ธรรมอันเป็นเครื่องขูดเกลา (สัลเลขธรรม)

นักปฏิบัติมักเอาแต่เดินจงกรมนั่งสมาธิ แต่นิสัยในทางไม่ดี (สันดาน) ที่สั่งสมมาไม่โดนขูดเกลา พระพุทธองค์ตรัสว่า สมาธิละราคะ คือความยินดีพอใจ พวกเราจะทำวิปัสสนาให้รู้แจ้งกันท่าเดียว

ก็เหมือนถือศีลนั่นละ ศีลช่วยทำให้ชีวิตเป็นปรกติสุข ไม่ถูกความทุกข์หยาบๆ มาเบียดเบียน แม้ศีลจะไม่สามารถถอดถอนความเห็นผิดภายในได้ แต่ศีลคือเจตนาเป็นเครื่องเว้นนั้น ช่วยให้สิ่งที่สั่งสมมาเช่น ชอบเม้าท์ ชอบตบยุง ฯลฯ โดนละไป ด้วยการฝืนใจ ข่มใจ จนวันหนึ่งพ้นไปก็ไม่ต้องมีเจตนาเป็นเครื่องเว้นอีก แต่หากจะใช้ปัญญาล้วนๆ มาชำระศีลโดยใช้ทุกข์เป็นตัวตั้งก็ทำได้ แต่ใช้กำลังมาก เจ็บตัว ทุกข์กายทุกข์ใจเยอะ ไม่แนะนำ ถือศีลดีกว่า ง่ายกว่า ได้กำลังด้วย

แล้วในศีลในข้อต่างๆ นั้นต้องใช้เวลานานแค่ไหนจึงจะหมดเจตนาเป็นเครื่องเว้นอีก ตรงนี้ก็ลองสังเกตดูจะพบความจริงว่า บางข้อก็ง่ายสำหรับเรา บางข้อเว้นมาตั้งนานแล้วไม่ขาดสักที นั้นก็เพราะเรามีการสั่งสมแต่ละข้อแต่ละอย่างมาไม่เท่ากัน แต่ละคนก็ไม่เหมือนกันด้วย แต่เมื่อหมดเจตนาเป็นเครื่องเว้นแล้ว จะเบาสบายเป็นสุขไม่เป็นภาระ ไม่หลงไม่ไหลไปทำผิด เหมือนจะบอกว่า แม้ไม่รู้ตัวก็ไม่ทำผิดอีก เหมือนจะบอกว่าเผลออย่างไรก็ไม่ทำผิด (เข้าใจตรงนี้ละก็เห็นเรื่องใหญ่เลย เราต้องมีสติเพื่อจะได้ไม่ทำผิดตามกิเลสใช่ไหม เมื่อไม่ทำผิดอีก ขูดเกลาจนหมดแล้ว ปล่อยวางจนหมดโลภะโทสะโมหะแล้ว เครื่องชักนำให้ทำผิดเห็นผิดไม่มีอีก สติก็หมดงานทำ เพราะสติเองก็เกิดดับ สิ่งเกิดดับเป็นทุกข์ สิ่งเป็นทุกข์เป็นอนัตตา เมื่อไม่มีสติก็เป็นอิสระ สบาย แต่นั่นต้องถึงตอนนั้นจริงๆ ไม่ใช่ไปไม่ถึงแล้วมาทิ้งสติ เพราะที่สำคัญไม่ใช่ “เรา” ทิ้ง) สติปัญญาดับไปเพราะจิตไม่เข้าไปยึดถือ นั่นจึงเป็นความหมายของ “ดับ”

ขณะที่มีเจตนาเป็นเครื่องเว้นในข้อที่ยังทำไม่ได้เช่น พูดส่อเสียด (ไม่ใช่พูดเสียดสีนะ แปลว่าพูดให้คนแตกแยกกัน ทะเลาะกัน) คนมักจะบอกว่าตนพูดความจริง แต่อย่าลืมนะว่าเจตนาเป็นตัวกรรม เจตนาหลอกคนอื่นได้ หลอกตัวเองไม่ได้ และต้องใช้สติสัมปชัญญะพิจารณาดีๆ ว่าน้ำหนักควรไปทางใด ระหว่างการพูดที่ว่าจริง กับผลแห่งการพูดแล้วทำให้เกิดการแตกแยก ซึ่งอาจมีโทษใหญ่หลวงมากกว่า คงบอกลำบากว่าต้องทำอย่างไร เพราะสถานการณ์ต่างๆ ก็แตกต่างกันไป ต้องรู้เอง คนหนึ่งคิดแบบหนึ่ง อีกคนหนึ่งก็คิดแบบหนึ่ง ก็ว่ากันไปเอง ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ใต้ต้นไม้ มีโจรวิ่งผ่านท่านไป ท่านก็ขยับไปอยู่ในตำแหน่งอื่น ราชบาล (ตำรวจ) วิ่งตามมาทูลถามท่านว่า ท่านอยู่ตรงนี้เห็นโจรวิ่งผ่านมาไหม ท่านตรัสตอบว่า ไม่เห็น ถ้าคนตีความก็ตีกันสารพัดเหตุผลล่ะ แต่เชื่ออย่างหนึ่งเถิดว่า สิ่งที่พระพุทธองค์ทำ เป็นที่สุด เป็นประโยชน์สูงสุด โดยสามารถตั้งการกระทำของท่านไว้ว่าเป็นที่สุดและหาเหตุผลเดินไปหา อย่าเอากรอบความคิดของเราเป็นเกณฑ์ แต่นั่นก็อาจจะพิจารณากันเป็นกรณีๆ ไปก็ได้ เรามักมีตัวตนบางครั้งก็คิดเกินเลยไป เช่นครั้งหนึ่งท่านนั่งอยู่กับสาวกในตอนกลางคืนท่ามกลางแสงเทียน แมลงบินเข้ามาที่เปลวไฟแล้วก็ตาย ท่านก็สอนสาวกว่าสัตว์โลกเป็นไปตามกรรม (แต่ท่านไม่ได้ดับไฟนะ) เราก็อาจคิดไปได้สารพัด บนฐานความคิดของ “กู”

มาที่สัลเลขะต่อ การสัลเลขะเป็นธรรมเครื่องขูดเกลาที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ดีมาก เช่นเราเห็นคนขี้โกรธ เราก็จักสอนตนเองว่าเราจะไม่เป็นคนขี้โกรธ แต่ที่สำคัญให้มองเน้นมาที่ตัวเรา อย่าไปเพ่งโทษหรือวิจารณ์คนอื่นเชียวนะ


เขียนเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2553


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น