เห็นถูก รู้แจ้ง 1

“เมื่อสัมมาทิฏฐิมีเพียงพอ จะเกิดสัมมาญาณและสัมมาวิมุตติ”


หากสังสารวัฏนี้…เปรียบดั่งกรงขังสัตว์ สัตว์ทั้งหลายกลับเฉยชาที่จะแสวงหาหนทางออกจากกรง ยอมจำนนอยู่ในกรง แถมสุดปลื้มกับกรงขังนี้แล้วไซร้ นั่นจะเป็นเรื่องยากลำบากเป็นที่สุดสำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่จะบอกว่า “ที่พวกเธอกำลังหลงอยู่นั้นน่ะทุกข์ทรมานมากนะ เรามีทางออกให้พวกเธอ”

“แต่สัตว์ที่ถูกขังอยู่ในกรงทั้งหมดกลับหัวเราะอย่างเย้ยหยันด้วยความโง่เขลาว่า "ใครว่าฉันทุกข์ ฉันสุขจะตายยยยยยยอยู่แล้ว”






บทความภายในเล่ม:

เกริ่นนำ | กาลามสูตร | หยิบอันไหน | อยากปฏิบัติธรรมให้ได้ผล เอาแบบง่ายๆ | จับอะไรดี | คนตาบอดเถียงคนตาดี | สีลพตรปรามาส | โลกไม่ได้หมุนรอบดวงอาทิตย์ | มุมมอง: โลกไม่ได้หมุนรอบดวงอาทิตย์ | นั่งสมาธิไม่ได้…มันฟุ้ง | ลอกขนมชั้น | อยู่กับปัจจุบันไปก่อน | การวัดความก้าวหน้าในการปฏิบัติ | เหตุที่ใจไม่สงบ | ความเป็น BMW ไม่ได้อยู่ที่ล้อหรือไฟหน้า | ต้องเห็นเกิดดับแบบไหน ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ | คนเราฟังธรรมเฉพาะที่เราชอบ | เดินจงกรม-นั่งสมาธิไม่สงบเลย | นั่นไม่ใช่ของเรา | ขั้นตอนการพ้นทุกข์ตามวิถีมรรค | จะได้รู้ว่าอยู่ที่ไหน | รู้แล้วดับ รู้แล้วไม่ดับ แล้วไม่รู้ดับไหม | พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร | ปกหลังหนังสือ “กลัวเกิด…ไม่กลัวตาย” | นรก สวรรค์ นิพพาน | มรรคมีองค์ 8 | ไก่กับไข่ | สั่งสมความเห็นผิด | ยาจกดีใจ เศรษฐีเศร้าใจ | สมัยพุทธกาลไม่มีการเปิดคอร์ส | ความสุขของคนติดเฮโรอีน | รู้ทำไม…รู้เพื่อไม่หลง แต่ต้องฝึกให้เขาละ…เพื่อหลุดพ้น | ธรรมอันเป็นเครื่องขูดเกลา (สัลเลขะธรรม) | ทักทาย | ธรรมะอันเป็นฝักฝ่ายแห่งทุกข์ ที่มีกามตัณหาเป็นมูล 9 อย่าง | เราไม่เคยฟังใคร | บทส่งท้าย


บทส่งท้าย

หนังสือเล่มนี้เขียนไว้เป็นข้อคิดมุมมองให้ผู้ที่กำลังเดินทางสู่หนทางพ้นทุกข์ ได้ทำความเข้าใจและเป็นประโยชน์บ้างในการทำความเข้าใจเรื่องยากๆ ที่เป็นนามธรรมให้เป็นเรื่องเข้าใจได้ ผ่านเนื้อเรื่องที่พวกเราพบเจอกันอยู่ในทุกๆ วัน

แน่นอนธรรมะไม่ได้อยู่ในหนังสือ ไม่ได้อยู่ที่วัด แต่อยู่ในชีวิตเราจะพบความจริงๆ ที่ลึกล้ำผ่านเรื่องราวที่แสนธรรมดา เหมือนกับเรารู้กันว่าเราทุกคนมีลมหายใจ ไปไหนมาไหนกับลม หายใจกันตลอดเวลา แต่เรากลับไม่เคยรู้ความจริงที่แสนธรรมดาว่าลมหายใจนั้นไม่ใช่ของเรา เราแสวงหาศึกษาเข้าใจทุกอย่างในโลก ในจักรวาล แต่เราไม่เคยรู้ความจริงเลย ทั้งๆ ที่ทุกอย่างอยู่กันตรงนี้

นั่นเพราะเราโฟกัสไปผิดที่ เหมือนกล้องถ่ายรูปถ่ายภาพๆ หนึ่งแล้วโฟกัสไปที่หน้าคน รูปอื่นๆ เช่นต้นไม้ ดอกไม้อาจไม่ได้รับความสนใจทั้งๆ ที่มีอยู่ เมื่อเราสามารถปรับโฟกัสไปที่เรื่องที่ถูกนั่นจะทำให้เราได้เห็นความจริงแท้ได้ในที่สุด วันนั้นเราจะพบกับสิ่งอัศจรรย์ที่อาจปนกับความฉงนว่า “อะไรกัน อยู่ด้วยกันแท้ๆ หามาตั้งนาน ใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถ แต่บทจะเห็นก็เห็นซะอย่างนั้น”

ดังนั้นจะว่าไม่พยายามก็ไม่ใช่เพราะความเพียรอันถูกต้องนั้นเพื่อดัดนิสัยไม่ดีที่สั่งสมมาจากกิเลสให้ออกไป นั่นต้องพยายามกันหน่อย พูดถึงความพยายามแล้วทำให้นึกถึงบทความหนึ่งที่ลูกสาวเคยส่งมาให้สมัยเขาไปได้ทุนเรียนที่ญี่ปุ่น เขาได้แต่งบทความนี้และกล่าวสุนทรพจน์ให้กับโปรเฟสเซอร์ชาวญี่ปุ่นและเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยที่เขาไปเรียนอยู่ฟัง ซึ่งสามารถเห็นมุมมองธรรมะได้ดีทีเดียว


ฉบับถอดความเป็นภาษาไทย
“อากาศกับความไม่เที่ยง”
หากมีคนญี่ปุ่นมาพูดกับคุณว่า “วันนี้อากาศดีนะคะ” ขอให้ทราบว่านี่เป็นคำทักทายปรกติธรรมดาคำหนึ่งของเขา แม้แต่ประเทศทางฝั่งตะวันตกก็ไม่ได้พูดกันบ่อยเท่ากับคนญี่ปุ่น เพราะเหตุใดกัน? จากการสังเกตของฉันตั้งแต่มาอยู่ที่ประเทศนี้นั้น จะว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศก็คงจะได้ ด้วยความที่เป็นประเทศที่มีฤดูกาลครบสี่ฤดูกาล และอากาศก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ทำให้คนญี่ปุ่นที่ผูกพันกับธรรมชาติอยู่แล้วรู้สึกถึง “ความไม่เที่ยง” ที่มาและไปกับสภาพอากาศได้อย่างลึกซึ้ง
ช่วงนี้เวลาที่คุณเดินตามถนนคุณสังเกตบ้างหรือเปล่า คุณหยุดก้าวเดินเพื่อจะชื่นชมใบไม้สีแดงงดงามที่มีให้ชมเฉพาะฤดูใบไม้ร่วงนี้บ้างหรือเปล่า ใบอ่อนสีเขียวที่ค่อยๆ เปลี่ยนสี เป็นสีเหลือง สีส้ม สีแดง สีน้ำตาล ในที่สุดก็ปลิดปลิวร่วงหล่น เพื่อรอรับการมาเยือนของฤดูหนาว ความงดงามนี้ ไม่ใช่ว่าจะไปหาดูเมื่อไรตอนไหนที่ว่างก็ได้ ไม่ใช่สิ่งที่จะผลัดวันออกไปก่อนได้ หากไม่รีบไปชมเสียบัดนี้ มิแคล้วต้องรอไปอีกหนึ่งปีกระมัง
ในฤดูใบไม้ผลิก็เช่นกัน ดอกซากุระที่เป็นตัวแทนของ “ความไม่ยั่งยืน” นั้น ปีหนึ่งๆ จะผลิบานเต็มที่เพียงแค่สองอาทิตย์เท่านั้น ส่วนตัวแล้วฉันคิดว่าซากุระทำให้รู้สึกถึงความไม่เที่ยงได้ยิ่งกว่าใบไม้แดงเสียอีก
นอกจากนี้ ฉันยังคิดว่า “ความไม่เที่ยง” นี้มีอะไรเกี่ยวข้องกับคำว่า “พยายามเข้า” อีกด้วย คำว่า “พยายามเข้านะ” หรือไม่ก็ “จะพยายามค่ะ” ที่ใช้กันจนเกร่อในบทสนทนาทั่วไปนั้น แท้จริงแล้วคงจะหมายถึง “วันนี้จะต้องพยายามให้ดีที่สุดจนถึงนาทีสุดท้ายจะได้ไม่ต้องเสียใจทีหลัง เพราะโลกนี้เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทุกๆ วัน” ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องรอหรือผลัดออกไปก่อนเลย ถ้าตอนนี้ยังพอทำได้ ก็ต้องลงมือทำมันเสียตอนนี้ล่ะ
จริงๆ แล้ว จิตสำนึกแบบนี้นั้นต่างจากคนไทยโดยสิ้นเชิง ถ้าถามว่าต่างอย่างไรละก็ ลองมาพิจารณาสภาพอากาศของประเทศไทยดูบ้าง
ประเทศไทยนั้นประกอบด้วยสองฤดูหลักๆ คือฤดูแล้งและฤดูฝน อุณหภูมิก็แทบจะไม่กระดิกเลยตลอดปี แทบไม่จำเป็นต้องหาเสื้อผ้าตามฤดูกาลมาใส่เลยแม้แต่น้อย ด้วยเหตุนี้ เวลาที่คนไทยมองธรรมชาติโดยรอบ ก็จะรู้สึกว่าทิวทัศน์ที่มองเห็นอยู่นั้นไม่เคยเปลี่ยน ไม่ว่าจะเดือนกุมภาพันธ์หรือเดือนกรกฎาคม ก็อยู่ได้สบายๆ ด้วยเสื้อแขนสั้น เพราะฉะนั้นคนไทยจะรู้สึกว่า “ทุกๆ วันก็เหมือนกันหมด” ถ้าวันนั้นเกิดเหนื่อยเสียแล้วก็ไม่ต้องรีบร้อน พักเอาไว้อย่างนี้ก่อน พรุ่งนี้จะพยายามต่อก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ไม่ว่าจะวันนี้หรือวันไหนก็เหมือนกันหมดอยู่ดี เก็บไว้ค่อยๆ ทำตอนอารมณ์ดีๆ ไม่ดีกว่าหรือ
ยิ่งไปกว่านั้นคนไทยจะรู้สึกว่าอากาศร้อนอยู่ตลอดเวลา ก็เลยเกิดคำว่า “สบาย สบาย” ขึ้น อากาศมันร้อนจะเร่งไปทำไม “สบาย สบาย” “ไม่เป็นไร” อะไรประมาณนี้ล่ะ ที่กลายมาเป็นภาพลักษณ์ของคนไทย
เวลามองจากมุมคนไทย คนญี่ปุ่นจะกลายเป็นพวกเครียดเกินไป ทำไมต้องพยายามอะไรมากมายตลอดเวลาขนาดนั้น ในทางกลับกันหากมองจากมุมคนญี่ปุ่น เห็นทีคนไทยคงจะดูเป็นพวกเนือยเกิน อะไรอะไรก็ดูจะไม่ค่อยมีแรงทำเอาเสียเลย ความแตกต่างทางวัฒนธรรมอย่างนี้หากขบคิดดูก็น่าสนใจดีไม่น้อยนะ เอาล่ะ วันนี้ฉันก็ต้อง “พยายาม” กับเขาบ้างเสียแล้ว!

คนญี่ปุ่นเฝ้ารอเพื่อจะได้พบดอกไม้อันสวยสดในแต่ละปี เมื่อมันร่วงไป ใจก็เฝ้ารอปีต่อไป เพื่อเห็นดอกซากุระบานโดยไม่เห็นอนิจจัง เพราะใจพุ่งไปข้างหน้าเพื่อรอวันนั้นมาถึง นี่จึงกลายเป็นเครื่องปิดบังความจริง

ส่วนคนไทยกลับอยู่กับความเคยชินจนหมดความทะเยอทะยาน จึงไม่เห็นประโยชน์ใดๆ ที่จะต้องดิ้นรน เสมือนเห็นทุกอย่างเป็นธรรมดา จนหมดพลังแห่งการดิ้นให้หลุดจากความหลอกลวง

ต้องขอขอบใจในความช่วยเหลือจาก บ.ก. ที่นามสกุลคุ้นตาผู้อ่านเพราะเธอคือลูกสาวของผมเอง (หมิว) ได้นำวิชาความรู้ที่เรียนมาจาก ฬ (ตัวเดียวสื่อความหมายครบถ้วน, อักษร-จุฬา) มาใช้ช่วยงานทางธรรม ในการเผยแผ่ออกไปผ่านสิ่งที่เขาถนัด ต้องขอบใจและอนุโมทนาไว้ ณ ที่นี้ รวมถึงบทความที่น่ารักสื่อความหมายที่ลึกซึ้งผ่านเรื่องเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ ทั้งเวอร์ชั่นภาษาไทยและภาษาญี่ปุ่น

หนังสือในชุดนี้มีทั้งหมด 3 เล่มๆ นี้เป็นฉบับที่หนึ่งซึ่งอีกสองเล่มจะทยอยออกตามกันมา

หากสังสารวัฏนี้เปรียบดั่งกรงขังสัตว์ สัตว์ทั้งหลายกลับเฉยชาที่จะแสวงหาหนทางออกจากกรง ยอมจำนนอยู่ในกรง แถมสุดปลื้มกับกรงขังนี้แล้วไซร้ นั่นจะเป็นเรื่องยากเรื่องลำบากเป็นที่สุดสำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่จะบอกว่า “ที่กำลังหลงอยู่นั้นนั่นน่ะทุกข์ทรมานมากนะ เรามีทางออกให้พวกเธอ” แต่สัตว์ที่ถูกขังอยู่ในกรงทั้งหมดกับหัวเราะอย่างเย้ยหยัยด้วยความโง่เขลาว่า “ใครว่าฉันทุกข์ ฉันสุกจะตายยยยยยยอยู่แล้ว”


เกริ่นนำ

ขอให้ท่านสูดลมหายใจช้าๆ ลึกๆ สักหนึ่งครั้ง

ขออนุโมทนากับความมีสติของท่าน เพื่อนแท้ที่จะอยู่เคียงท่านเสมอไม่ว่ายามไหน

เราทุกคนที่ปฏิบัติธรรม เหตุผล ณ จุดเริ่มต้นอาจมีต่างกันไปร้อยแปด แต่ความมุ่งหมาย ณ เส้นชัยมิมีอื่น นอกจากการพ้นทุกข์ แน่นอนว่าการที่จะไปให้ถึงจุดนั้นย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เราเกิดในทุกข์ โตในทุกข์ ใช้ชีวิตอยู่ในทุกข์…ทุกวัน อยู่ๆ จะให้ยกเลิกสิ่งที่เราเคยทำมาทุกอย่าง คงเป็นไปไม่ได้สำหรับคนส่วนใหญ่ แค่คิดก็ดูจะไม่ไหวแล้ว

แต่เราเลือกได้ ก่อนที่เวลาอันจำกัดนี้จะหมดลง เราเลือกได้ว่าเราจะปล่อยให้ตัวเองตายในความทุกข์ หรือเลือกเส้นทางใหม่ให้ตัวเองนับตั้งแต่วินาทีนี้ เส้นทางใหม่นี้ ถึงมันจะรก จะไม่ราบเรียบ และไม่ราบรื่นเพราะแทบไม่มีใครเขาใช้กัน แต่ขอให้ท่านระลึกไว้เถิดว่า ถึงแม้ท่านจะต้องเดินในเส้นทางนี้เพียงคนเดียว แต่เส้นทางของท่านยังขนานกับกัลยาณมิตรอีกหลายๆ คน ที่พร้อมจะเป็นกำลังใจ สนับสนุน และให้คำแนะนำยามที่ท่านสับสน

หนังสือเล่มนี้ เกิดจากการเขียนบทความลงเว็บไซต์ของสวนยินดีธรรมของ อ.ประเสริฐ อุทัยเฉลิม ซึ่งเขียนมาอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 และก็คงเขียนต่อไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นประโยชน์แก่สังคมและผู้ที่ใฝ่ธรรมทุกท่าน เนื้อหาของบทความก็มีหลากหลาย ทั้งธรรมะที่สามารถนำมาเป็นข้อคิดในการดำเนินชีวิตประจำวัน การถอดความจากคำของพระพุทธเจ้า และหมวดธรรมที่มีประโยชน์ต่อการปฏิบัติธรรม ซึ่งเล่มแรกเล่มนี้เป็นการรวบรวมหมวดธรรมต่างๆ ที่จะช่วยให้การปฏิบัติธรรมกระจ่างแจ้งด้วยการชี้แจงแถลงไข อธิบายสภาวธรรมหรือข้อข้องใจให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

“อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” เขาว่ากันว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แต่หากตนจะมองหาป้ายบอกทางเพื่อจะไปต่อบ้าง ก็คงจะไม่มีใครว่าอะไร

รัญชิดา อุทัยเฉลิม 
บรรณาธิการ


ต้องเห็นเกิดดับแบบไหน ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้

ในชีวิตประจำวัน: คิดปรุงแต่ง > รู้ลม > อุเบกขา ทำให้ได้
บ่อยๆ เนืองๆ มาก-มากที่สุด

ในการนั่งสมาธิ: รู้ลม > เผลอคิด > รู้ลม > อุเบกขา > แว้บไปคิด > กลับมารู้ลม > อุเบกขาสทำอยู่อย่างนี้ไปเรื่อย

จนวันหนึ่ง…ตั้งมั่นขึ้น สงบขึ้น จะเห็นอย่างนี้นะ (จะทำเป็นรูปธรรมให้ดูแล้วกัน)
  1. เอาแก้วมา 4 ใบกับถุงกระดาษสีน้ำตาลแบบถุงแม็คโดนัลด์มา 1 ใบ (เพราะถ้าบอกเอาถุงใส่กล้วยแขกเด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จัก) เอาแก้ววางคว่ำแล้วเขียนชื่อที่แก้วแต่ละใบว่า “รูป (กาย)” “เวทนา (พอใจ ไม่พอใจ เฉยๆ)” “สัญญา (จำได้หมายรู้)” “สังขาร (คิด ปรุงแต่ง)” ส่วนถุงนั้นเขียนคำว่า “วิญญาณ (รู้อารมณ์)”
  2. เขียนชื่อที่ฝ่ามือขวาว่า “จิต” จากนั้นใส่ถุงมือสีขาวข้างขวานั้น ที่ถุงมือเขียนว่า “ใจ”
  3. เอาถุงกระดาษสีน้ำตาลที่เขียนว่า “วิญญาณ” ครอบมือขวาที่ใส่ถุงมือนั้น ดังนั้นมือขวาตอนนี้จึงมี จิต ใจ และวิญญาณ อยู่ด้วยกันล่ะนะ
เอาล่ะ ถึงเวลาดูการทำงานของขันธ์และจิตกัน

ตอนนี้ให้ทุกคนรู้ลมหายใจไว้ รู้จริงๆ เลย
  1. เอามือขวาไปจับแก้วที่เขียนว่า “รูป” จิตตั้งอยู่ที่ลมใช่ไหม หรือจะบอกว่าจิตตั้งอยู่ที่กายก็ได้ (กายคตาสติ) ลมหายใจเขาเรียกกายลม หรือจะบอกว่าขณะนี้ วิญญาณตั้งอาศัยอยู่ที่รูป ก็ได้ เอาง่ายๆ อย่างนี้ก่อน รู้ลมไปเรื่อยๆ ดูมือขวาที่จับแก้ว (รูป) ไว้
สักพักสเผลอไปคิด
  1. เอามือขวาปล่อยจากแก้ว (รูป) ไปจับแก้วสังขาร (ความคิดปรุงแต่ง) แทน
เวลาคิดจะเกิดเป็นความรู้สึกขึ้นมาเป็น สุข ทุกข์ อุเบกขา
  1. จากนั้นให้ปล่อยแก้วสังขาร ไปจับ แก้วเวทนา
สักพักแว้บไปเห็นหน้าคนที่เราไม่ชอบ
  1. ปล่อยแก้วเวทนาไปจับ แก้วสัญญา
จากนั้นเกิดความไม่พอใจคือทุกข์
  1. ปล่อยแก้วสัญญา ไปจับแก้วเวทนา
สติระลึกขึ้นมา กลับมารู้ลม
  1. ปล่อยแก้วเวทนาสมาจับที่แก้วรูปแทน

สรุป

  1. จิต มโน (ใจ) วิญญาณ คือคำที่ใช้แทนกันสตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ไปไหนไปด้วยกัน แต่วันหนึ่งจะพบความจริงเมื่อสามตัวนี้แยกกันค่อยว่ากันใหม่ วันนี้เน้นให้เห็นการเกิดดับตามจริงก่อน มือขวาจะจับขันธ์อื่นๆ อีก 4 ขันธ์ไปเรื่อยๆ เห็นไหม
  2. เมื่อวิญญาณตั้งอยู่ที่รูป หรือ กาย หรือลมหายใจนั้น เขาเรียก กายคตาสติ จะเกิดเป็นอุเบกขา หรืออุเบกขาสุข
  3. เมื่อวิญญาณตั้งอยู่ในฐานของนามธรรมคือขันธ์ที่เป็น เวทนา สัญญา สังขาร จะเกิดเป็น 3 อารมณ์คือ สุข ทุกข์ อุเบกขา ใช่ไหม? นี่คือเหตุว่าทำไมจึงให้จิตหรือวิญญาณมาตั้งไว้ที่รูป เพราะเกิดเป็นอุเบกขานั่นเอง แล้วก็อาศัยอุเบกขานี่ล่ะเดินทางต่อไปสุญญตา เพราะอุเบกขายังเกิดดับอยู่
  4. เอาละเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ เราจะดูกันที่ความคิด (สังขาร) ตัวเดียว ถ้ารู้ลม คิดไม่ได้ ถ้าคิดก็ไม่รู้ลม กลับมาดูตัวอย่าง มือขวาจับแก้วรูป > ปล่อยแก้วรูป > จับแก้วสังขาร ทำกลับไปกลับมา แล้วจำภาพนี้ไว้
วิญญาณรู้ได้ทีละหนึ่งเดียวใช่ไหม?

ปัญญาเห็นถูกคือ
  • สมถกรรมฐานใช้การเพ่ง การบริกรรมเข้าไปแทนที่สัญญาและสังขาร โดยจะได้ผลเป็นหวยล็อคคือ อุเบกขา ความสุขจากอุเบกขาสุขจะเกิด ไม่ใช่สุกแบบร้อนๆ จากการตอบสนองตัณหา
  • เมื่อทำให้มากจนจิตตั้งมั่น จะเห็นการเกิดปรากฏเมื่อวิญญาณไปตั้งอยู่ที่รูป รูปปรากฏ เมื่อวิญญาณไปเกาะที่สังขาร คิดปรากฏ แต่ก่อนไปเกาะสังขารต้องดับไปจากรูปก่อน แล้วจึงไปเกิดที่คิด พอสติระลึกก็กลับมารู้ลม นั่นวิญญาณดับลงจากสังขารมาเกิดที่รูป
  • ในเบื้องนี้จิตจะเห็นขันธ์ 4 ขันธ์เกิดดับ ซึ่งก็เพียงพอที่จะเป็นพระโสดาบันได้ แต่เมื่อมีการละอารมณ์ไม่เฝ้าดูนามขันธ์ทั้งหลาย จะเห็นวิญญาณดับไปเช่นกันแล้วจึงเกิดใหม่ จึงได้เห็นว่าวิญญาณเองก็เกิดดับเช่นกัน ทีนี้เมื่อวิญญาณดับก็จะเริ่มว่างแล้ว
  • ขันธ์ 5 เกิดๆ ดับๆ ตัวเราไม่มี จิตโง่ไปยึดขันธ์เป็นเรา พอเกิดอารมณ์จิตก็ซึมซับอารมณ์นั้นเข้ามาเป็นไปกับเขาด้วย (ฝ่ามือมันติดกับถุงมือ พอจิตตั้งมั่น ฝ่ามือจะไม่ติดกับถุงมือ) ไม่ใช่เรื่องของตัวเองก็ไปสร้างตัวเองมารับ จิตไปยึดถือทุกขันธ์ที่ไปสัมผัส มันจึงเป็นเราหมดเลย ไม่ทุกข์ยังไงไหว
  • พระพุทธเจ้าตรัสว่า อริยสาวกผู้เห็นอย่างนี้ ย่อมละความเห็นผิด ย่อมเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด ไม่มีอะไรนอกจากของเกิดดับ
เห็นตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้เป็นพระโสดาบันแล้ว และพระองค์ยังบอกต่อไปอีกว่า อริยสาวกผู้เห็นอย่างนี้ไม่ต้องไปเห็นอย่างอื่นเลยในที่สุดจะถึงความเป็นพระอรหันต์ เอาไว้เท่านี้ก่อนเดี๋ยวจะยิ่งยาก แค่นี้ง่ายแล้ว เข้าใจได้แล้ว

สิ่งเกิดดับเป็นทุกข์ สิ่งเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ใครไปยึดก็ทุกข์นะสิ ฝึกรู้ลมให้มากจะได้สมถะ เกิดความสุขเข้ามาแทนที่ทุกข์ เมื่อสุขสงบก็ตั้งมั่นไปเห็นการเกิดดับอย่างนี้ ศีลก็รักษาให้บริสุทธิไว้ ละอกุศลที่เกิดขึ้นในใจให้ไวๆ แล้วรู้ลมอย่างที่บอก จากลมหายใจกู จะกลายเป็นสักแต่ลมหายใจ จากกูรู้ลมกลายเป็นสภาพรู้ไม่มีผู้รู้ ทำไปอย่างนี้ ชาตินี้มีความหวังแล้ว

จิตคนทั่วไปไม่มีกำลัง ไม่ชุ่มเย็น เพราะไม่ค่อยทำกุศลให้ผู้อื่นเป็นสุข ทำกุศลข้างนอกมากๆ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน จะเกิดธรรมารมณ์มากระทบให้ใจเป็นสุขเป็นกุศล คนแบบนี้จะเดินกรรมฐานได้ดีมาก ขอให้ได้พบสิ่งที่ปรารถนา (ด้วยความเพียร)


เขียนเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554


ทักทาย

สวัสดีเพื่อนผู้ร่วมเดินทาง (ออก) ทั้งหลาย ไม่ค่อยจะมีโอกาสทักทายกัน ส่วนใหญ่ก็เจอหน้ากันตามหลักสูตรต่างๆ หรือแม้แต่การบรรยายตามสถานที่ต่างๆ ที่ไปเป็นกำลังใจให้กันและกัน บางคนก็ไปตามสถานที่ต่างๆ แทบจะไม่ขาด ขอบอกเลยว่าเป็นกำลังใจได้มากทีเดียว ปีติก็ยังคงหล่อเลี้ยงบ้างให้มีความชุ่มเย็น จนกว่าวันหนึ่งจะมีสรณะอย่างสมบูรณ์

วันนี้เราก็ปฏิบัติกันเป็นแล้ว เก่งแล้ว มีผลเป็นเครื่องยืนยันการปฏิบัติกันระดับหนึ่งแล้วคือ ทุกข์ต้องลดลง เห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่นมากขึ้น ทำดีกับผู้อื่นแบบไม่หวังสิ่งตอบแทนจริงๆ เลิกใช้คำว่าอุตส่าห์ ไม่ปล่อยให้คร่ำครวญในเรื่องตัวเองดี ตัวเองตกต่ำต่ำต้อย ตัวเองเสมอผู้อื่น ละได้ไว รู้ว่าจบไปจบไป ไม่ปล่อยให้อารมณ์ค้าง (วิญญาณตั้งอาศัย)

อุบายเครื่องอยู่เพื่อจะละอกุศลและมาเจริญกุศลของเราก็คือลมหายใจ ทำไมเราใช้ลมหายใจ เพราะ หนึ่ง พระพุทธเจ้าสอน สิ่งที่พระองค์ทรงแนะนำต้องมีประโยชน์แน่ๆ และท่านใช้เป็นตถาคตวิหารและทรงสอนสาวกอย่างพระอรหันต์ทั้งหลาย ว่าให้อยู่กับลมหายใจแล้วกายจะไม่ลำบาก ตาก็ไม่ลำบาก ฯลฯ สอง ลมหายใจมีอยู่แล้วตลอดเวลา สาม เมื่อให้จิตเกาะอยู่ที่ลมหายใจจะเข้าสู่อุเบกขาได้โดยง่าย เมื่อจิตเคยคุ้นกับอุเบกขามากๆ เมื่อเกิดการปรุงแต่งขึ้นแล้วเกิดอารมณ์อันเป็นที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจก็ดี จิตจะละอารมณ์นั้นเองและเข้าสู่อุเบกขา (วันข้างหน้าจะละอุเบกขาอีกครั้ง เมื่อเห็นว่าอุเบกขาก็เกิดดับเช่นกัน…ละอุเบกขาก็สุญญตา เริ่มเป็นขณะๆ ไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งก็เกิดมหาสุญญตาเอง)

วันนี้เดินไปทีละขั้น นี่ล่ะโยคะกรรมอันเธอพึงกระทำเพื่อให้รู้ว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ และนี้คือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ สรณะของเราคือพระรัตนตรัยนะ พระรัตนตรัยก็คือพระธรรม พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้ก็เป็นพระธรรม พระอริยเจ้าทั้งหลายก็เป็นพระธรรม ดังนั้นพระธรรมก็คือความสงบเย็น เราทั้งหลายกำลังเดินทางไปสู่ความสงบเย็น (แต่สิ่งนั้นมีอยู่แล้วที่เราเอง พบได้เมื่อหมดเรา) เดินทางตามรูปแบบก็ดี ไม่มีรูปแบบก็ดีตามถนัด เปรียบเสมือนแม่ค้าผลไม้ในตลาด ขายมะนาวกองละ 5 ลูก 25 บาท มีคนซื้อ 8 กอง แม่ค้าก็บอกได้ว่าทั้งหมด 200 บาท ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักสูตรคูณ ส่วนเด็ก ป.6 ไปซื้อก็บอกได้ว่า 200 บาท เพราะเด็กใช้ 25x8 = 200 บาท แต่หากจะต้องอธิบายหรือโจทย์เกิดซับซ้อนขึ้นอีก แม่ค้าจะไปต่อไม่ได้ แต่เด็กที่รู้สูตรคูณยังใช้สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา เข้าช่วยไขปัญหาต่อไปได้ ศึกษาไปด้วยปฏิบัติไปด้วยนะ ผู้มีสุตะมากเปรียบดั่งผู้มีศาสตราวุธหลายชนิด ในแต่ละสถานการณ์จะสามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม

เอาล่ะวันนี้พูดคุยกันเท่านี้ก่อน ทำดีกับทุกคนในที่ทำงาน ทำดีกับผู้ที่เข้ามาพบปะเรา ทำดีกับสามี ภรรยา แฟน ลูก คนกวาดถนน ยามหน้าหมู่บ้าน เสมือนว่าวันนี้จะเป็นวันสุดท้ายของเรา ไม่มีโอกาสแก้ตัวอีก แล้วเราจะพูดว่า หากถอยเวลากลับไปได้ เราก็ไม่รู้จะทำอะไรอีกแล้ว เพราะเราทำดีที่สุดแล้ว ขอความสงบเย็นจงมีแก่ท่านนักปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นทั้งหลาย…อัศวินผู้กล้าของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย


เขียนเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2553


สมัยพุทธกาลไม่มีการเปิดคอร์ส

“…นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง พวกเธอจงเพียรเผากิเลส อย่าได้ประมาท อย่าเป็นผู้ต้องร้อนใจในภายหลัง
เลย นี่แหละวาจาเครื่องพร่ำสอนของเราแก่เธอทั้งหลาย…”

คอร์สในสมัยพุทธกาลไม่ได้ถือศีล 8 อยู่ 8 วัน 7 คืน หรือ 5 วัน 4 คืน ฯลฯ เขาออกบวชอยู่ในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ากันทั้งชีวิต พระฉันอะไรก็ได้อย่างที่ต้องการหรือ? พระอยากไปไหนก็ไปได้ตามอำเภอใจหรือ? พระอยากดูหนังเรื่องไหนก็ไปดูหรือ? ทำไมพระพุทธองค์จึงบัญญัติธรรมวินัยไว้อย่างนี้ ปฏิบัติสบายๆ ให้มีความสุขอยู่ในวังกับกามคุณได้แล้วจะไปกันทำไม แล้วทำไมทั้งราหุล พระนางพิมพา พระนางปชาบดีจึงออกบวชกันหมด ทำไมล่ะ หากวิธีการปฏิบัติที่ให้อยู่กับกามแล้วออกจากกาม หากใช้ได้ดีพระองค์คงไม่ต้องให้ครอบครัวของท่านออกมาลำบากกันหรอก แน่นอนว่าบุคคลผู้อยู่กับกามโดยไม่ติดกามมีอยู่ แต่แน่ใจหรือว่าเป็นเรา ลองดูการใช้ชีวิตของเราดูเองว่าติดกามหรือไม่ กามนั้นมาทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กายเลยนะ ไม่ใช่กามหยาบๆ แค่เสพเมถุน

อย่าหลงผิดนะ ถึงบอกเตือนมาเสมอว่าเข้าใจให้ถูก (สัมมาทิฏฐิ-ต้องรู้นะว่าอะไรคือทุกข์ อะไรคือเหตุให้เกิดทุกข์-กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ดับมันได้เมื่อไหร่ นิโรธอยู่ตรงนั้นนะ) ส่วนทำได้แค่ไหนไม่มีใครว่าอะไร เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเพื่อให้พ้นทุกข์นะ (พระอรหันต์) ไม่ใช่ให้สนุกหลงในกามแล้วยึดติด ดังนั้นคำสอนทั้งหมดของท่านพุ่งไปที่ความหลุดพ้นจริงๆ จังๆ จิตต้องหยุดการมาการไปสนิท นิ่งแข็งดั่งศิลาจริงๆ เมื่อถึงตรงนั้นแล้วโลกนี้จะเป็นของว่าง ดั่งภาษิตว่า “โลกนี้ไม่มีค่าอะไรมากไปกว่าเศษหญ้าเศษไม้” แล้วจะอยู่นั่งเล่นเศษหญ้าไปทำไม ว่างจริงไม่อยู่นะ

วันนี้เราจะปฏิบัติได้แค่ไหนไม่มีปัญหา แต่เป้าหมายให้ชัดเจน หากยังละกามหรืออกุศลหรือสังโยชน์เครื่องร้อยรัดไม่ได้ ก็ให้ถอดถอนความยินดีพอใจในสิ่งนั้นๆ ออกเสีย ได้มากได้น้อยก็ทำกันไปให้เต็มกำลัง

การพรากจากกามทั้งหลายเรียกว่า เนกขัมมะ คือไม่ยอมตามใจกิเลสที่เรียกว่าทางสุดโต่งสายแรกคือ กามสุขัลลิกานุโยค เพราะฉะนั้นการฝึกที่จะละกามนั้นจะเกิดความอึดอัดบ้าง แต่นั่นเกิดจากการไปยึดติดมัน การพรากต้องอดทนอดกลั้นจนสามารถละขาดได้ ละขาดจากอะไร? จากตัณหา (ความทะยานอยากในกาม ความอยากมีอยากเป็น ความไม่อยากมีอยากเป็น) ราคะ (ความยินดีพอใจ) นันทิ (ความเพลินในอารมณ์) ส่วนละขาดได้ด้วยการถอนฉันทราคะในการอยู่กับมันแล้วถอดถอนมัน พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ในการละอาสวะ แม้นต้องมีอยู่หรือใช้อยู่คือการพิจารณาใช้เสนาสนะ บิณฑบาต  จีวร คิลานเภสัช นั่นคือให้บริโภคอย่างมีสติปัญญาและเท่าที่จำเป็นไม่มีเกิน คือถอนความพอใจในสิ่งนั้น ก็ถอดถอนได้เช่นกัน

วันนี้ทำได้แค่นี้ ไม่ใช่ว่าต้องดึงคำสอนมาตอบสนองใจ “กู” สัมมาอาชีวะคือ อาชีวะที่เป็นสัมมา หมายถึง “พระ” เมื่อเกิดสัมมาทิฏฐิขึ้นมาจริงๆ จึงจะรู้ว่าการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเป็นอย่างไร แต่วันนี้เราพรากกันได้ยากก็ต้องพยายามบริหารเวลาที่มีกันอยู่นิดเดียวภายใต้ข้อจำกัด ก็เท่านั้นเอง

ดังนั้นที่บางคนบอกสมัยพุทธกาลไม่มีคอร์ส ก็เพราะเขาบวชเป็นพระกันไปเลย ไม่มีจบคอร์ส วันจบคอร์สคือวันที่ “ชาติ สิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่ต้องทำเพื่อการเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก”

แต่วันนี้เราทำได้แค่นี้ก็แค่นี้ล่ะ การมาคอร์สทำให้เราได้เข้าใจในสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ได้ในเวลาอันสั้น ไม่ใช่มาบรรลุธรรมในคอร์ส กลับไปก็ไปปฏิบัติกันต่อเองในชีวิตประจำวัน รู้ๆ ละๆ ไปไวๆ เปลี่ยนนิสัยสันดานจิตใหม่ อุปาทานเป็นสัญญาที่เหนียวแน่น การจะเปลี่ยนนิสัยต้องทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เอาลมหายใจเป็นที่พึ่งที่อาศัยไว้…ไม่ทำอกุศล นั่นรวมถึงมโนทุจริตด้วย อย่าเอาแต่คิดเรื่องผิดศีล

ลองนึกถึงชีวิตก่อนที่จะมารู้จักธรรมะในคอร์สปฏิบัติกันดูสิว่าตอนนั้นเป็นอย่างไรกัน ดำเนินชีวิตด้วยมิจฉาทิฏฐิกันขนาดไหน ใครเป็นอย่างไรผมไม่ทราบ แต่วันนี้สำหรับตนเองกลับมาเป็นผู้เป็นคนได้เพราะคอร์สปฏิบัตินี่ล่ะ เวลาที่มีชีวิตอยู่มันกำลังนับถอยหลังนะ ไม่ได้นับไปข้างหน้า อย่ามัวประมาทก็แล้วกัน มาเรียนรู้ มาฝึกภาวนา ฝึกพรากจากกาม ฝึกออกจากที่ที่มีแต่ “กูกับของกู” นั่งไปพักหนึ่งก็จะไปทำโน่นทำนี่อยู่เรื่อย

เวลานักเรียนไปเรียนเมืองนอกครั้งแรก เขาจะบอกกันว่า พอเครื่องบินขึ้นแล้วครึ่งทางแรกจะนั่งคิดถึงสิ่งที่เพิ่งพรากมาเช่น พ่อแม่ แฟน เพื่อน อะไรจิปาถะ ส่วนครึ่งหลังจะเริ่มกังวลถึงสิ่งที่จะต้องไปเจอ วันนี้เครื่องบินขึ้นกันมาถึงครึ่งทางหรือยัง อย่ามัวหลงสนุกหลงเสียใจอยู่นะ เพราะงานนี้กัปตันไม่เคยบอกว่าปลายทางอยู่ไหนและถึงเมื่อไหร่ หาที่พึ่งไว้ได้แล้ว อย่ามัววิ่งวน มรรคมีองค์ 8 มีอยู่ อย่าพลาดโอกาสทั้งๆ ที่ได้มีโอกาสเกิดมาพบความจริงอันประเสริฐคืออริยสัจ 4 แล้ว


เขียนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2553


ความสุขของคนติดเฮโรอีน

เราพูดกันถึงความสุขว่าเป็นเครื่องนำพาสู่การปฏิบัติ เช่น การนั่งสมาธิแล้วเกิดความสุข การรู้ลมอยู่กับปัจจุบันทำให้เกิดความสุข นั่นเป็นความเห็นที่ถูกต้องแล้ว แต่มีคนจำนวนมากกำลังสับสนเรื่องการนำคำนี้มาพูด ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างน่าเป็นห่วงก็คือ เห็นว่าการปฏิบัติธรรมนั้นเมื่อเนกขัมมะ (พรากออกจากกาม กามคือสิ่งที่ตาหูจมูกลิ้นกายไปยึดติด) แล้วเกิดเป็นทุกข์ (ซึ่งจริงๆ เป็นสิ่งที่เป็นผลจากความไปยึดติดสิ่งนั้นๆ แล้วเกิดเป็นนิวรณ์ 5 เพราะไปเสพติดกามนั้นก่อน พระพุทธองค์ไม่เคยบัญญัติการพรากจากกามเป็นทุกข์ เพราะนั่นจะนำสุขที่แท้มาให้) พระพุทธเจ้าให้ใช้ขันติเป็นธรรมเครื่องเผากิเลส เมื่อพ้นไปจากนิวรณ์ จิตจะเป็นอิสระ เกิดเป็นความสุขชั้นสูงขึ้นไปอีกคือความเป็นอิสระจากกาม จากตัณหา จากอุปาทาน

เปรียบเสมือนมีคนติดยา เสพยาก็บอกว่าเสพแล้วมีความสุข เอาคนเสพยามานั่งสมาธิ รู้ลมสอยู่กับปัจจุบัน คนติดยาก็เริ่มสับสนระหว่างความสุขที่ได้เสพยากับความสุขจากจิตตั้งมั่นว่าเป็นสุขอย่างเดียวกัน ต่อให้คนติดยาสามารถพบความสุขจากการนั่งสมาธิได้จริงเฉกเช่นพระสงฆ์องค์เจ้าผู้ปฏิบัติถูกต้องตามธรรมวินัยก็ตาม แต่ในที่สุดคนติดยาก็จะต้องโหยหายาเสพติดอยู่ดี เพราะเขาไม่เห็นว่าจะต้องเลิกยาไปทำไม เขาสับสนปนเปกันระหว่างความสุขทั้ง 2 อย่าง จริงๆ อย่างหนึ่ง “สุก” อีกอย่างหนึ่ง “สุข” เลยขอเอาความสุขทั้ง 2 อย่างเลยดีกว่า

ในเมื่อคนติดยาสามารถหายาเสพติดมาเสพได้ก็เลยไม่คิดจะเลิก ที่สำคัญไม่เห็นโทษเสียด้วย เพราะเคยคุ้นกับสุขเล็กน้อยหลังการเสพ ส่วนสุขจากสมาธิความตั้งมั่นเราก็ทำอยู่หาได้อยู่จากการปฏิบัติธรรม จึงเอาทั้งสองทางเข้าทำนอง รักพี่เสียดายน้องอยู่ อาจเสียไปชาติหนึ่งเพราะชาตินี้มีเงิน มีปัญญา (โลกๆ) หากาม มาเสพได้ทั้งชาติเพราะมีทรัพย์พอ จึงไม่เกิดปัญญา (ทางธรรม) แต่วันหนึ่งหากสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาหรือไม่คาดคิดเกิดขึ้นก็คงทุกข์อยู่ดี

วันนี้คนติดยาที่นั่งสมาธินั้นสุขอย่างหนึ่งที่เขาจะไม่มีวันพบเลย คือสุขจากความเป็นอิสระของจิตที่ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของยาเสพติด ซึ่งนั่นเป็นสุขที่เป็นไทจากกามจากตัณหา คือพระนิพพาน

ดังนั้น ในอริยมรรคมีองค์ 8 ข้อแรกคือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นอันถูกต้อง เมื่อเกิดสัมมาทิฏฐิ จะเห็นถูกตรงว่าหากจะให้ถึงความพ้นทุกข์ จิตต้องเป็นอิสระจากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งร้าย ไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์หรือสัตว์ร่วมเกิดแก่เจ็บตาย ดังนั้นจึงเกิดการดำริชอบ คือดำริอันถูกต้องขึ้นมา คือสัมมาสังกัปโป เมื่อเห็นถูกก็คิดถูก เมื่อดำริถูกในข้อแรกจึงหาทางทำทุกอย่างเพื่อพรากออกจากกามทั้งหลาย ตรงนี้บ้างก็พรากตัวเองออกเลยเป็นการหักดิบ ซึ่งมักเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าแนะนำ “…นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง พวกเธอจงเพียรเพ่งเผากิเลส จงอย่าเป็นผู้ต้องร้อนใจในภายหลังเลย… ”ส่วนอีกประเภทที่ก็มีได้คือ “…เธอจงถอนฉันทราคะในสิ่งนั้น แล้วสิ่งนั้นก็จะไม่สามารถเป็นกามได้อีก…” นั่นคือหากต้องอยู่กับสิ่งนั้นก็ต้องถอนราคะคือความยินดีพอใจในสิ่งนั้นออก ก็จะไม่เกิดตัณหาอีก นั้นท่านใช้กับ อาหาร จีวร (เสื้อผ้า) เสนาสนะ (ที่อยู่) ยารักษาโรค ใช้เสพเพียงพอควร แต่ท่านจะบอกว่าเสพเท่าที่จำเป็น ตรงนี้เราก็ลองเทียบกับชีวิตของเราเอง

สาระสำคัญก็คือ หากจะให้ความสุขนำทางสู่นิพพานต้องใช้ความสุขที่ถูกต้องคือสุขจากการมีสมาธิ ปราศจากตัณหา นิวรณ์ นี่คือนิโรธจากระดับแรก สุขที่เกิดจากการแยกรูปนามตามจริง ขาดจากสมมติบัญญัติ เป็นสุขจากนิโรธระดับที่สอง สุขจากการละสักกายทิฏฐิ เริ่มดับจากความเป็นตัวกูหยาบๆ ได้ นั่นเป็นนิโรธในระดับที่สาม จากนั้นนิโรธเริ่มเกิดมากขึ้น พบสภาพว่างจากตัวตนมากขึ้นมากขึ้น เป็นสุขสงบระงับเป็นไทจากตัณหาได้ เป็นสุขระดับที่ 4 ในอริยบุคคลที่เดินทางแล้วเห็นที่สุดแห่งทุกข์เป็นลำดับๆ และเมื่อปล่อยวางจิตเห็นแจ้ง ถอดถอนอุปาทานขันธ์ 5 แล้ว ไม่หยิบฉวยหรือยึดถือขึ้นมาอีก เป็นนิโรธระดับสูงสุด คือ มหาสุญญตา นั่นเป็นปรมังสุขัง ที่เป็นไทจากทุกสิ่ง

เพราะฉะนั้นหากยังเป็นคนติดยา นั่งสมาธิแล้วต้องเห็นโทษภัยนะ…หาทางเลิกยาดีกว่า เลิกไม่ได้ก็พยายามต่อไป

แต่อย่าเห็นว่าการเลิกยาไม่ดี เห็นให้ถูกก่อน ส่วนทำได้ไม่ได้ วันหนึ่งเมื่อทุกข์จากการไปติดยาไว้มันมากจนทนไม่ไหว จะคิดได้เองว่าเรารู้จักทางออกจากทุกข์นะ ซึ่งนั่นยังจะดีกว่า


เขียนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553


สั่งสมความเห็นผิด

เราทุกคนสั่งสมความเห็นผิดกันมายาวนาน ในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะความเป็นตัวเรา การเอาตัวรอดถึงขั้นที่ต้องเบียดเบียนผู้อื่น การเห็นว่าสิ่งเป็นทุกข์เป็นสุข สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจัง แต่เรากลับพยายามจะฝืนกฎให้ได้ ทำให้มันเป็นนิจจังเป็นอมตะ นี่คือเหตุที่ทำให้มนุษย์และสัตว์ทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด

ยอมรับเถอะว่าสัจธรรมความจริงคือธรรมชาติซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย เราทำเหตุใหม่ได้แต่ผลนั้นก็มาจากเหตุปัจจัยที่หลากหลาย ไม่ได้เปลี่ยนได้ดังใจเพราะเหตุปัจจัยใหม่ที่เราทำเพียงอย่างเดียว คนเราทำให้ดีที่สุดในแต่ละขณะ เป้าหมายมีแต่อย่ายึดว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เพราะนั่นเป็นทุกข์ กลับมาอยู่ที่วิถีเสีย อย่าแปะไว้ที่เป้าหมาย ไม่งั้นทุกข์ฟรีนะ เมื่อทุกข์ฟรีก็นรกฟรี

เมื่อสั่งสมความเห็นผิดมาเราจึงคิดผิด พูดผิด ทำผิดมาตลอด สิ่งนี้สั่งสมฝังแน่นมานานต้องละออก แล้วสร้างนิสัยของจิตใหม่ให้มาทางกุศลแทน พร้อมกับๆ ไม่ทำอกุศลทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ เมื่อเกิดอกุศลในใจให้ละเสีย เบื้องแรกจะวิธีใดๆ ก็เอาเถิด แล้วรู้ลมสลับไว้เรื่อยๆ พอสมาธิดีแล้ว ลมเป็นที่พึ่งได้แล้วก็จะง่ายขึ้นสบายขึ้น

อย่าทิ้งนะลมหายใจเป็นที่พึ่งเป็นเพื่อนที่ดีที่ขนาดพระพุทธเจ้าก็ยังทรงแนะนำบอกสอนมากที่สุด แต่แม้ที่พึ่งที่ว่าดีก็เกิดๆ ดับๆ พึ่งก็พึ่งได้ชั่วคราว สามี เพื่อน แฟน ที่ทำงาน ลูกก็ยิ่งชั่วคราวยิ่งกว่านะ ขนาดลมหายใจอยู่กับกายนี้แท้ยังควบคุมบังคับบัญชาให้อยู่ตลอดไปไม่ได้ แล้วประสาอะไรจะไปบังคับโลกนี้ที่แปรเปลี่ยนตามปัจจัยให้เป็นไปดั่งใจ เราทำเหตุที่ดีอย่างเต็มที่ไม่ย่อท้อได้เท่านั้น

ที่พึ่งถาวรมีอยู่ เบื้องแรก ไตรสรณคมน์ เบื้องต่อมาสเข้าถึงอริยสัจ 4 โดยเดินตามมรรค เมื่อเข้าถึงความเป็นโสดาบัน เบื้องสุดคือเข้าถึงปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติสุดทางที่พระอรหันต์ ทำเหตุไปเรื่อยๆ เมื่อถึงก็ถึงเอง แต่ศีลต้องบริสุทธิ์ไม่ว่าขั้นไหนๆ อย่าหลงทางนะ


เขียนเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2554


ปกหลังหนังสือ “กลัวเกิด…ไม่กลัวตาย”

ทุกข์ลดลง สุขสงบศานติก็เพิ่มขึ้นเพราะเบื้องต้นเริ่มเกิดปัญญาเกิดความเห็นถูก เริ่มตั้งใจที่จะไม่ทำบาปทำอกุศล เห็นโทษภัยในกามคุณทั้งหลายว่ามีสุขน้อยมีทุกข์มาก เป็นของหลอกๆ จึงเริ่มละออกสละออก ใช้อย่างมีปัญญาไม่หลงใหล เริ่มมีศีลเป็นเครื่องป้องกันในระดับกายและวาจา จากนั้นเกิดปัญญาที่จะละอกุศลในระดับของจิตใจ เมื่อละไปจิตใจก็ตั้งมั่น ฝึกสั่งสมกำลังสมาธิและเจริญกุศลในใจเพื่อประสิทธิภาพในการละอกุศลเจริญกุศล เมื่อใจเป็นกุศลการกระทำใดๆ ต่อโลกภายนอกก็เป็นกุศลตามด้วย

จากนั้น การเจริญกุศลก็เพิ่มมากขึ้นจนเริ่มเกิดปัญญาเห็นจริงว่า “สรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย และดับไปเมื่อหมดเหตุปัจจัย” แต่การจะให้สรรพสิ่งเกิดขึ้นและสลายไปเองนั้น นำพาความทุกข์และโอกาสร้างอกุศลกรรมได้อย่างมากมายเพราะความเห็นผิดที่สั่งสมมา เมื่อปฏิบัติตามมรรคจึงเข้าไปสลายทั้งความเห็นผิด และสัญชาตญาณเดิมที่สั่งสมมาในการมุ่งร้ายเบียดเบียนผู้อื่น เริ่มสลายความยึดมั่นถือมั่นและความเห็นผิดในสิ่งทั้งปวงว่าเป็นของเรา ว่าเป็นตัวเรา ว่าเป็นอัตตาของเรา ความเห็นผิดต่างๆ ก็เริ่มจางคลายลงไป นั่นเป็นเหตุให้ทุกข์ลดลงเรื่อยๆ ทีละขณะ ทีละวัน จนวันหนึ่งเมื่อพบที่สุดแห่งทุกข์ ทุกข์ทั้งหลายมลายไปสิ้น สิ่งทั้งปวงซึ่งล้วนเกิด-ดับ ก็จะว่างจากความเป็นตัวตน (มีเหตุให้เกิด พอเกิดหมดเหตุก็ดับ)

สิ่งทั้งปวงนั้นจึงเป็นเพียงเครื่องมือให้เข้าถึงสัจธรรมความจริงเดิมแท้ เมื่อนั้นจะพบว่าธรรมชาติเดิมแท้มีอยู่แล้วตลอดมาไม่เคยเสื่อมสลายหายไปไหน เราทั้งหลายเพียงเห็นผิดเพราะความที่ไม่รู้ในทุกข์ ในเหตุให้เกิดทุกข์ จึงได้เกิดการปรุงแต่งให้ค่าสรรพสิ่งทั้งหลายจนเป็นตัวตนขึ้นมา จึงเกิดเป็นวิญญาณ ความรู้สึก อารมณ์ นามธรรมรูปธรรมต่างๆ ทั้งเรา ของเรา ผู้อื่น คนอื่น ฯลฯ
จึงถูกบังคับให้มองผิดมุม ทั้งๆ ที่ มุมที่ถูกก็มองไปเหมือนกัน แต่กลับเกิดมุมมอง (ญาณทัสนะ) ที่เปลี่ยนไป

จนเมื่อใดเกิดสัมมาทิฏฐิ ละเหตุให้เกิดทุกข์ คือการยึดถือตัวจิตเองเป็นจุดเริ่มต้น จนเป็นผลให้เกิดอุปาทานในขันธ์ 5 ขึ้นมาอีก เมื่อละได้ดังนั้น จะเข้าถึงธรรมชาติที่แท้จริงคือนิโรธ (นิพพาน) เพราะหมดการปรุงแต่ง จึงพบกับความสุขสงบศานติเพราะรู้แจ้งในอริยสัจ (เกิดวิมุตติญานทัสนะ) หนทางดำเนินเพื่อถึงความดับทุกข์นี้แล คืออริยมรรคมีองค์ 8


เขียนเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2554


เดินจงกรม-นั่งสมาธิไม่สงบเลย

การปฏิบัติธรรมต้องเดินจงกรม นั่งสมาธิ พอเดินจงกรมนั่งสมาธิก็ไม่สงบทำอย่างไรจึงจะสงบ?

วันนี้เราปฏิบัติธรรมกันทำไม? เราปฏิบัติธรรมเพื่อละความเห็นผิดว่า กายใจนี้เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพราะมีเหตุ (ไม่ใช่เรา) กายใจ (ขันธ์ 5) นี้ ดำรงอยู่ด้วยการดำเนินไปของชีวิต กายประกอบมาจากธาตุอยู่ได้ด้วยธาตุ เพราะมีอาหารกายจึงตั้งอยู่ได้ ส่วนใจเมื่อยังมีเหตุเกิดของใจคือความหลงผิด จึงก่อร่างสร้าง
ชีวิตให้เป็นทุกข์กันต่อไป กายนี้มีอายุขัย ใจเกิดดับเป็นพลังงาน แต่ตราบใดที่พลังงานนี้ยังมีสิ่งปนเปื้อนด้วยตัณหาจึงสร้างกรรมไม่จบไม่สิ้น จิตโง่จะปรุงแต่งเรื่อยไป เมื่อไม่หยุดปรุงแต่งก็ก่อเกิดเป็นเชื้อให้เกิดการสร้างชีวิตใหม่ในภพภูมิที่สั่งสมไว้ ซึ่งมีทั้งกุศลและอกุศล

เนื่องจากเราไปคิดว่ากายใจนี้เป็นเรา มันจึงก่อให้เกิดความทุกข์ความทุกข์ทั้งหมดที่เราเป็นกันอยู่ในวันนี้ เวลาพูดอธิบายก็ดูเหมือนจะเข้าใจได้ แต่พอมีใครมากระทบจริงๆ ก็จะเกิดเราของเราขึ้นมาทันที

ตรงนี้จึงยากที่จะอธิบายว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากคนอื่นกระทำ แท้ที่จริงแล้วทุกข์ทั้งหลายเกิดเพราะใจของเราก่อมันขึ้นมาเอง เพราะความเป็นเรานั่นเอง เมื่อเกิดเราก็จึงเกิดเขา เมื่อไม่มีเราก็ไม่มีเขา การที่เขาทำอย่างนั้นขึ้นมาเพราะเขาหลงผิดปล่อยชีวิตไปตามกิเลสหรือสัญชาตญาณ เขาเองก็ไม่รู้ ส่วนเราเกิดเป็นทุกข์ขึ้นมาก็เพราะสร้างเราขึ้นมาด้วยความเห็นผิดเช่นกัน

แล้วจะทำอย่างไรจึงจะเห็นถูก ถอดถอนการปรุงแต่งความเป็นของเราเป็นเราเป็นอัตตาของเราได้ นั่นจึงต้องเจริญปัญญา ศีล สมาธิ ใครเกิดปัญญาก็เห็นได้ทันที ถ้ายังไม่เห็นก็เริ่มใช้มรรคระดับสมาธิคือ 6-7-8 ถ้าไม่มีความตั้งมั่น ไม่สงบ ก็มาจากการทำผิดศีลและการยึดติดในกามคุณทั้งหลาย ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ยังเป็นเหตุให้จิตใจกระเพื่อมตลอด ก็ต้องลดละเลิกกันบ้างให้การกระเพื่อมเบาลง

เพราะฉะนั้นวันนี้ เดินจงกรม นั่งสมาธิเพื่อให้จิตตั้งมั่น ตั้งมั่นแล้วเห็นว่าสักแต่ว่ากายทำงานตามปัจจัย มีจิตเป็นคนสั่ง จิตสั่งนั้น บ้างก็สั่งเป็นกุศล บ้างก็สั่งเป็นอกุศลเพราะความเห็นผิดที่เขาสั่งสมมานาน ค่อยฝึกละอกุศลให้บ่อยให้มาก หมั่นเจริญกุศลให้บ่อยให้มาก จิตจะสงบตั้งมั่นเห็นเข้าได้สักวันว่า กายก็สักว่ากาย จิตใจก็สักว่าจิตใจ เป็นธรรมชาติ ยึดถือทีไรทุกข์ทุกที กุศลทำไปเพราะเป็นสิ่งดีแต่ไม่ยึดถือ

แล้วเวลานั่งสมาธิมันฟุ้งซ่านทำอย่างไร มันฟุ้งซ่านแปลว่ามันคิดไม่หยุด เรื่องนี้จบเรื่องโน้นต่อ เรื่องนี้ไม่ทันจบเรื่องใหม่ โผล่ขึ้นมาอีก ก็จะแปลกอะไร วันๆ เราเป็นอย่างนั้น อยู่ๆ จะบอกให้หยุดกะทันหันจะเป็นไปได้อย่างไร แล้วที่สำคัญการปฏิบัติไม่ได้มาทำให้เขาหยุดคิด แค่ไม่ยึดถือคิดต่างหากล่ะ เมื่อไม่ยึดถือ คิดให้ตายก็ไม่ทุกข์ ความคิดทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะมันคุ้นที่จะทำอย่างนั้นคือปรุง คนมีปัญญาแค่เห็นเหมือนนักกีฬากระโดดเชือกอยู่ จะบอกให้นักกีฬาเลิกกระโดดตลอดชีวิตก็ไม่ได้ เพราะเขาฝึกมา แต่ทุกวันนี้เราเข้าไปจับนักกีฬาให้หยุดกระโดด จึงทำให้เราต้องกระโดดตาม เพราะหยุดเขาไม่ได้

ถามว่านักกีฬาเหนื่อยไหม? ตอบว่าเหนื่อย ทุกข์นะเพราะดิ้นรนไม่หยุด หากเราไปผูกตัวเองติดกับนักกีฬาเราเหนื่อยด้วยไหม? เหนื่อยด้วย ถ้าเห็นความจริงจะเห็นว่านักกีฬาก็ทำไปตามเรื่อง จะไปสนใจมันทำไมล่ะ วันแรกๆ ไม่รู้ก็ทุกข์ที่นักกีฬาไม่ยอมหยุด วันต่อมาชักฉลาดไม่จับไว้แล้ว แต่ยังโง่นั่งดูนักกีฬาซึ่งมีสภาพทุกข์ พอเราเข้าไปยุ่งด้วย ทั้งๆ ที่แค่ดูเฉยๆ ก็อดไม่ได้ที่จะยังทุกข์ วันหนึ่งไม่อยู่ดูแล้ว เขาจะกระโดด จะนั่งพัก จะนอน จะชนะ จะแพ้ ก็ไม่ทุกข์ด้วย เพราะเราไม่มี นักกีฬาก็แปลก อยู่ไปได้อีกพักก็เลิกสลายตัวไปหมดเช่นกัน

ตกลงเดินจงกรมนั่งสมาธิต้องสงบไหม? สงบก็สงบ ไม่สงบก็ไม่สงบ ไม่ยึดไม่ทุกข์ นั่งไม่สงบก็ไม่ทุกข์ เพราะเข้าใจว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง ยิ่งนั่งไม่สงบยิ่งเกิดปัญญา…พอเกิดปัญญาก็สงบจนได้


เขียนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2554


ขั้นตอนการพ้นทุกข์ตามวิถีมรรค

มรรคองค์ที่ 2 ทุกข์เริ่มจากการมุ่งร้าย การเบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่น จัดการด้วยการมีศีล ศีลจะดูแลกายและวาจาที่จะไปเบียดเบียน พยาบาทผู้อื่น

ทุกข์มาจากการไปเสพติดกามคุณเช่น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส พูดง่ายๆ คือหลงเป็นทาสวัตถุนิยม แบรนด์ดัง อาหารอร่อย ฯลฯ จัดการด้วยเนกขัมมะเสีย พรากออกจากกามที่หลงยึดไว้ ไม่พรากไม่รู้นะ พรากออก อดทนสู้ไม่ถอย ให้เห็นโทษภัย ใครติดยาเสพติดก็ว่ายาเสพติดดี แต่เมื่อพรากแล้วทุกข์ทรมานจะเกิด คนสองประเภท ประเภทหนึ่ง มีปัญญาเห็นว่าการเสพติดมันทุกข์มากแล้วพยายามเลิกมันให้ได้เพื่อจะได้พ้นทุกข์ ประเภทที่สอง เห็นว่าการเลิกนั้นทุกข์จะตาย เสพต่อดีกว่ามีความสุข คนติดยาก็จะติดยาต่อไปด้วยความโง่

เมื่อพรากจากกามคุณและไม่ทำอกุศลทางกายทางวาจาได้ จิตใจจะสงบในระดับที่ง่ายต่อการเจริญสมาธิ เพื่อการจัดการกับทุกข์ในจิตใจระดับต่อไป

ทุกข์มาจากใจที่ไปคิดเรื่องอกุศล สาเหตุมาจากสิ่งที่สั่งสมมายาวนาน ทั้งเห็นแก่ตัว อยากได้ไม่อยากให้ เห็นแต่เรื่องไม่ดีของคนอื่น ตัวเองดีหมด

จากนั้นจึงต้องเพียรละอกุศลในใจ ละอกุศลเจริญกุศล รู้ลมไว้

เติมกุศลในใจ เพียรเจริญกุศลไว้คือ อานาปานสติก็ดี เมตตาก็ดี ฯลฯ รู้ลมหายใจไว้มากๆ ในชีวิตช่วงไหนว่าง รู้ลมหายใจ (อ่านอยู่ หยุดอ่านตรงนี้เลย…รู้ลมแทน…หลายๆ ครั้ง แล้วค่อยอ่านต่อ)


ระยะนี้อกุศลจะถูกชำระด้วยกุศล โดยหลักการแน่นอนว่า อกุศลต้องลด กุศลต้องเพิ่ม ผลคือจะสงบสุขในใจมากขึ้นแน่ๆ จิตใจจะตั้งมั่น เป็นสุขสงบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลจากการรู้ลม จากนี้การนั่งสมาธิจะสงบขึ้นเองโดยธรรมชาติ ช่วงนี้ทำทั้งในรูปแบบคือการเดินจงกรม นั่งสมาธิและรู้ลม มีสติสัมปชัญญะในชีวิตประจำวันไว้ให้มาก

ศีลก็บริบูรณ์ขึ้นมา ไม่ว่าร้ายใคร ไม่เบียดเบียนด้วยกาย เริ่มพรากออกจากการยึดติดรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ได้มากขึ้น จิตใจจะสงบตั้งมั่น ปราศจากนิวรณ์มารบกวน อกุศลในใจก็ละไปด้วยการรู้ลมแทน เมื่อรู้ลมก็เกิดเวทนาขึ้นเฉพาะคืออุเบกขา ทุกข์ เริ่มลดลงๆ ความตั้งมั่นของจิตจะสูงขึ้น จะเริ่มเห็นว่าทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ก็ดับไป สุขเกิดขึ้น สุขก็ดับไป เฉยๆ เกิดขึ้น เฉยๆ ก็ดับไป จนเห็นสรรพสิ่งภายนอกก็เช่นกัน ความรู้ความเห็นเข้าไปในระดับจิตมากเข้า ไม่เหมือนเมื่อก่อนมันรู้ระดับสมอง

เมื่อความคิดเกิดขึ้น สติระลึก กลับมารู้ลม จังหวะนี้จะเห็นว่าวิญญาณตั้งอาศัยที่สังขาร เกิดเป็นอารมณ์ในคิด เมื่อละมารู้ลม วิญญาณจะดับลงจากสังขารมาเกิดขึ้นที่รูปแทน สักพักก็เผลอไปคิดอีก ก็ทำนองเดียวกัน วิญญาณดับลงจากรูปแล้วไปเกิดที่สังขารอีก จะเห็นการเกิดดับในอย่างนี้ไปเรื่อย รวมถึงในขันธ์อื่นๆ ด้วยคือ เวทนา (ความพอใจ ไม่พอใจ เฉยๆ) สัญญา (ความจำได้หมายรู้) จะค่อยๆ เห็นว่าไม่มีเรา ขันธ์ทำงานกันเอง เมื่อมีผัสสะมากระทบก็จะเกิดเป็นอาการต่างๆ เป็นผลออกมาหรือจะเรียกว่าพฤติกรรมก็ได้ แสดงว่าหากจะเปลี่ยนพฤติกรรมใครต้องไปแก้ที่สันดานที่สั่งสมมา ความเพียรในการละทั้งหลาย ตั้งแต่ศีลมา ความเพียรละอกุศลในใจมา จนความเพียรสร้างกุศลนั้นเริ่มไปเปลี่ยนสันดานใหม่ ตรงนี้อยู่ในมรรคตั้งแต่ข้อ 2-3-4-5-6 เพราะฉะนั้นการปรับเปลี่ยนสันดานเดิมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าไปจัดการกับความเคยชินในการตอบสนองที่เป็นอกุศล

เมื่อสันดานเดิมเริ่มเปลี่ยนมาเป็นนิสัยที่กุศลเป็นหลัก ใจจะสงบเยือกเย็น ไม่เร่าร้อน จิตจะตั้งมั่นได้ง่าย เห็นการเกิดดับ จนเบื่อหน่ายคลายความยึดถือในความทุกข์ และแม้นความสุขก็ล้วนของเกิดดับ จะเริ่มปล่อยวาง จะเกิดการดับว่าง จากจุดเป็นเส้น จากน้อยไปมาก เห็นความจริงโดยลำดับจนสามารถละความเห็นผิดว่ากายเป็นเรา จิตเป็นเรา ทุกข์ลดลงมหาศาล เพราะที่ทุกข์กันอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะเห็นผิดว่ามีเรานี่ล่ะ

จากนั้นแม้ละความเห็นผิดลงไปได้แล้ว เพราะจากการเฝ้าสังเกตรูปนาม (รูป เวทนา สัญญา สังขาร) มาตลอด เข้าใจว่าขันธ์ทั้งหลายเกิดดับ (แต่วิญญาณหรือจิตกลับไม่เห็นว่าตัวเองก็เกิดดับ) จิตจึงยึดถือความรู้หรือปัญญาที่เกิดขึ้นจากการเฝ้าดูมาตลอด ตรงนี้หากไม่ใช้การละอารมณ์ให้วิญญาณดับจากขันธ์ที่เป็นนามธรรม ให้วิญญาณมาตั้งอาศัยที่รูปแทนหรือที่เรียกว่ากายคตาสติ การภาวนาที่ผ่านมาจะเกิดปัญหาตรงนี้มาก เพราะจิตไม่เห็นตัวเองเกิดดับ เราคิดเอาเองก็ไม่ได้เพราะเขาต้องเห็นเอง สร้างเหตุไว้อย่างไร ผลก็เป็นอย่างนั้น รู้แล้วต้องปล่อยต้องทิ้งทันที ให้วิญญาณดับลงไปด้วย ไม่ให้สืบเนื่องไปในขันธ์ของนามธรรม ให้ละแล้วมาอยู่กับรูป ไม่เช่นนั้นก็จะก่อเป็นภพ

ถึงตรงนี้จิตจะคลายความยึดถือในขันธ์ อารมณ์ต่างๆ เริ่มดับไป ดับไปก็เงียบ ไม่มีการปรุงแต่งใดๆ กุศลก็ไม่เอา ไม่ยึด ไม่หลงเสพอีก แต่ก็ทำกุศลไปไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย จนรูปธรรมทั้งหลายไม่สามารถทำความกระทบกระเทือนต่อจิตได้อีก จิตโปร่งเบาเป็นอิสระจากรูป หมดความเกาะเกี่ยว ไม่ดึงเข้า ไม่ผลักออกต่อรูป เสียง กลิ่น รส ที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย อีก ใครทำอะไรๆ ก็ไม่เอาโกรธอีก ไม่เห็นมีอะไร

จากนั้นทุกข์เบาบางเต็มที จะเหลืออยู่ที่ยังทุกข์บ้างก็เพราะไปยึดในกุศลบ้าง ในทิฏฐิบ้าง ฯลฯ ก็เพราะยังไม่เห็น สัพเพ ธัมมา อนัตตา จนเมื่อเห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้งว่า “นอกจากทุกข์แล้ว ไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์แล้วไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์แล้วไม่มีอะไรดับไป” สิ่งเกิดดับล้วนเป็นทุกข์ สิ่งเป็นทุกข์ล้วนเป็นอนัตตา

อนัตตาคือสิ่งทั้งปวงมีเหตุให้เกิดก็เกิด หมดเหตุก็ดับ สิ่งนี้แม้จะว่างจากตัวตนแต่ยังมีเหตุเกิดอยู่ เมื่อเห็นถึงที่สุดวางในขั้นสุดก็เข้าสู่สุญญตา ที่ๆ ไม่มีเกิด ไม่ดับอีกต่อไป ปล่อยจากความยึดถือสิ่งเกิดดับ ขันธ์ทั้ง 5 เป็นของหนักนะ! ตัวขันธ์เองก็เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อเห็นแจ่มแจ้งในอริยสัจ 4 จิตเองจึงปล่อยความยึดถือในขันธ์ พระพุทธเจ้าจึงบัญญัติว่า นิพพาน ผู้รู้ที่เป็นวิญญาณเกิดดับก็ถูกปลดปล่อย แม้นมีอยู่แต่ไม่มีราคะ นันทิและตัณหา เป็นเชื้อให้ไปตั้งอาศัยในขันธ์อื่นๆ จึงเป็นของว่างทันที ชั้นนี้แม้นสติเองก็เป็นธรรมฝ่ายเกิดดับ ถึงสภาพนี้สรรพสิ่งกลายเป็นความเคยชิน หมดเจตนาต้องถือต้องประคอง อิสระ เกิดเป็นวิมุตติญาณทัสนะ ไม่ยึดอะไรๆ มาเป็นเราอีกต่อไป ถึงที่สุดแห่งทุกข์ที่ตรงนี้

“ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ต้องทำได้สำเร็จแล้ว กิจอื่นที่ต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก”


สรุป
  1. ละบาป ระดับกายวาจา ใช้ศีล
  2. ละการยึดติดกามคุณ เนกขัมมะ ถอนความยินดีในวัตถุนิยม รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทั้งในระดับพรากด้วยกายหรือพรากด้วยใจ
  3. เพียรละอกุศลในใจ ละไปเรื่อยๆ ในชีวิตประจำวัน
  4. เพียรเจริญกุศลในใจ อานาปานสติ เดินจงกรม นั่งสมาธิ
  5. ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นการเกิดดับในสรรพสิ่งทั้งภายนอกและภายใน โดยเฉพาะภายในสำคัญมาก
  6. เมื่อทำถูก ต้องรู้สึกคลายความความยึดถือในสิ่งต่างๆ ลง สรรพสิ่งล้วนเป็นทุกข์
  7. เมื่อเห็นจนเต็ม ศีลไม่บกพร่อง เผลออย่างไร ก็ไม่มีวันทำผิดอีก ไม่ต้องเจตนาในการถือศีล ใจรู้สึกเป็นกลางไม่ดิ้นรน เจริญกุศลต่อไป ช่วยเหลือสังคม อยู่ด้วยแล้วคนรอบข้างสัมผัสความสุขจากเรา อารมณ์ไม่วูบวาบ
  8. เจริญกุศล เจริญสติโดยเห็นฐานต่างๆ ไม่ว่า กาย เวทนา จิต ธรรม ล้วนเกิดดับ ว่างจากตัวตน มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ จนวันหนึ่งเหตุเกิดก็ถูกชำระ จึงดับตลอด เมื่อดับก็ว่าง เมื่อว่างก็สงบเย็น จุดนี้อกุศลถูกละจนเบาบาง เป็นระดับละเอียดก็ละไปเรื่อยๆ ละเพื่อให้เห็นวิญญาณเองก็เกิดดับไป อย่างนั้นผู้รู้จะแข็งแรง
  9. กุศลเต็ม ทำกุศลหมดความยึดถือในกุศล ทุกสรรพสิ่งทำแล้วไม่ยึดถือ รวมทั้งว่างจากผู้กระทำ หมดผู้ทุกข์ หมดถูกผู้กระทำ อยู่นอกเหตุ เหนือผล ที่ผ่านมาทำเหตุสร้างเหตุมาจนทั้งเหตุก็พอ ผลก็เต็ม หมดความยึดถือทั้งปวง สงบเย็น จบพรหมจรรย์

เดินทางอยู่ตรงไหน ขาดอะไร ลองตรวจสอบดูคร่าวๆ สำคัญคือต้องสู้ เพียรไม่หยุด อย่าเอาแต่สนุกสนานไปวันๆ หลงไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นดับไปในใจ


เขียนเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2554


จะได้รู้ว่าอยู่ที่ไหน

มีตัวตนมีเรามีเขาอยู่ไหมตอนนี้…มี (ตอบเอง)

ถ้ามี ต้องสังเกตดูกายกับใจ แต่เวลาดูใจแล้วต้องอิงกายสลับไว้ ไม่งั้นไหลไปเป็นใจ วันหนึ่งจะรู้ว่าไม่มีเรา เพราะเห็นมันเกิดๆ ดับๆ เป็นทุกข์

พอฟันธงลงไว้ว่า กายใจ เกิดๆ ดับๆ เป็นสภาพทุกข์แต่ไม่มีผู้ทุกข์ มีเหตุให้เกิดก็เกิด หมดเหตุก็ดับไป เดี๋ยวก็มีเหตุเกิดอีก หมดเหตุก็ดับอีก (คือผัสสะกระทบก็เกิด หมดเหตุภายนอกก่อน แล้วภายในก็ดับตาม) ตรงนี้จะเห็นจะรู้จักขันธ์ 5 แต่ถ้าพูดกันจริงๆ แล้วน่าจะบอกว่ารู้จักขันธ์ 4 เพราะเวลาไปรู้ว่าขันธ์เกิดดับนั้น เห็นว่าขันธ์ 4 คือนามรูป อันมี รูป เวทนา สัญญา สังขาร เกิดดับ แต่วิญญาณที่ดูจะไม่เห็นตัวเองเกิดดับ คิดเอาไม่ได้นะ ดังนั้นตรงนี้รู้ขันธ์นามธรรมแล้วต้องวางทันที วิญญาณจะดับลงในเวทนาสัญญา สังขาร แล้วมารู้ลม วิญญาณจะมาเกิดที่รูป

เมื่อจิตตั้งมั่น จิตจะเห็นเองว่า ตัวเองเกิดดับเช่นกัน วิธีนี้เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าสอน ไปดูเรื่องอานาปานสติประกอบ

ละความเห็นผิดในความเป็นตัวตนลงได้แล้ว…(ใช่ไหม ถ้าใช่ เขามีชื่อเรียกบุคคลที่ละได้ว่า พระโสดาบัน เพราะฉะนั้นพระโสดาบันไม่ได้เป็นนะ) ถ้าใช่ จะเริ่มเห็นว่าเมื่อเกิดการกระทบคือผัสสะ จะเกิดเป็นผล เช่น เวทนา (พอใจ ไม่พอใจ อุเบกขา) ซึ่งผลเหล่านั้นสามารถอธิบายได้ด้วยคำว่า อาการของจิตหรือพฤติกรรมของจิต เกิดขึ้นได้เพราะจิตสั่งสมนิสัย (สันดาน) เอาไว้ยาวนาน จะแก้สันดานต้องไปแก้ที่ตัวจิต จึงสังเกตต่อไป พระโสดาบันนี้รู้ๆ ละๆ มามากแล้ว จิตตั้งมั่นค่อนข้างมาก (กว่าคนทั่วไปที่เพิ่งเริ่ม) จึงไม่ค่อยไหลหรือถลำลงไปในอาการต่างๆ ของจิต เห็นว่ามีเหตุให้เกิดจึงเกิด หมดเหตุก็ดับ มีเหตุเกิดก็เกิดครู่เดียว หมดเหตุก็ดับลง แต่จะทันทีบ้างค้างบ้างก็ว่าไป เพราะพระโสดาบันยังมีปัญญาไม่มาก ตรงนี้จะเห็นความเป็นอนัตตาเพิ่มขึ้นตามลำดับไม่มีใครทำ ไม่มีใครถูกกระทำ ทุกอย่างเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย (จะเห็นปฏิจจสมุปบาทขึ้นมาเอง ความเข้าใจเริ่มเกิดขึ้นแล้ว แต่จะเห็นจากนามรูปลงมา เพราะคนเฝ้าดูคือวิญญาณข้างบน วิญญาณจึงรู้เขาแต่ไม่รู้เราคือตัววิญญาณเอง) เพราะมีเหตุเกิดก็เกิด หมดเหตุก็ดับไป (จำตอนที่พระสารีบุตรบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันได้ไหม เพราะได้ฟังพระอัสชิพูดว่า “สิ่งทั้งหลายเกิดมาแต่เหตุ เมื่อหมดเหตุผลก็ดับ” เบื้องต้นของคำนี้จะคือระดับพระโสดาบัน เบื้องสุดคือเมื่อหมดเหตุคือหมดอวิชชาแบบจิตรู้อย่างแจ่มแจ้ง ผลก็ดับแบบสนิทเป็นนิพพานนั่นเอง) ดังนั้นเมื่ออินทรีย์ปัญญาแก่กล้าขึ้น ความเข้าใจเรื่องว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตนจะมากขึ้น อนัตตาเริ่มนำพาไปสู่สุญญตาที่แท้จริง ความจริงตอนเห็นอนัตตาก็คร่อมไปมาอยู่แล้วแต่ต่างกันตรงยังมีเหตุเกิดอยู่ ถึงจะไม่มีตัวตนก็เถอะ

อริยบุคคลตั้งแต่โสดาบันไปจนถึงพระอนาคามีจึงเห็นความว่างจากตัวตนมากขึ้นตามลำดับ ชำระได้มากขึ้นตามลำดับ รู้แจ้งอริยสัจ 4 ขึ้นตามลำดับ เกิดญาณทัสนะขึ้นตามลำดับ

โลกนี้ว่าง….ก็ช่างหัวโลกมันปะไร (จะไปรู้มันทำไม) เพราะทันทีที่รู้ก็เกิดเรา (รู้) หมดรู้หมดเรา ไม่มีเรา ไม่รู้แต่ธาตุรู้ใหม่กลายเป็นธาตุรู้แท้ วิมุตติญาณทัสนะ ละความเห็นถูกลงด้วยตรงนี้


เขียนเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2554


รู้แล้วดับ รู้แล้วไม่ดับ แล้วไม่รู้ดับไหม

รู้แล้วดับ เช่น กำลังหงุดหงิดอยู่ เกิดสติระลึกขึ้นมาว่า อกุศลเกิด เพราะอกุศลเล็กน้อย หรือกำลังความตั้งมั่นดี อกุศลดับวับลงไป

เหตุการณ์แบบเดียวกัน เกิดแบบเดียวกัน เที่ยวนี้ไม่ดับ เพราะความยึดติดในสิ่งนั้นสูงกว่าเดิม หรือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเรา คราวนี้ไม่ดับ

ถามจริงๆ เถอะว่า อกุศลดับเองได้ไหม? คนที่เขาไม่ปฏิบัติไม่เข้าไปรู้น่ะ ทุกข์เขาดับเองหายเองได้เหมือนกันใช่ไหม? สรรพสิ่งในโลกเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปอยู่แล้ว เราแค่ไปสังเกตเห็นธรรมชาตินี้เท่านั้นเองเพื่อให้เกิดความเข้าใจ แต่ยังไม่มีการเข้าไปจัดการต้นเหตุเลยนะ แล้ว “รู้” ทำไมหรือ? การรู้ในสติปัฏฐาน 4 นั้นจริงๆ พระพุทธเจ้าใช้คำว่า เป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ (เวทนา จิต ธรรมก็เช่นเดียวกัน) หากการรู้นั้นเป็นไปเพื่อความเข้าใจดังกล่าวว่า สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา จิตจะปล่อยความยึดถือ (สุญญตา)

ดังนั้นเวลารู้ ระวังเพิ่มความยึดถือในรู้ เพราะเหมือนเอาของอร่อยให้กินแต่บอกว่าอย่าติด มันไม่ง่ายนัก พระพุทธเจ้าจึงตั้งสติอยู่ที่ฐานกาย เรียกกายคตาสติ โดยมีสติสัมปชัญญะตั้งไว้ที่รูปขันธ์ เกิดผลเป็นอุเบกขา จิตจะตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เห็นว่าสิ่งทั้งปวงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นอนิจจัง สิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปนั้น มีสภาพที่รูปนามนั้นพยายามที่จะรักษาตัวเองให้เสถียร แต่มันทำไม่ได้ มันจึงก่อให้เกิดเป็นภาพทุกข์ (ไม่มีผู้ทุกข์) สิ่งเกิด-ดับ เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน เป็นไปตามเหตุปัจจัย เรียก อนัตตา ดังนั้นระลึกแล้วก็ละมาอยู่กับกายไว้ ที่ง่ายที่สุดก็ลมหายใจนั่นล่ะ

ดังนั้นหากนั่งเฝ้าดูอยู่อย่างนี้อย่างเดียว อารมณ์ต่างๆ ที่เป็นผลมาจากความไม่รู้นั้นจะหายไปหมดไปเมื่อไหร่ เพราะต้นตอไม่ถูกชำระให้เบาบาง นั่นคืออาสวะที่หมักดองมาจนเป็นสันดาน พอมีสิ่งกระทบทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ทางจมูกก็ดี เป็นต้น เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็หลง นั่งเฝ้าดูมันเกิดขึ้น ดับไป เมื่อไหร่หมด วิธีนี้เขาใช้สังเกตเพื่อให้เห็นว่า สิ่งเกิดดับเป็นทุกข์และในที่สุดให้เห็นว่าไม่มีตัวตนเป็นอนัตตาในสัมมาสติ จะถอดถอนความเห็นผิดที่ไปยึดขันธ์ 5 เป็นตัวตน ปล่อยได้ (ถาวร) เป็นพระอรหันต์

การจะทำให้อกุศลเบาบางหรือการทำลายอาสวะนั้นหลักๆ ใช้มรรคองค์ที่ 6 คือสัมมาวายามะ ความเพียรชอบ ข้อนี้เป็นขวานหรือจอบ ถากถางอาสวะออกไปมากๆ ก่อน แล้วค่อยแต่งเล็มกิ่ง จะถากถางก็ดี จะแต่งเล็มกิ่งด้วยสัมมาสติ ถ้าจะให้ดีต้องมีกำลังสัมมาสมาธิด้วย

ดังนั้นอย่าเอาคัตเตอร์ไปตัดต้นปาล์ม ต้องรู้จักใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสมในแต่ละเวลา ไม่ใช่มาทำทีละอย่าง ทำไปพร้อมๆ กันนั่นล่ะ แต่ต้องมีปัญญาอันยิ่ง แล้วจะเข้าถึงอริยสัจ แต่ผู้ที่ไม่ปฏิบัตินั้นที่ว่าหายเองได้ก็เพราะทุกข์นั้นมีเหตุให้เกิดก็เกิด หมดเหตุก็ดับ เดี๋ยวก็มีเหตุเกิดอีกไม่สิ้นสุด เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นมาก็ส่งผลเป็นการสร้างกรรมทั้งดีและไม่ดี ส่วนมากมันจะไม่ดีทั้งนั้น ก็จึงไปสร้างภพภูมิอันเป็นสุขเป็นทุกข์ไม่สิ้นสุด แต่การเจริญมรรคนั้นละเหตุเกิด อกุศลดับไปหมด กุศลนั้นทำตลอดไปและมากขึ้นไม่มีประมาณ เพราะไม่ได้ทำเพื่อตนเอง ถึงทำกุศลก็ไม่ยึดถือในกุศล ไม่อย่างนั้นทำกุศลก็ทุกข์เพราะกุศลอีก ถ้าไม่เดินตามมรรคอย่างฉลาด

เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าใจมรรคครบถ้วนแล้วจะฉลาดในการเดินทาง มรรคทั้งข้อ 6-7-8 นั้นรวมเรียกว่า “สมาธิ” ในไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) จริงๆ แล้ว มรรคองค์ 7 คือสัมมาสตินี่สุดยอด

แต่จะเรียนสุดยอดไวยากรณ์โดยไม่ท่องศัพท์เลยก็เหนื่อยนะ แถมจะเนิ่นช้าด้วยสิ


เขียนเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2554


ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งทุกข์ ที่มีกามตัณหาเป็นมูล 9 อย่าง

เมื่อเกิด ตัณหา จึงเกิด การแสวงหา
เมื่อเกิด การแสวงหา จึงเกิด การได้
เมื่อเกิด การได้ จึงเกิด ความปลงใจรัก
เมื่อเกิด ความปลงใจรัก จึงเกิด ความกำหนัดด้วยความพอใจ
เมื่อเกิด ความกำหนัดด้วยความพอใจ จึงเกิด ความสยบมัวเมา
เมื่อเกิด ความสยบมัวเมา จึงเกิด ความจับอกจับใจ
เมื่อเกิด ความจับอกจับใจ จึงเกิด ความตระหนี่
เมื่อเกิด ความตระหนี่ จึงเกิด การหวงกั้น
เมื่อเกิด การหวงกั้น จึงเกิด การมีเรื่องราวจากการหวงกั้น (การทะเลาะเบาะแว้ง)
(อริยสัจจากพระโอษฐ์ หน้า 366 เรื่องสปกิณกะทุกข์)

เมื่อมีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัยสิ่งนี้ๆ จึงเกิดขึ้น การจะดับอะไร ต้องไปดับที่เหตุ ในกรณีนี้เหตุที่ต้องดับคืออะไร?…คือตัณหา ดับตัณหาทำอย่างไร?…ดับความยินดีพอใจ (เวทนา) จะดับเวทนาก็ต้องดับผัสสะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสติไว้ ให้บ่อยให้ถี่ จนพบสมดุลของน้ำหนัก แล้วจะสบายไม่เป็นภาระ


เขียนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553


ไก่กับไข่

ไก่เกิดก่อนไข่หรือไข่เกิดก่อนไก่ ตาเกิดก่อนทุกข์หรือทุกข์เกิดก่อนตา หูเกิดก่อนทุกข์หรือทุกข์เกิดก่อนหู

เพราะมีตาจึงมีทุกข์…เพราะมีทุกข์จึงมีตา
เพราะมีหูจึงมีทุกข์…เพราะมีทุกข์จึงมีหู
เพราะมีจมูกจึงมีทุกข์…เพราะมีทุกข์จึงมีจมูก
เพราะมีลิ้นจึงมีทุกข์…เพราะมีทุกข์จึงมีลิ้น
เพราะมีกายจึงมีทุกข์…เพราะมีทุกข์จึงมีกาย
เพราะมีใจจึงมีทุกข์…เพราะมีทุกข์จึงมีใจ

ใครเกิดก่อนใครกัน?
เพราะมีอวิชชาจึงมีทุกข์ เกิดวิชชาหมดทุกข์
ถึงมีตาก็ไม่มีทุกข์…เมื่อไม่ทุกข์ก็ไม่สร้างตา
ถึงมีหูก็ไม่ทุกข์…เมื่อไม่ทุกข์ก็ไม่สร้างหู
ถึงมีจมูกก็ไม่ทุกข์…เมื่อไม่ทุกข์ก็ไม่สร้างจมูก
ถึงมีลิ้นก็ไม่ทุกข์…เมื่อไม่ทุกข์ก็ไม่สร้างลิ้น
ถึงมีกายก็ไม่ทุกข์…เมื่อไม่ทุกข์ก็ไม่สร้างกาย
ถึงมีใจก็ไม่ทุกข์ (วิสังขาร)…เมื่อไม่ทุกข์ก็ไม่สร้างใจ (มนสังขาร)

เพราะมีอวิชชาจึงเป็นเหตุเกิด เมื่อหมดอวิชชา (หมดเหตุ) ผล (ทุกข์) จึงดับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ใช่เรา เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติเพราะมีเหตุปัจจัยให้เกิดจึงมีขึ้น หมดเหตุก็ดับไป…(แต่ไม่ดับสูญ…ดับลงเพราะไม่ยึดถืออีก จิตเมื่อยึดถือเรียกว่า “จิต” เมื่อหมดความยึดถือ (ในขันธ์ 5) จึงไม่เรียกว่าจิตอีกเพราะไม่สมฐานะ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “จิตเดิมแท้ จิตหนึ่ง จิตโมกข์ จิตเกลี้ยง…”

พุทโธ ธัมโม สังโฆ…นิพพาน นิพพาน


เขียนเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2554


นรก สวรรค์ นิพพาน

อันธรรมดาคนตาบอดหัวดื้อ ย่อมปฏิเสธดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ เพราะถือว่าตัวเองมองไม่เห็น แสดงว่าไม่มี
ส่วนคนตาดี มองเห็นดวงจันทร์ยามค่ำคืนสุกสว่างเย็นตา เห็นดวงอาทิตย์สาดส่องแสงสว่างเจิดจ้าแจ่มใสอยู่ทุกวี่วัน
เหตุฉะนี้! เราจะเชื่อใครดี ระหว่างคนตาบอดกับคนตาดี
เฉกเช่นเดียวกับเรื่องนรกสวรรค์ ซึ่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งแทงตลอดด้วยพระองค์เอง
ส่วนปุถุชนผู้มืดบอดด้วยอวิชชา หลงติดในเหยื่อกามคุณ มองไม่เห็นนรก-สวรรค์ เพราะตนเองไม่สามารถมองเห็นได้ จึงสรุปว่าสนรก-สวรรค์ไม่มี
(ที่มา: ปกในหนังสือ “นรกสวรรค์เราเลือกได้”)

ใจเร่าร้อนอยู่ เผารนอยู่ยังไม่รู้ แล้วประสาอะไรจะรู้นรกสวรรค์ ถ้ารู้จักสวรรค์จะรู้จักนรก ถ้ารู้จักนรกจะรู้จักสวรรค์ เมื่อรู้จักทั้งนรกสวรรค์แล้วจะไม่ยึดถือเลย เพราะล้วนเกิดๆ ดับๆ ไม่มีตัวตนอะไร ไม่เห็นมีอะไรน่าเอาน่าเป็นสักอย่าง เมื่อนั้นจักรู้จักนิพพาน

ตถาคตไม่เคยเห็นใจของปุถุชนไม่มีความทุกข์แม้แต่สักขณะจิตเดียว จะเห็นก็มีเพียงแต่พระอรหันต์ขีณาสพเท่านั้นที่ไม่มีความทุกข์

ตกลงที่ผ่านมานั้น เรารู้ถูกหรือรู้ผิด หรือว่าสุข ทุกข์ เฉยๆ นั้นเป็นทุกข์ทั้งหมด? สิ่งเกิดดับเป็นทุกข์ สิ่งเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ว่างจากตัวตน แปลว่าเกิดขึ้นเองตามเหตุปัจจัย ไม่มีผู้กระทำ ไม่มีผู้ถูกกระทำ วันนี้เราสร้างทั้งผู้กระทำและมีผู้ถูกกระทำขึ้นในใจเรา เพราะเราไม่รู้อริยสัจ เพราะเราไม่รู้อริยสัจเราจึงเห็นผิด เมื่อเห็นผิดแปลว่าไม่เห็นถูก (มิจฉาทิฏฐิ) เพราะถ้าเห็นถูกก็เป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะถ้ามีสัมมาทิฏฐิจะรู้แจ้งอริยสัจ เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจะเป็นวิชชา เมื่อเกิดวิชชาก็ไม่เป็นอวิชชา เมื่อวิชชาก็วิมุตติ เมื่อวิมุตติจะเกิดวิมุตติญาณทัศนะ ไม่ใช่วิญญาณไปรู้ ไม่ใช่ผู้รู้แบบที่เราเข้าใจ เกิดเป็นสัมมาญาณ จึงเกิดสัมมาวิมุตติ เกิดเฉพาะที่พระอรหันต์เท่านั้น วิญญาณขันธ์ไปเข้าไปตั้งอาศัยในขันธ์อื่นๆ ให้เป็นอารมณ์ นั่นจึงว่างสงบเย็น

วิญญาณดับคือที่สุดแห่งทุกข์ วิญญาณดับเพราะสังขารดับ สังขารดับเพราะอวิชชาดับ เมื่อวิญญาณดับนั่นจึงเป็นเพราะอวิชชาดับ เมื่ออวิชชาดับสนิท จิตไม่หยิบฉวยขันธ์ขึ้นมาอีกเพราะเห็นว่าขันธ์ 5 เป็นทุกข์ วิญญาณดับจึงไม่เกิดเป็นอารมณ์ เกิดภาพรู้แจ้งเห็นจริงเป็นวิมุตติญาณทัศนะ เป็นสัมมาญาณ

เดินตามทางแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้เป็นสัพพัญญู เป็นผู้รู้มรรค-มรรคัญญู เป็นผู้แจ้งมรรค-มรรควิฑู เป็นผู้ฉลาดในมรรค-มรรคโกวิโท ส่วนพระอรหันต์ทั้งหลายและเหล่าสาวกทั้งหมดเป็นผู้เดินตามมรรค-มัคคานุคา


เขียนเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2554


เราไม่เคยฟังใคร

ไม่ว่าจะการฟังธรรมก็ดี การฟังครูอาจารย์ เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย ลูกน้องที่พูดกับเรา เราไม่ได้ฟังเขาเลย เพราะในทุกครั้งที่เราฟัง จะมีสิ่งๆ หนึ่งเป็นตัวกลั่นกรองการรับรู้เสมอ สะท้อนออกมาในรูปของ “เสียงพูดเล็กๆ ในหัว”

เวลาเราไปเข้าคอร์สฟังธรรม ไม่ว่าใครจะแสดงก็ตาม เจ้าเสียงเล็กๆ ในหัวก็จะพูดว่า “เฮ้อ…เรื่องนี้อีกแล้ว รู้แล้ว เคยอ่านมาก่อน โธ่เอ้ย…พูดแต่เรื่องนี้ เดี๋ยวหาทางออกไปเข้าห้องน้ำดีกว่า…” สักพักเมื่อสบช่องท่านก็ลุกออกไป

เห็นไหมว่าในทุกๆ ครั้ง ท่านจะถูกกระบวนการกลั่นกรองโดยอะไรสักอย่างให้ท่านทำสิ่งนั้นสิ่งนี้มาตลอด สิ่งนั้นไม่ใช่ว่าจะไม่ดีอย่างเดียวนะ ดีๆ ก็มี แต่ส่วนใหญ่จะน้อยกว่า แล้วสิ่งนี้ที่บงการชีวิตเราอยู่นั้น ลองคิดง่ายๆ ว่า ถ้าเขาเป็นคนเถื่อนคนไม่ดี เขาจะบงการชีวิตเราไปอย่างไร เสมือนเราอาศัยรถยนต์คันที่คนขับเป็นคนเจ้าอารมณ์ฉุนเฉียว คอยด่า ไล่ปาดหน้า แก้แค้นเอาคืนทุกคันที่ผ่านมาผ่านไป ท่านจะนั่งเป็นสุขหรือ

เชื่อไหมว่าท่านกำลังนั่งอยู่พาหนะแบบนั้น แต่ท่านไม่รู้ นึกว่า แบบที่กำลังนั่งอยู่นี่แหละโอเค คันไหนๆ เขาก็เป็นกันอย่างนี้ล่ะ “นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ หนอนไม่เห็นคูถ (ขี้)” หากเราไม่กลับเข้ามาสังเกตที่กาย-ใจเราบ่อยสๆ เนืองๆ เราจะไม่เห็นเลย เพราะอะไรหรือ? เพราะอำนาจความเคยชินปิดบังไว้

ดังนั้นเมื่อเรายังไม่สามารถจะเห็นความจริงได้ ท่านจึงให้หลักยึดไว้

ละความชั่ว…คือถือศีล 5 ไว้ (ในศีล 5 ข้อนั้น เป็นข้อย่อยในมรรคข้อที่ 3-4-5 ด้วยวัตถุประสงค์ในการดูแลกายกับวาจา) แล้วเราจะไม่ก่อเวรกรรมกับใครๆ เพราะทางกายและวาจา ก่อนจะถือศีลนั้นควรจะตั้งความปรารถนาตั้งใจในการไม่มุ่งร้ายไม่เบียดเบียนใครๆ นั่นคือสัมมาสังกัปปะ มรรคข้อที่ 2 คือดำริชอบ

ทำความดี ฝึกฝนการเป็นผู้ให้ทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ทุกวัน ทุกเวลา หรืออย่างน้อยเท่าที่ทำได้ก็ยังดี ให้ตั้งความปรารถนากับตนเองไว้ว่าเราจะทำประโยชน์ให้เพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายทุกๆ วัน ทำได้ตลอดเวลา บางทีเศษอาหารในจานที่เราทิ้งไป นั่นต่อชีวิตสัตว์มากมายที่กำลังหิวโหยนะ แล้วจิตใจเราจะเปี่ยมไปด้วยความเป็นผู้ให้

เมื่อศีลบริบูรณ์ ไม่ทำบาปอกุศล เรื่องร้ายๆ จะลดลง (เหลือแต่วิบากเก่าที่ทำมาแล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่สาระอะไร อะไรจะเกิดก็เกิด ไม่หมุนต่ออีกแล้ว) อกุศลละไป ทำกุศลเข้าไว้ (สัมมาวายามะ มรรคข้อ 6) ทำความดีให้กับเพื่อนมนุษย์ รวมถึงสรรพสัตว์ทุกภูมิ จากนั้นจะพบว่า จิตใจที่เป็นทุกข์ทนยากอยู่ทุกวันนี้ ยังคงมีอยู่ แล้วจะพบโจรชั่วที่สั่งผ่านเสียงเล็กๆ ทำให้ใจรุ่มร้อนก็คือ อวิชชา เครื่องเสียดแทงไม่ได้สิ้นสุด

การเข้าไปสังเกตที่กาย-ใจบ่อยๆ จะทำให้สัมมาสติเกิด นี้คือมรรคข้อที่ 7 สัมมาสติคืออะไร

สำหรับผู้ปฏิบัติ ในกรณีแรก ต้องหมั่นรู้ไว้บ่อยๆ วันข้างหน้าจะเตือนเร็วขึ้น ข้อ 2 เมื่อสติระลึกแล้วไม่ดับ เพราะมันเลยเข้าไปสู่ตัณหาแล้ว นั่นประการแรก หรือไม่อีกประการคือ ความตั้งมั่นของจิตมีกำลังอ่อน ซึ่งความตั้งมั่นจะเกิดขึ้นได้จาก 2 เหตุ หนึ่ง ฝึกสติไปเรื่อยๆ ความตั้งมั่นจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สอง ทำสมาธิไปเรื่อยๆ บ่อยๆ ทั้งรูปแบบและในชีวิตประจำวัน (แค่สังเกตลมหายใจไว้เวลาที่ว่าง) แล้วนำมาผสมผสานกับการสังเกตความรู้สึก ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นลับมีดจนคมแต่เอามาใช้ตัดอะไรไม่เป็นก็เลยคมอยู่ในฝักเฉยๆ เพียรขัดใจ ไม่ตามใจกิเลสไว้บ้างนะ เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่เห็นการยึดติด การเผลอเพลิน

เมื่อทำอย่างนี้ได้ จะพบเคล็ดลับที่ไม่ลับว่าพอรู้อารมณ์แล้ว ทุกข์ เป็นเพราะวิญญาณเข้าไปตั้งในอารมณ์ เกิดภพขึ้นมา เพราะภพเป็นสมุทัย พระพุทธเจ้าเปรียบภพเหมือนคูถ แม้เพียงน้อยก็เหม็นมาก ไม่มีประโยชน์ใดเลยที่จะเลี้ยงไว้ ให้เราทิ้งอกุศลคือภพ แล้วไปเจริญกุศลเลย ง่ายๆ ก็กลับมาอยู่กับลมหายใจ ลมหายใจไม่ใช่เรื่องเล็กๆ นะ ท่านใช้คำว่า “ตถาคตวิหารและอริยวิหาร” เลยทีเดียว นี่ก็คือสัมมาวายามะ มรรคข้อที่ 6 ละอกุศล เจริญกุศลนั่นเอง จิตต้องฝึกก่อนนะ วันข้างหน้าเขาจะรู้จะละจะปล่อยวางจะวางอุเบกขาได้เอง ช่วยเขาหน่อย ถึงตรงนี้ ชำระจิตใจจะขาวรอบ

วันนี้เราจึงต้องเข้ามาศึกษา ฝึกปฏิบัติ เข้าคอร์สต่างๆ จุดมุ่งหมายก็คือจัดการกับตัณหาเครื่องพาเกิดนี่ล่ะ แล้ววันนั้นสัมมาทิฏฐิจะเกิด คือการรู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เพราะเราเจริญมรรคนั่นเอง

เบื้องต้นคงได้แต่ดูเขาตาปริบๆ “ทำไมไม่ดับ…ทำไมไม่ดับ…” โธ่..เลี้ยงเขา ให้อาหารเขาทุกวันตลอดเวลา อุปมาดังได้ลูกเสือมาแล้วไปซื้อเนื้อมาตั้งไว้ให้เสือกิน เช้าเปิดกรงเอาอาหารใส่ บ่ายบ่นว่าทำไมมันไม่ตายเสียที มันสร้างความเดือดร้อนเหลือเกิน แล้วเช้าก็ไปหาอาหารมาใส่อีก…มันจะตายไหมล่ะ ตอนนี้อย่างไรก็ฆ่าไม่ได้ แต่การจัดการต้องใช้ปัญญา ศึกษาเขาก่อน แล้วอยู่กับเขาแบบเขาทำอะไรไม่ได้ จนสุดท้าย เสือขอลาจากไปเอง โกรธแต่ไม่แสดงออกทางกายทางวาจา นั่นดีมากแล้ว จากนั้นในระดับของใจ ไม่คร่ำครวญ พร่ำเพ้อละเสียให้เงียบ ทำแบบนี้มากๆ เดี๋ยวจะเห็นการเปลี่ยนแปลงแน่นอน

วิชชาและวิมุตติ เกิดจากปัญญานะ เห็นรึยังว่าอริยมรรคมีองค์ 8 เริ่มต้นจากพื้นฐานการใช้ชีวิตปรกติ ไปจนถึงแจ้งในนิโรธสูงสุดเลย

“ภิกษุทั้งหลาย!…การไม่สำรวมอินทรีย์บริบูรณ์แล้ว ย่อมทำทุจริต 3 ประการให้บริบูรณ์ (ทุจริตทางกาย-วาจา-ใจ)

ทุจริต 3 บริบูรณ์แล้ว ย่อมทำนิวรณ์ 5 ประการ (สิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม 1. กามฉันทะ—ความพอใจในกาม 2. พยาบาท—ความคิดร้าย ความขัดเคืองแค้นใจ 3. ถีนมิทธะ—ความหดหู่ เซื่องซึม 4. อุทธัจจะกุกกุจจะ—ความฟุ้งซ่าน ร้อนใจ 5. วิจิกิจฉา—ความลังเลสงสัย) ให้บริบูรณ์

นิวรณ์ 5 ประการบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำอวิชชา (ความไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้หนทางให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์) ให้บริบูรณ์
อวิชชาบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำตัณหาให้บริบูรณ์…ภิกษุทั้งหลาย อาหารแห่งภวตัณหา ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้และบริบูรณ์ด้วยอาการอย่างนี้

(อริยสัจจากพระโอษฐ์ หน้า 314 ปัจจัยแห่งภวตัณหา)


เขียนเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2553


เหตุที่ใจไม่สงบ

ใจไม่สงบ มีเหตุหลักให้สังเกตได้เอง เช่น เวลาภาวนาแล้วฟุ้งซ่านอย่างที่ชอบบ่นกัน
  1. ติดในกามคุณ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่จิตไปยึดติดไว้ แว้บเข้ามาเรื่อยๆ ได้มือถือใหม่ มันก็วุ่นคิดแต่มือถือ ได้รถใหม่ มันก็แว้บไปไม่หยุด ชอบฟังเพลงนั้นเพลงนี้ ประเภทที่ชอบกินนั่นกินนี่ มันมารบกวนใจกันเพียบ บางทีลากไปเปิดตู้เย็นเลย กว่าจะรู้ตัวก็กินอิ่มไปแล้ว
  2. ความทุกข์ อกุศลจิตจากการทำผิดศีล ที่ทำผิดไว้นี่มากันจัง รู้ลมก็ไม่ไหว ใจเย็นๆ มองให้เห็นความจริง ถอยออกมาก้าวหนึ่ง เห็นว่ามันมีเหตุเกิดก็เกิด เรื่องจบแล้ววิบากทางใจยังเกิดอยู่ ละอารมณ์เสีย วางทุกข์แล้วอยู่กับอุเบกขา ยากหน่อยแต่ทำไปเป็นแบบฝึกหัด แล้วจะเกิดปัญญาว่าทำไปแล้วเป็นทุกข์ ทีหลังจะย้อนกลับมาเป็นอินทรีย์สังวรณ์ศีล เป็นศีลที่เกิดจากปัญญา
  3. อกุศลจากการสั่งสมมาแต่เดิมที่จะผุดออกมาเป็นระยะๆ นี่เป็นอาสวะเครื่องหมักดอง ต้องละอกุศลเจริญกุศลเบียดเข้าไปจนมันจางลง ทำในใจไว้ซึ่งอริยสัจ ให้เห็นว่านี้ทุกข์ มีทุกข์เพราะมีเหตุ การภาวนาอย่างนี้คือมรรค แล้ววันหนึ่งจะเกิดนิโรธ ไปเรื่อยๆ เป็นขณะจนถึงที่สุด

ทางแก้ก็อยู่ในมรรคมีองค์ 8 อยู่แล้ว
  1. เนกขัมมะออกจากกาม เพื่อให้เห็นว่าเราติด เพื่อให้พรากจะเห็นโทษ สุดท้ายเห็นมันเกิดดับไม่มีตัวตนแล้วปล่อยวางในที่สุด มันแค่ชอบเสพใจที่วูบวาบแค่นั้น แม้จะวางยังไม่ถึงที่สุด แต่ก็เพียงพอให้เดินทางได้สะดวกแล้ว
  2. ถือศีลไว้ จนถึงระดับที่ไม่ใช่แค่ไม่ฆ่าหรือเบียดเบียน แต่เต็มไปด้วยการให้ตลอดเวลา ไม่หวังสิ่งตอบแทน ติดกุศลไว้ มีความสุขกับกุศลไว้ ส่วนข้ออื่นก็พิจารณาเอาเอง
  3. ละอกุศลในใจให้ไวๆ แล้วเจริญกุศลรู้ลมแทน
ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอุเบกขาสุข จนเหลืออุเบกขาในที่สุด มีความสุขสงบโดยไม่ต้องอาศัยใครหรือปัจจัยใดๆ เงินเหลือก็ให้คนอื่นไปทำประโยชน์ ไม่มีข้อไหนที่บอกให้หยุดทำงานเลย เป็นพระก็ทำหน้าที่ของพระ เป็นใครก็ทำหน้าที่ของใคร ส่วนธรรมะอยู่ตรงที่การกระทำแล้วไม่เกิดเป็นอกุศลกรรม ใจเป็นสุขแม้จะไปสร้างวิบากในส่วนสุคติภูมิก็เถอะ แต่เรามีปัญญากำกับเสมอว่า ไม่ว่าสุขเองก็เกิดดับ ไม่ยึดถือ สุดท้ายก็อยู่เหนือเหตุที่ทำไปเอง ผลก็ไม่เอามาเป็นของเรา เป็นธรรมชาติอย่างนั้นเอง

ไปเอาไปยึดมันทำไม ก็แค่ของเกิด-ดับ เข้าใจได้ถอดถอนได้เมื่อไหร่ ก็จบกัน…หมดเหตุเกิด


เขียนเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554


คนเราฟังธรรมเฉพาะที่เราชอบ

เพราะจะฟังแต่ที่ชอบ เลยไม่เพิ่มพูนความรู้ ธรรมะในระดับหลุดพ้นฟังยาก เพราะมันสวนกระแสคน ละกามอยู่สงบไม่วุ่นวาย ใครล่ะจะชอบ มีแต่คนชอบสนุก ชอบมันส์ๆ แล้วจะพบนิพพานกันได้อย่างไร เพราะแค่นิพพานชิมลางนั้นในเบื้องต้นคือปฐมฌาน คุณสมบัติของปฐมฌาน สงัดจากกาม สงัดจากธรรมอันเป็นอกุศล เมื่อสงัดจากสองสิ่งนี้ จิตจะสงบจากตัณหา ที่ๆ สงบระงับจากตัณหานั่นเองที่เป็นนิพพานแม้จะชั่วคราวก็ตาม

ข้างนอกไม่เคยสงบหรอก โลกนี้มันเคลื่อนไหวตลอด (มันเป็นธรรมชาติ) แต่ข้างในสิ สงบได้แน่ๆ อาศัยการฝึก รู้ลมไว้ (จะว่าลมก็ไม่ใช่ของเรา มันเกิดขึ้นเพราะมีเหตุแห่งรูปนามที่พยายามดิ้นรนเหลือเกินที่จะรักษาสถานภาพคือชีวิตนี้ไว้ เขาเรียกสภาพทุกข์ แต่ไม่มีผู้ทุกข์ แล้ววันๆ นี้ใครทุกข์ใครสุข ใครนั้นมีได้เพราะหลงผิดไปสร้างเราปลอมๆ เปล่าๆ ปลี้ๆ สร้างเองทุกข์เอง จะให้ว่ายังไง)


เขียนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2554


ลอกขนมชั้น

ขนมชั้นนี้อาศัยความเพียรอันถูกต้อง อาศัยสติอันถูกต้อง อาศัยสมาธิอันถูกต้องเป็นเครื่องมือลอกออก


ขั้นตอนแรก

ลอกความเห็นผิดในตัวตน ตัวกูที่หลงสร้างขึ้นมา ใครด่า “กู” ถ้าแฟนทำให้โกรธ เขาต้องมาขอโทษ “กู” ไม่อย่างนั้น “กู” ไม่ยกโทษให้ วันไหนสิวขึ้น ฝ้าขึ้นเป็นทุกข์มาก เพราะมันขึ้นหน้า “ของกู” ไม่เห็นอนิจจัง ไปหลงสร้างตัวตนบุคคลเราเขาอย่างหยาบมากขึ้นมา นี่เป็นชั้นโลกียะเลย นี่เป็นเหตุให้ทุกข์ ทุกข์ทุกประเภทเกิดได้หมดแถมเกิดได้ทุกขณะเพราะเป้าใหญ่เหลือเกิน ลอกระดับนี้ลอกออกได้ตอนเป็นพระโสดาบัน แต่ในขณะปฏิบัติเริ่มเห็นความจริงแล้วว่า เป็นการทำงานของรูป-นามในบางขณะจิต ซึ่งจะสั่งสมความเห็นถูกอย่างนั้นไปเรื่อยๆ ความจริงเขาก็เกิดดับอยู่ทุกวินาที ไม่เคยมี “กู” เลย แต่เพราะไปหลงยึดรูปธรรม นามธรรมจึงบดบังสิ่งที่อยู่ต่อหน้าต่อตานี่เอง ไม่รู้จะว่าอย่างไร


ขั้นตอนที่สอง

เมื่อละความเห็นผิดในตัวตนบุคคลเราเขาลงได้ ทุกข์ก็ไม่ได้หมดไป เพราะความที่ไปหลงยึดมีอุปาทานในขันธ์ 5 อยู่ ยังเห็นขันธ์ 5 เป็นของเรา แต่สลับด้วยการเห็นความจริงของปฏิจจสมุปบาทไปไม่ขาดสาย จิตจึงพิจารณาธรรมอยู่ตลอดเวลา เห็นทั้งส่วนปล่อยและส่วนยึด เมื่อปล่อยมากกว่า กำลังในการสร้างปัญญาความเห็นถูกก็มากขึ้น จนสามารถเข้าใจได้ว่า เพราะสภาพรู้ที่ถูกครอบงำด้วยอวิชชานั้น สภาพรู้จึงเป็นของหนัก เห็นการเกิดดับของขันธ์ทั้ง 4 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร ชัด แต่ด้วยความที่ใช้วิญญาณซึ่งแนบกันกับจิตเหมือนทิชชูแผ่นเดียว (แต่มีสองชั้น) จึงเห็นการเกิดดับในขันธ์ชัด แต่ไม่เห็นวิญญาณคือตัวเองเกิดดับ

เริ่มเข้าใจได้ว่า เพราะสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัยสิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เห็นว่าเมื่อมีปัจจัยให้เกิดก็เกิด หมดปัจจัยก็ดับไป เข้าใจความไม่มีตัวตน (อนัตตา) ได้มากขึ้นเรื่อยๆ เข้าใจปฏิจจสมุปบาทจากญาณทัสนะของตน ความตั้งมั่นสูงขึ้นมาก ก้าวเข้าสู่ความเป็นอริยบุคคลขั้นสูงขึ้นไป ใกล้จะละกิเลสังโยชน์ได้อีกขั้นเพราะเห็นจริงมากขึ้น


ขั้นที่สาม

เพราะเมื่อความตั้งมั่นสูงขึ้น ปัญญามากขึ้น จึงเห็นว่าการหลงยึดหรือเกิดราคะ (ยินดีพอใจ) หรือปฏิฆะ (ความไม่พอใจทั้งหลายมีเหตุมาจากการยึดถือที่สั่งสมมาสการติดรูปก็มาจากรสอร่อยทั้งหลายที่ใจไปหลงยึดเท่านั้น ผู้หญิงสวยก็สวยเพราะใจปรุงแต่งให้ค่า สิ่งนั้นดีสิ่งนี้ปราณีตก็เพียงจากใจไปปรุงแต่งให้ค่า จึงเกิดเป็นวิญญาณการรับรู้เป็นอารมณ์เป็นรูปเป็นขันธ์เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา เมื่อเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วจึงไม่หลงรูปหลงขันธ์อีก วิญญาณเริ่มดับ เมื่อวางลงปลงลง รูปทั้งหลายหมดสภาพความลวงที่จะทำให้เกิดความหลงใหล เห็นสภาพจริงตามจริง ทะเลก็คือน้ำกับทราย ภูเขาป่าไม้ก็มีดินมากองกันกับต้นไม้ ดีไหม? ดี ดีตามจริงของเขา ไม่ดีแบบที่เราปรุงแล้ว ตรงนี้เป็นอริยบุคคลขั้นสูงขึ้น แต่ยังทุกข์อยู่เพราะต้นเหตุแรกยังไม่ถูกจัดการ


ขั้นสุดท้ายเผด็จศึก

ทั้งสิ้นทั้งปวงเพราะความที่จิตเองซึ่งเป็นธรรมชาติแต่ไปยึดถือตัวจิตเองเป็นเราอยู่ สิ่งนี้เป็นเหตุหลักที่ก่อให้เกิดความทุกข์ลงมาจนถึงปุถุชน เมื่อเกิดการยึดถือตั้งแต่ธรรมชาตินี้ก่อตัวมาชาติแรก เกิดความหลงผิดยึดถือจนเหตุปัจจัยรุนแรงและทรงพลังมากขึ้นที่เรียกว่าการสั่งสมของอาสวะหมักดองมายาวนาน

แต่อริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งมีอานุภาพสูงมากสามารถชำระได้ในเวลาอันสั้น แบบเทียบกันไม่ได้กับเวลาที่สั่งสมมาเลยทีเดียว ไม่ว่าการสั่งสมจะมากมายเพียงใด มรรคจะค่อยๆ ลอกขนมชั้น กลับไปจนถึงการก่อกำเนิดของทุกข์ทั้งปวงได้

เมื่อถึงชั้นนี้ ด้วยเหตุที่จิตยึดถือตัวเองจึงเป็นผลให้เกิดเป็นสังโยชน์ 5 ที่ยังเหลืออยู่จากการยึดถือจิต ตรงนี้จิตจะต้องเห็นอริยสัจอย่างแจ่มแจ้ง วางความยึดถือตัวเองลงทั้งหมด จึงเกิดการสลัดคืน เกิดจิตผู้รู้ที่ไม่มีการเกิดดับ ไม่ต้องรักษา ไม่ต้องดูแล ไม่หลงสร้างความทุกข์ เกิดเป็นสัมมาญาณและสัมมาวิมุติขึ้น เพราะในการเดินทางมา เมื่อวางอุปาทานในขันธ์ลง วิญญาณดับนั้น ความที่จิตยังโง่ ไปหลงยึดว่านิพพานเป็นของเราอีก แต่เมื่อเกิดปัญญาสูงสุดจึงเกิดเป็นสัมมาวิมุติ จบกิจจบหน้าที่ ไม่มีใครต้องบอกใคร ไม่มีใครอยากจะรู้ “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ต้องทำได้ทำจบแล้ว กิจอื่นที่ต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก” ตามคำพระบรมศาสดา ทะเลก็คือทะเล อารมณ์อันวิจิตรก็มีของมันอยู่อย่างนั้น ไม่มีใครยึดถือ ก็ว่างแท้จริงเป็นธรรมชาติที่เป็นธรรมแท้

วันนี้เจริญมรรคนะ เพราะการเกิดทุกคราวเป็นทุกข์ร่ำไป


เขียนเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2554