำหรับนักปฏิบัติคือคำว่า “ปล่อยวาง” หากมีผู้กระทำผิดแล้วผู้คุ้มกฎปล่อยปละละเลยแล้วมาอ้างคำว่า “ปล่อยวาง” ผู้คุ้มกฎนั่นล่ะที่กระทำด้วยโมหะ นั่นจะส่งผลต่อสังคม องค์กรต่อไปในอนาคต เป็นกรรมเพราะมีความหลงในการตัดสินใจ ยกเว้นกระทำด้วยความเมตตากรุณา นั่นยังประกอบด้วยสติ อาจเรียกมาชี้แจงความผิด ให้โอกาสปรับปรุง ลดหย่อนอย่างมีหลักเกณฑ์ ไม่ใช้อารมณ์ อย่างนี้ต่างหากที่สมควรเชิดชู
ผู้คุ้มกฎ ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรม แล้วทุกคนจะอยู่เป็นสุข
ดูดีๆ นะว่าเราทุกคนเป็นผู้คุ้มกฎในชีวิตเกือบตลอดเวลา
เขียนเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น