เวลาเราไปเข้าคอร์สฟังธรรม ไม่ว่าใครจะแสดงก็ตาม เจ้าเสียงเล็กๆ ในหัวก็จะพูดว่า “เฮ้อ…เรื่องนี้อีกแล้ว รู้แล้ว เคยอ่านมาก่อน โธ่เอ้ย…พูดแต่เรื่องนี้ เดี๋ยวหาทางออกไปเข้าห้องน้ำดีกว่า…” สักพักเมื่อสบช่องท่านก็ลุกออกไป
เห็นไหมว่าในทุกๆ ครั้ง ท่านจะถูกกระบวนการกลั่นกรองโดยอะไรสักอย่างให้ท่านทำสิ่งนั้นสิ่งนี้มาตลอด สิ่งนั้นไม่ใช่ว่าจะไม่ดีอย่างเดียวนะ ดีๆ ก็มี แต่ส่วนใหญ่จะน้อยกว่า แล้วสิ่งนี้ที่บงการชีวิตเราอยู่นั้น ลองคิดง่ายๆ ว่า ถ้าเขาเป็นคนเถื่อนคนไม่ดี เขาจะบงการชีวิตเราไปอย่างไร เสมือนเราอาศัยรถยนต์คันที่คนขับเป็นคนเจ้าอารมณ์ฉุนเฉียว คอยด่า ไล่ปาดหน้า แก้แค้นเอาคืนทุกคันที่ผ่านมาผ่านไป ท่านจะนั่งเป็นสุขหรือ
เชื่อไหมว่าท่านกำลังนั่งอยู่พาหนะแบบนั้น แต่ท่านไม่รู้ นึกว่า แบบที่กำลังนั่งอยู่นี่แหละโอเค คันไหนๆ เขาก็เป็นกันอย่างนี้ล่ะ “นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ หนอนไม่เห็นคูถ (ขี้)” หากเราไม่กลับเข้ามาสังเกตที่กาย-ใจเราบ่อยสๆ เนืองๆ เราจะไม่เห็นเลย เพราะอะไรหรือ? เพราะอำนาจความเคยชินปิดบังไว้
ดังนั้นเมื่อเรายังไม่สามารถจะเห็นความจริงได้ ท่านจึงให้หลักยึดไว้
ละความชั่ว…คือถือศีล 5 ไว้ (ในศีล 5 ข้อนั้น เป็นข้อย่อยในมรรคข้อที่ 3-4-5 ด้วยวัตถุประสงค์ในการดูแลกายกับวาจา) แล้วเราจะไม่ก่อเวรกรรมกับใครๆ เพราะทางกายและวาจา ก่อนจะถือศีลนั้นควรจะตั้งความปรารถนาตั้งใจในการไม่มุ่งร้ายไม่เบียดเบียนใครๆ นั่นคือสัมมาสังกัปปะ มรรคข้อที่ 2 คือดำริชอบ
ทำความดี ฝึกฝนการเป็นผู้ให้ทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ทุกวัน ทุกเวลา หรืออย่างน้อยเท่าที่ทำได้ก็ยังดี ให้ตั้งความปรารถนากับตนเองไว้ว่าเราจะทำประโยชน์ให้เพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายทุกๆ วัน ทำได้ตลอดเวลา บางทีเศษอาหารในจานที่เราทิ้งไป นั่นต่อชีวิตสัตว์มากมายที่กำลังหิวโหยนะ แล้วจิตใจเราจะเปี่ยมไปด้วยความเป็นผู้ให้
เมื่อศีลบริบูรณ์ ไม่ทำบาปอกุศล เรื่องร้ายๆ จะลดลง (เหลือแต่วิบากเก่าที่ทำมาแล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่สาระอะไร อะไรจะเกิดก็เกิด ไม่หมุนต่ออีกแล้ว) อกุศลละไป ทำกุศลเข้าไว้ (สัมมาวายามะ มรรคข้อ 6) ทำความดีให้กับเพื่อนมนุษย์ รวมถึงสรรพสัตว์ทุกภูมิ จากนั้นจะพบว่า จิตใจที่เป็นทุกข์ทนยากอยู่ทุกวันนี้ ยังคงมีอยู่ แล้วจะพบโจรชั่วที่สั่งผ่านเสียงเล็กๆ ทำให้ใจรุ่มร้อนก็คือ อวิชชา เครื่องเสียดแทงไม่ได้สิ้นสุด
การเข้าไปสังเกตที่กาย-ใจบ่อยๆ จะทำให้สัมมาสติเกิด นี้คือมรรคข้อที่ 7 สัมมาสติคืออะไร
สำหรับผู้ปฏิบัติ ในกรณีแรก ต้องหมั่นรู้ไว้บ่อยๆ วันข้างหน้าจะเตือนเร็วขึ้น ข้อ 2 เมื่อสติระลึกแล้วไม่ดับ เพราะมันเลยเข้าไปสู่ตัณหาแล้ว นั่นประการแรก หรือไม่อีกประการคือ ความตั้งมั่นของจิตมีกำลังอ่อน ซึ่งความตั้งมั่นจะเกิดขึ้นได้จาก 2 เหตุ หนึ่ง ฝึกสติไปเรื่อยๆ ความตั้งมั่นจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สอง ทำสมาธิไปเรื่อยๆ บ่อยๆ ทั้งรูปแบบและในชีวิตประจำวัน (แค่สังเกตลมหายใจไว้เวลาที่ว่าง) แล้วนำมาผสมผสานกับการสังเกตความรู้สึก ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นลับมีดจนคมแต่เอามาใช้ตัดอะไรไม่เป็นก็เลยคมอยู่ในฝักเฉยๆ เพียรขัดใจ ไม่ตามใจกิเลสไว้บ้างนะ เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่เห็นการยึดติด การเผลอเพลิน
เมื่อทำอย่างนี้ได้ จะพบเคล็ดลับที่ไม่ลับว่าพอรู้อารมณ์แล้ว ทุกข์ เป็นเพราะวิญญาณเข้าไปตั้งในอารมณ์ เกิดภพขึ้นมา เพราะภพเป็นสมุทัย พระพุทธเจ้าเปรียบภพเหมือนคูถ แม้เพียงน้อยก็เหม็นมาก ไม่มีประโยชน์ใดเลยที่จะเลี้ยงไว้ ให้เราทิ้งอกุศลคือภพ แล้วไปเจริญกุศลเลย ง่ายๆ ก็กลับมาอยู่กับลมหายใจ ลมหายใจไม่ใช่เรื่องเล็กๆ นะ ท่านใช้คำว่า “ตถาคตวิหารและอริยวิหาร” เลยทีเดียว นี่ก็คือสัมมาวายามะ มรรคข้อที่ 6 ละอกุศล เจริญกุศลนั่นเอง จิตต้องฝึกก่อนนะ วันข้างหน้าเขาจะรู้จะละจะปล่อยวางจะวางอุเบกขาได้เอง ช่วยเขาหน่อย ถึงตรงนี้ ชำระจิตใจจะขาวรอบ
วันนี้เราจึงต้องเข้ามาศึกษา ฝึกปฏิบัติ เข้าคอร์สต่างๆ จุดมุ่งหมายก็คือจัดการกับตัณหาเครื่องพาเกิดนี่ล่ะ แล้ววันนั้นสัมมาทิฏฐิจะเกิด คือการรู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เพราะเราเจริญมรรคนั่นเอง
เบื้องต้นคงได้แต่ดูเขาตาปริบๆ “ทำไมไม่ดับ…ทำไมไม่ดับ…” โธ่..เลี้ยงเขา ให้อาหารเขาทุกวันตลอดเวลา อุปมาดังได้ลูกเสือมาแล้วไปซื้อเนื้อมาตั้งไว้ให้เสือกิน เช้าเปิดกรงเอาอาหารใส่ บ่ายบ่นว่าทำไมมันไม่ตายเสียที มันสร้างความเดือดร้อนเหลือเกิน แล้วเช้าก็ไปหาอาหารมาใส่อีก…มันจะตายไหมล่ะ ตอนนี้อย่างไรก็ฆ่าไม่ได้ แต่การจัดการต้องใช้ปัญญา ศึกษาเขาก่อน แล้วอยู่กับเขาแบบเขาทำอะไรไม่ได้ จนสุดท้าย เสือขอลาจากไปเอง โกรธแต่ไม่แสดงออกทางกายทางวาจา นั่นดีมากแล้ว จากนั้นในระดับของใจ ไม่คร่ำครวญ พร่ำเพ้อละเสียให้เงียบ ทำแบบนี้มากๆ เดี๋ยวจะเห็นการเปลี่ยนแปลงแน่นอน
วิชชาและวิมุตติ เกิดจากปัญญานะ เห็นรึยังว่าอริยมรรคมีองค์ 8 เริ่มต้นจากพื้นฐานการใช้ชีวิตปรกติ ไปจนถึงแจ้งในนิโรธสูงสุดเลย
“ภิกษุทั้งหลาย!…การไม่สำรวมอินทรีย์บริบูรณ์แล้ว ย่อมทำทุจริต 3 ประการให้บริบูรณ์ (ทุจริตทางกาย-วาจา-ใจ)
ทุจริต 3 บริบูรณ์แล้ว ย่อมทำนิวรณ์ 5 ประการ (สิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม 1. กามฉันทะ—ความพอใจในกาม 2. พยาบาท—ความคิดร้าย ความขัดเคืองแค้นใจ 3. ถีนมิทธะ—ความหดหู่ เซื่องซึม 4. อุทธัจจะกุกกุจจะ—ความฟุ้งซ่าน ร้อนใจ 5. วิจิกิจฉา—ความลังเลสงสัย) ให้บริบูรณ์
นิวรณ์ 5 ประการบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำอวิชชา (ความไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้หนทางให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์) ให้บริบูรณ์
อวิชชาบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำตัณหาให้บริบูรณ์…ภิกษุทั้งหลาย อาหารแห่งภวตัณหา ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้และบริบูรณ์ด้วยอาการอย่างนี้
(อริยสัจจากพระโอษฐ์ หน้า 314 ปัจจัยแห่งภวตัณหา)
เขียนเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2553
อวิชชาบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำตัณหาให้บริบูรณ์…ภิกษุทั้งหลาย อาหารแห่งภวตัณหา ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้และบริบูรณ์ด้วยอาการอย่างนี้
(อริยสัจจากพระโอษฐ์ หน้า 314 ปัจจัยแห่งภวตัณหา)
เขียนเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2553
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น