ทำไมเราจึงมารู้ว่าฟุ้งตอนนั่งสมาธิ แต่ในชีวิตทั้งวันทุกวันตลอดมาตั้งแต่เด็กจนโตกลับไม่รู้เลยว่าฟุ้ง การมีสมาธิจะทำให้จิตมีพลัง เกิดเป็นความสงบ จิตตั้งมั่น ผลเกิดเป็นอุเบกขา นั่นแปลว่าในทางกลับกัน หากจิตไม่สงบตั้งมั่นจิตใจจะอ่อนแอลงเรื่อยๆ เมื่อสงบบ้างกลับเหงาเปล่าเปลี่ยวว้าเหว่ ทั้งๆ ที่ควรจะมีความสุขจากความสงบ
ดังนั้นเราควรจะฝึกที่จะมีสติตั้งไว้ที่กาย หรือให้ง่ายและเป็นไปตามคำสอนจากพระพุทธองค์ ก็คือฝึกที่จะอยู่กับลมหายใจให้มากที่สุด บ่อยที่สุดในแต่ละวันแต่ละเวลา
แล้ววันหนึ่งเมื่อกลับมานั่งสมาธิจะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ที่แน่ๆ จะเกิดความสุขในระหว่างวันในระหว่างรู้ลมไปได้เลย
รู้ลมไปเรื่อยๆ แต่ให้รู้ไว้ด้วยนะว่า ลมหายใจไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ลมมีได้จากปอดพองปอดบีบตัว ทำให้เกิดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ปอดทำอย่างนั้นเพราะต้องการออกซิเจนไปฟอกเลือด เพราะมีเหตุเกิด ผลจึงเกิด มองให้เห็นความจริงอย่างนี้ วันหนึ่งจิตจะยอมรับความเป็นอนัตตาของสรรพสิ่ง เห็นและเข้าใจการเกิดดับเช่นกัน ไม่อย่างนั้น เดี๋ยวลมหายใจก็ดีขึ้นมาอีก ลมเข้าไม่ดี ลมออกดี ลมเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา มันจะเป็นอย่างไรก็เรื่องของเขา หน้าที่ของเรารู้ลมหายใจแล้วเกิดเป็นความตั้งมั่นของจิตก็พอแล้ว จะเป็นอะไรก็แค่ของเกิดดับ เกิดตามเหตุปัจจัย เปลี่ยนไปเพราะเหตุปัจจัยเปลี่ยน มีเท่านี้เอง
แล้ววันหนึ่งเมื่อเห็นว่าไม่มีอะไรที่น่ายึดถือเพราะมีแต่สิ่งเกิดดับไม่มีตัวตน เมื่อถึงวันนั้นทุกข์จะดับเพราะจิตเบื่อหน่ายคลายความยึดถือในสิ่งที่ไม่มีค่าอะไร แล้วทุกข์จะดับในที่สุด ดับจากเล็กๆ ไปเรื่อยๆ จนในที่สุดดับสนิท สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนก็มีแต่เรื่องทุกข์กับเรื่องดับทุกข์เท่านั้นเอง
เขียนเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2554
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น