เหตุที่ใจไม่สงบ

ใจไม่สงบ มีเหตุหลักให้สังเกตได้เอง เช่น เวลาภาวนาแล้วฟุ้งซ่านอย่างที่ชอบบ่นกัน
  1. ติดในกามคุณ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่จิตไปยึดติดไว้ แว้บเข้ามาเรื่อยๆ ได้มือถือใหม่ มันก็วุ่นคิดแต่มือถือ ได้รถใหม่ มันก็แว้บไปไม่หยุด ชอบฟังเพลงนั้นเพลงนี้ ประเภทที่ชอบกินนั่นกินนี่ มันมารบกวนใจกันเพียบ บางทีลากไปเปิดตู้เย็นเลย กว่าจะรู้ตัวก็กินอิ่มไปแล้ว
  2. ความทุกข์ อกุศลจิตจากการทำผิดศีล ที่ทำผิดไว้นี่มากันจัง รู้ลมก็ไม่ไหว ใจเย็นๆ มองให้เห็นความจริง ถอยออกมาก้าวหนึ่ง เห็นว่ามันมีเหตุเกิดก็เกิด เรื่องจบแล้ววิบากทางใจยังเกิดอยู่ ละอารมณ์เสีย วางทุกข์แล้วอยู่กับอุเบกขา ยากหน่อยแต่ทำไปเป็นแบบฝึกหัด แล้วจะเกิดปัญญาว่าทำไปแล้วเป็นทุกข์ ทีหลังจะย้อนกลับมาเป็นอินทรีย์สังวรณ์ศีล เป็นศีลที่เกิดจากปัญญา
  3. อกุศลจากการสั่งสมมาแต่เดิมที่จะผุดออกมาเป็นระยะๆ นี่เป็นอาสวะเครื่องหมักดอง ต้องละอกุศลเจริญกุศลเบียดเข้าไปจนมันจางลง ทำในใจไว้ซึ่งอริยสัจ ให้เห็นว่านี้ทุกข์ มีทุกข์เพราะมีเหตุ การภาวนาอย่างนี้คือมรรค แล้ววันหนึ่งจะเกิดนิโรธ ไปเรื่อยๆ เป็นขณะจนถึงที่สุด

ทางแก้ก็อยู่ในมรรคมีองค์ 8 อยู่แล้ว
  1. เนกขัมมะออกจากกาม เพื่อให้เห็นว่าเราติด เพื่อให้พรากจะเห็นโทษ สุดท้ายเห็นมันเกิดดับไม่มีตัวตนแล้วปล่อยวางในที่สุด มันแค่ชอบเสพใจที่วูบวาบแค่นั้น แม้จะวางยังไม่ถึงที่สุด แต่ก็เพียงพอให้เดินทางได้สะดวกแล้ว
  2. ถือศีลไว้ จนถึงระดับที่ไม่ใช่แค่ไม่ฆ่าหรือเบียดเบียน แต่เต็มไปด้วยการให้ตลอดเวลา ไม่หวังสิ่งตอบแทน ติดกุศลไว้ มีความสุขกับกุศลไว้ ส่วนข้ออื่นก็พิจารณาเอาเอง
  3. ละอกุศลในใจให้ไวๆ แล้วเจริญกุศลรู้ลมแทน
ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอุเบกขาสุข จนเหลืออุเบกขาในที่สุด มีความสุขสงบโดยไม่ต้องอาศัยใครหรือปัจจัยใดๆ เงินเหลือก็ให้คนอื่นไปทำประโยชน์ ไม่มีข้อไหนที่บอกให้หยุดทำงานเลย เป็นพระก็ทำหน้าที่ของพระ เป็นใครก็ทำหน้าที่ของใคร ส่วนธรรมะอยู่ตรงที่การกระทำแล้วไม่เกิดเป็นอกุศลกรรม ใจเป็นสุขแม้จะไปสร้างวิบากในส่วนสุคติภูมิก็เถอะ แต่เรามีปัญญากำกับเสมอว่า ไม่ว่าสุขเองก็เกิดดับ ไม่ยึดถือ สุดท้ายก็อยู่เหนือเหตุที่ทำไปเอง ผลก็ไม่เอามาเป็นของเรา เป็นธรรมชาติอย่างนั้นเอง

ไปเอาไปยึดมันทำไม ก็แค่ของเกิด-ดับ เข้าใจได้ถอดถอนได้เมื่อไหร่ ก็จบกัน…หมดเหตุเกิด


เขียนเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น