จากนั้น การเจริญกุศลก็เพิ่มมากขึ้นจนเริ่มเกิดปัญญาเห็นจริงว่า “สรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย และดับไปเมื่อหมดเหตุปัจจัย” แต่การจะให้สรรพสิ่งเกิดขึ้นและสลายไปเองนั้น นำพาความทุกข์และโอกาสร้างอกุศลกรรมได้อย่างมากมายเพราะความเห็นผิดที่สั่งสมมา เมื่อปฏิบัติตามมรรคจึงเข้าไปสลายทั้งความเห็นผิด และสัญชาตญาณเดิมที่สั่งสมมาในการมุ่งร้ายเบียดเบียนผู้อื่น เริ่มสลายความยึดมั่นถือมั่นและความเห็นผิดในสิ่งทั้งปวงว่าเป็นของเรา ว่าเป็นตัวเรา ว่าเป็นอัตตาของเรา ความเห็นผิดต่างๆ ก็เริ่มจางคลายลงไป นั่นเป็นเหตุให้ทุกข์ลดลงเรื่อยๆ ทีละขณะ ทีละวัน จนวันหนึ่งเมื่อพบที่สุดแห่งทุกข์ ทุกข์ทั้งหลายมลายไปสิ้น สิ่งทั้งปวงซึ่งล้วนเกิด-ดับ ก็จะว่างจากความเป็นตัวตน (มีเหตุให้เกิด พอเกิดหมดเหตุก็ดับ)
สิ่งทั้งปวงนั้นจึงเป็นเพียงเครื่องมือให้เข้าถึงสัจธรรมความจริงเดิมแท้ เมื่อนั้นจะพบว่าธรรมชาติเดิมแท้มีอยู่แล้วตลอดมาไม่เคยเสื่อมสลายหายไปไหน เราทั้งหลายเพียงเห็นผิดเพราะความที่ไม่รู้ในทุกข์ ในเหตุให้เกิดทุกข์ จึงได้เกิดการปรุงแต่งให้ค่าสรรพสิ่งทั้งหลายจนเป็นตัวตนขึ้นมา จึงเกิดเป็นวิญญาณ ความรู้สึก อารมณ์ นามธรรมรูปธรรมต่างๆ ทั้งเรา ของเรา ผู้อื่น คนอื่น ฯลฯ
จึงถูกบังคับให้มองผิดมุม ทั้งๆ ที่ มุมที่ถูกก็มองไปเหมือนกัน แต่กลับเกิดมุมมอง (ญาณทัสนะ) ที่เปลี่ยนไป
จนเมื่อใดเกิดสัมมาทิฏฐิ ละเหตุให้เกิดทุกข์ คือการยึดถือตัวจิตเองเป็นจุดเริ่มต้น จนเป็นผลให้เกิดอุปาทานในขันธ์ 5 ขึ้นมาอีก เมื่อละได้ดังนั้น จะเข้าถึงธรรมชาติที่แท้จริงคือนิโรธ (นิพพาน) เพราะหมดการปรุงแต่ง จึงพบกับความสุขสงบศานติเพราะรู้แจ้งในอริยสัจ (เกิดวิมุตติญานทัสนะ) หนทางดำเนินเพื่อถึงความดับทุกข์นี้แล คืออริยมรรคมีองค์ 8
เขียนเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2554
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น