เปรียบเสมือนมีคนติดยา เสพยาก็บอกว่าเสพแล้วมีความสุข เอาคนเสพยามานั่งสมาธิ รู้ลมสอยู่กับปัจจุบัน คนติดยาก็เริ่มสับสนระหว่างความสุขที่ได้เสพยากับความสุขจากจิตตั้งมั่นว่าเป็นสุขอย่างเดียวกัน ต่อให้คนติดยาสามารถพบความสุขจากการนั่งสมาธิได้จริงเฉกเช่นพระสงฆ์องค์เจ้าผู้ปฏิบัติถูกต้องตามธรรมวินัยก็ตาม แต่ในที่สุดคนติดยาก็จะต้องโหยหายาเสพติดอยู่ดี เพราะเขาไม่เห็นว่าจะต้องเลิกยาไปทำไม เขาสับสนปนเปกันระหว่างความสุขทั้ง 2 อย่าง จริงๆ อย่างหนึ่ง “สุก” อีกอย่างหนึ่ง “สุข” เลยขอเอาความสุขทั้ง 2 อย่างเลยดีกว่า
ในเมื่อคนติดยาสามารถหายาเสพติดมาเสพได้ก็เลยไม่คิดจะเลิก ที่สำคัญไม่เห็นโทษเสียด้วย เพราะเคยคุ้นกับสุขเล็กน้อยหลังการเสพ ส่วนสุขจากสมาธิความตั้งมั่นเราก็ทำอยู่หาได้อยู่จากการปฏิบัติธรรม จึงเอาทั้งสองทางเข้าทำนอง รักพี่เสียดายน้องอยู่ อาจเสียไปชาติหนึ่งเพราะชาตินี้มีเงิน มีปัญญา (โลกๆ) หากาม มาเสพได้ทั้งชาติเพราะมีทรัพย์พอ จึงไม่เกิดปัญญา (ทางธรรม) แต่วันหนึ่งหากสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาหรือไม่คาดคิดเกิดขึ้นก็คงทุกข์อยู่ดี
วันนี้คนติดยาที่นั่งสมาธินั้นสุขอย่างหนึ่งที่เขาจะไม่มีวันพบเลย คือสุขจากความเป็นอิสระของจิตที่ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของยาเสพติด ซึ่งนั่นเป็นสุขที่เป็นไทจากกามจากตัณหา คือพระนิพพาน
ดังนั้น ในอริยมรรคมีองค์ 8 ข้อแรกคือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นอันถูกต้อง เมื่อเกิดสัมมาทิฏฐิ จะเห็นถูกตรงว่าหากจะให้ถึงความพ้นทุกข์ จิตต้องเป็นอิสระจากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งร้าย ไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์หรือสัตว์ร่วมเกิดแก่เจ็บตาย ดังนั้นจึงเกิดการดำริชอบ คือดำริอันถูกต้องขึ้นมา คือสัมมาสังกัปโป เมื่อเห็นถูกก็คิดถูก เมื่อดำริถูกในข้อแรกจึงหาทางทำทุกอย่างเพื่อพรากออกจากกามทั้งหลาย ตรงนี้บ้างก็พรากตัวเองออกเลยเป็นการหักดิบ ซึ่งมักเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าแนะนำ “…นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง พวกเธอจงเพียรเพ่งเผากิเลส จงอย่าเป็นผู้ต้องร้อนใจในภายหลังเลย… ”ส่วนอีกประเภทที่ก็มีได้คือ “…เธอจงถอนฉันทราคะในสิ่งนั้น แล้วสิ่งนั้นก็จะไม่สามารถเป็นกามได้อีก…” นั่นคือหากต้องอยู่กับสิ่งนั้นก็ต้องถอนราคะคือความยินดีพอใจในสิ่งนั้นออก ก็จะไม่เกิดตัณหาอีก นั้นท่านใช้กับ อาหาร จีวร (เสื้อผ้า) เสนาสนะ (ที่อยู่) ยารักษาโรค ใช้เสพเพียงพอควร แต่ท่านจะบอกว่าเสพเท่าที่จำเป็น ตรงนี้เราก็ลองเทียบกับชีวิตของเราเอง
สาระสำคัญก็คือ หากจะให้ความสุขนำทางสู่นิพพานต้องใช้ความสุขที่ถูกต้องคือสุขจากการมีสมาธิ ปราศจากตัณหา นิวรณ์ นี่คือนิโรธจากระดับแรก สุขที่เกิดจากการแยกรูปนามตามจริง ขาดจากสมมติบัญญัติ เป็นสุขจากนิโรธระดับที่สอง สุขจากการละสักกายทิฏฐิ เริ่มดับจากความเป็นตัวกูหยาบๆ ได้ นั่นเป็นนิโรธในระดับที่สาม จากนั้นนิโรธเริ่มเกิดมากขึ้น พบสภาพว่างจากตัวตนมากขึ้นมากขึ้น เป็นสุขสงบระงับเป็นไทจากตัณหาได้ เป็นสุขระดับที่ 4 ในอริยบุคคลที่เดินทางแล้วเห็นที่สุดแห่งทุกข์เป็นลำดับๆ และเมื่อปล่อยวางจิตเห็นแจ้ง ถอดถอนอุปาทานขันธ์ 5 แล้ว ไม่หยิบฉวยหรือยึดถือขึ้นมาอีก เป็นนิโรธระดับสูงสุด คือ มหาสุญญตา นั่นเป็นปรมังสุขัง ที่เป็นไทจากทุกสิ่ง
เพราะฉะนั้นหากยังเป็นคนติดยา นั่งสมาธิแล้วต้องเห็นโทษภัยนะ…หาทางเลิกยาดีกว่า เลิกไม่ได้ก็พยายามต่อไป
แต่อย่าเห็นว่าการเลิกยาไม่ดี เห็นให้ถูกก่อน ส่วนทำได้ไม่ได้ วันหนึ่งเมื่อทุกข์จากการไปติดยาไว้มันมากจนทนไม่ไหว จะคิดได้เองว่าเรารู้จักทางออกจากทุกข์นะ ซึ่งนั่นยังจะดีกว่า
เขียนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น