วันนี้เราปฏิบัติธรรมกันทำไม? เราปฏิบัติธรรมเพื่อละความเห็นผิดว่า กายใจนี้เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพราะมีเหตุ (ไม่ใช่เรา) กายใจ (ขันธ์ 5) นี้ ดำรงอยู่ด้วยการดำเนินไปของชีวิต กายประกอบมาจากธาตุอยู่ได้ด้วยธาตุ เพราะมีอาหารกายจึงตั้งอยู่ได้ ส่วนใจเมื่อยังมีเหตุเกิดของใจคือความหลงผิด จึงก่อร่างสร้าง
ชีวิตให้เป็นทุกข์กันต่อไป กายนี้มีอายุขัย ใจเกิดดับเป็นพลังงาน แต่ตราบใดที่พลังงานนี้ยังมีสิ่งปนเปื้อนด้วยตัณหาจึงสร้างกรรมไม่จบไม่สิ้น จิตโง่จะปรุงแต่งเรื่อยไป เมื่อไม่หยุดปรุงแต่งก็ก่อเกิดเป็นเชื้อให้เกิดการสร้างชีวิตใหม่ในภพภูมิที่สั่งสมไว้ ซึ่งมีทั้งกุศลและอกุศล
เนื่องจากเราไปคิดว่ากายใจนี้เป็นเรา มันจึงก่อให้เกิดความทุกข์ความทุกข์ทั้งหมดที่เราเป็นกันอยู่ในวันนี้ เวลาพูดอธิบายก็ดูเหมือนจะเข้าใจได้ แต่พอมีใครมากระทบจริงๆ ก็จะเกิดเราของเราขึ้นมาทันที
ตรงนี้จึงยากที่จะอธิบายว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากคนอื่นกระทำ แท้ที่จริงแล้วทุกข์ทั้งหลายเกิดเพราะใจของเราก่อมันขึ้นมาเอง เพราะความเป็นเรานั่นเอง เมื่อเกิดเราก็จึงเกิดเขา เมื่อไม่มีเราก็ไม่มีเขา การที่เขาทำอย่างนั้นขึ้นมาเพราะเขาหลงผิดปล่อยชีวิตไปตามกิเลสหรือสัญชาตญาณ เขาเองก็ไม่รู้ ส่วนเราเกิดเป็นทุกข์ขึ้นมาก็เพราะสร้างเราขึ้นมาด้วยความเห็นผิดเช่นกัน
แล้วจะทำอย่างไรจึงจะเห็นถูก ถอดถอนการปรุงแต่งความเป็นของเราเป็นเราเป็นอัตตาของเราได้ นั่นจึงต้องเจริญปัญญา ศีล สมาธิ ใครเกิดปัญญาก็เห็นได้ทันที ถ้ายังไม่เห็นก็เริ่มใช้มรรคระดับสมาธิคือ 6-7-8 ถ้าไม่มีความตั้งมั่น ไม่สงบ ก็มาจากการทำผิดศีลและการยึดติดในกามคุณทั้งหลาย ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ยังเป็นเหตุให้จิตใจกระเพื่อมตลอด ก็ต้องลดละเลิกกันบ้างให้การกระเพื่อมเบาลง
เพราะฉะนั้นวันนี้ เดินจงกรม นั่งสมาธิเพื่อให้จิตตั้งมั่น ตั้งมั่นแล้วเห็นว่าสักแต่ว่ากายทำงานตามปัจจัย มีจิตเป็นคนสั่ง จิตสั่งนั้น บ้างก็สั่งเป็นกุศล บ้างก็สั่งเป็นอกุศลเพราะความเห็นผิดที่เขาสั่งสมมานาน ค่อยฝึกละอกุศลให้บ่อยให้มาก หมั่นเจริญกุศลให้บ่อยให้มาก จิตจะสงบตั้งมั่นเห็นเข้าได้สักวันว่า กายก็สักว่ากาย จิตใจก็สักว่าจิตใจ เป็นธรรมชาติ ยึดถือทีไรทุกข์ทุกที กุศลทำไปเพราะเป็นสิ่งดีแต่ไม่ยึดถือ
แล้วเวลานั่งสมาธิมันฟุ้งซ่านทำอย่างไร มันฟุ้งซ่านแปลว่ามันคิดไม่หยุด เรื่องนี้จบเรื่องโน้นต่อ เรื่องนี้ไม่ทันจบเรื่องใหม่ โผล่ขึ้นมาอีก ก็จะแปลกอะไร วันๆ เราเป็นอย่างนั้น อยู่ๆ จะบอกให้หยุดกะทันหันจะเป็นไปได้อย่างไร แล้วที่สำคัญการปฏิบัติไม่ได้มาทำให้เขาหยุดคิด แค่ไม่ยึดถือคิดต่างหากล่ะ เมื่อไม่ยึดถือ คิดให้ตายก็ไม่ทุกข์ ความคิดทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะมันคุ้นที่จะทำอย่างนั้นคือปรุง คนมีปัญญาแค่เห็นเหมือนนักกีฬากระโดดเชือกอยู่ จะบอกให้นักกีฬาเลิกกระโดดตลอดชีวิตก็ไม่ได้ เพราะเขาฝึกมา แต่ทุกวันนี้เราเข้าไปจับนักกีฬาให้หยุดกระโดด จึงทำให้เราต้องกระโดดตาม เพราะหยุดเขาไม่ได้
ถามว่านักกีฬาเหนื่อยไหม? ตอบว่าเหนื่อย ทุกข์นะเพราะดิ้นรนไม่หยุด หากเราไปผูกตัวเองติดกับนักกีฬาเราเหนื่อยด้วยไหม? เหนื่อยด้วย ถ้าเห็นความจริงจะเห็นว่านักกีฬาก็ทำไปตามเรื่อง จะไปสนใจมันทำไมล่ะ วันแรกๆ ไม่รู้ก็ทุกข์ที่นักกีฬาไม่ยอมหยุด วันต่อมาชักฉลาดไม่จับไว้แล้ว แต่ยังโง่นั่งดูนักกีฬาซึ่งมีสภาพทุกข์ พอเราเข้าไปยุ่งด้วย ทั้งๆ ที่แค่ดูเฉยๆ ก็อดไม่ได้ที่จะยังทุกข์ วันหนึ่งไม่อยู่ดูแล้ว เขาจะกระโดด จะนั่งพัก จะนอน จะชนะ จะแพ้ ก็ไม่ทุกข์ด้วย เพราะเราไม่มี นักกีฬาก็แปลก อยู่ไปได้อีกพักก็เลิกสลายตัวไปหมดเช่นกัน
ตกลงเดินจงกรมนั่งสมาธิต้องสงบไหม? สงบก็สงบ ไม่สงบก็ไม่สงบ ไม่ยึดไม่ทุกข์ นั่งไม่สงบก็ไม่ทุกข์ เพราะเข้าใจว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง ยิ่งนั่งไม่สงบยิ่งเกิดปัญญา…พอเกิดปัญญาก็สงบจนได้
เขียนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2554
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น