หนังสือเล่มนี้เขียนไว้เป็นข้อคิดมุมมองให้ผู้ที่กำลังเดินทางสู่หนทางพ้นทุกข์ ได้ทำความเข้าใจและเป็นประโยชน์บ้างในการทำความเข้าใจเรื่องยากๆ ที่เป็นนามธรรมให้เป็นเรื่องเข้าใจได้ ผ่านเนื้อเรื่องที่พวกเราพบเจอกันอยู่ในทุกๆ วัน
แน่นอนธรรมะไม่ได้อยู่ในหนังสือ ไม่ได้อยู่ที่วัด แต่อยู่ในชีวิตเราจะพบความจริงๆ ที่ลึกล้ำผ่านเรื่องราวที่แสนธรรมดา เหมือนกับเรารู้กันว่าเราทุกคนมีลมหายใจ ไปไหนมาไหนกับลม หายใจกันตลอดเวลา แต่เรากลับไม่เคยรู้ความจริงที่แสนธรรมดาว่าลมหายใจนั้นไม่ใช่ของเรา เราแสวงหาศึกษาเข้าใจทุกอย่างในโลก ในจักรวาล แต่เราไม่เคยรู้ความจริงเลย ทั้งๆ ที่ทุกอย่างอยู่กันตรงนี้
นั่นเพราะเราโฟกัสไปผิดที่ เหมือนกล้องถ่ายรูปถ่ายภาพๆ หนึ่งแล้วโฟกัสไปที่หน้าคน รูปอื่นๆ เช่นต้นไม้ ดอกไม้อาจไม่ได้รับความสนใจทั้งๆ ที่มีอยู่ เมื่อเราสามารถปรับโฟกัสไปที่เรื่องที่ถูกนั่นจะทำให้เราได้เห็นความจริงแท้ได้ในที่สุด วันนั้นเราจะพบกับสิ่งอัศจรรย์ที่อาจปนกับความฉงนว่า “อะไรกัน อยู่ด้วยกันแท้ๆ หามาตั้งนาน ใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถ แต่บทจะเห็นก็เห็นซะอย่างนั้น”
ดังนั้นจะว่าไม่พยายามก็ไม่ใช่เพราะความเพียรอันถูกต้องนั้นเพื่อดัดนิสัยไม่ดีที่สั่งสมมาจากกิเลสให้ออกไป นั่นต้องพยายามกันหน่อย พูดถึงความพยายามแล้วทำให้นึกถึงบทความหนึ่งที่ลูกสาวเคยส่งมาให้สมัยเขาไปได้ทุนเรียนที่ญี่ปุ่น เขาได้แต่งบทความนี้และกล่าวสุนทรพจน์ให้กับโปรเฟสเซอร์ชาวญี่ปุ่นและเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยที่เขาไปเรียนอยู่ฟัง ซึ่งสามารถเห็นมุมมองธรรมะได้ดีทีเดียว
ฉบับถอดความเป็นภาษาไทย
“อากาศกับความไม่เที่ยง”
หากมีคนญี่ปุ่นมาพูดกับคุณว่า “วันนี้อากาศดีนะคะ” ขอให้ทราบว่านี่เป็นคำทักทายปรกติธรรมดาคำหนึ่งของเขา แม้แต่ประเทศทางฝั่งตะวันตกก็ไม่ได้พูดกันบ่อยเท่ากับคนญี่ปุ่น เพราะเหตุใดกัน? จากการสังเกตของฉันตั้งแต่มาอยู่ที่ประเทศนี้นั้น จะว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศก็คงจะได้ ด้วยความที่เป็นประเทศที่มีฤดูกาลครบสี่ฤดูกาล และอากาศก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ทำให้คนญี่ปุ่นที่ผูกพันกับธรรมชาติอยู่แล้วรู้สึกถึง “ความไม่เที่ยง” ที่มาและไปกับสภาพอากาศได้อย่างลึกซึ้ง
ช่วงนี้เวลาที่คุณเดินตามถนนคุณสังเกตบ้างหรือเปล่า คุณหยุดก้าวเดินเพื่อจะชื่นชมใบไม้สีแดงงดงามที่มีให้ชมเฉพาะฤดูใบไม้ร่วงนี้บ้างหรือเปล่า ใบอ่อนสีเขียวที่ค่อยๆ เปลี่ยนสี เป็นสีเหลือง สีส้ม สีแดง สีน้ำตาล ในที่สุดก็ปลิดปลิวร่วงหล่น เพื่อรอรับการมาเยือนของฤดูหนาว ความงดงามนี้ ไม่ใช่ว่าจะไปหาดูเมื่อไรตอนไหนที่ว่างก็ได้ ไม่ใช่สิ่งที่จะผลัดวันออกไปก่อนได้ หากไม่รีบไปชมเสียบัดนี้ มิแคล้วต้องรอไปอีกหนึ่งปีกระมัง
ในฤดูใบไม้ผลิก็เช่นกัน ดอกซากุระที่เป็นตัวแทนของ “ความไม่ยั่งยืน” นั้น ปีหนึ่งๆ จะผลิบานเต็มที่เพียงแค่สองอาทิตย์เท่านั้น ส่วนตัวแล้วฉันคิดว่าซากุระทำให้รู้สึกถึงความไม่เที่ยงได้ยิ่งกว่าใบไม้แดงเสียอีก
นอกจากนี้ ฉันยังคิดว่า “ความไม่เที่ยง” นี้มีอะไรเกี่ยวข้องกับคำว่า “พยายามเข้า” อีกด้วย คำว่า “พยายามเข้านะ” หรือไม่ก็ “จะพยายามค่ะ” ที่ใช้กันจนเกร่อในบทสนทนาทั่วไปนั้น แท้จริงแล้วคงจะหมายถึง “วันนี้จะต้องพยายามให้ดีที่สุดจนถึงนาทีสุดท้ายจะได้ไม่ต้องเสียใจทีหลัง เพราะโลกนี้เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทุกๆ วัน” ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องรอหรือผลัดออกไปก่อนเลย ถ้าตอนนี้ยังพอทำได้ ก็ต้องลงมือทำมันเสียตอนนี้ล่ะ
จริงๆ แล้ว จิตสำนึกแบบนี้นั้นต่างจากคนไทยโดยสิ้นเชิง ถ้าถามว่าต่างอย่างไรละก็ ลองมาพิจารณาสภาพอากาศของประเทศไทยดูบ้าง
ประเทศไทยนั้นประกอบด้วยสองฤดูหลักๆ คือฤดูแล้งและฤดูฝน อุณหภูมิก็แทบจะไม่กระดิกเลยตลอดปี แทบไม่จำเป็นต้องหาเสื้อผ้าตามฤดูกาลมาใส่เลยแม้แต่น้อย ด้วยเหตุนี้ เวลาที่คนไทยมองธรรมชาติโดยรอบ ก็จะรู้สึกว่าทิวทัศน์ที่มองเห็นอยู่นั้นไม่เคยเปลี่ยน ไม่ว่าจะเดือนกุมภาพันธ์หรือเดือนกรกฎาคม ก็อยู่ได้สบายๆ ด้วยเสื้อแขนสั้น เพราะฉะนั้นคนไทยจะรู้สึกว่า “ทุกๆ วันก็เหมือนกันหมด” ถ้าวันนั้นเกิดเหนื่อยเสียแล้วก็ไม่ต้องรีบร้อน พักเอาไว้อย่างนี้ก่อน พรุ่งนี้จะพยายามต่อก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ไม่ว่าจะวันนี้หรือวันไหนก็เหมือนกันหมดอยู่ดี เก็บไว้ค่อยๆ ทำตอนอารมณ์ดีๆ ไม่ดีกว่าหรือ
ยิ่งไปกว่านั้นคนไทยจะรู้สึกว่าอากาศร้อนอยู่ตลอดเวลา ก็เลยเกิดคำว่า “สบาย สบาย” ขึ้น อากาศมันร้อนจะเร่งไปทำไม “สบาย สบาย” “ไม่เป็นไร” อะไรประมาณนี้ล่ะ ที่กลายมาเป็นภาพลักษณ์ของคนไทย
เวลามองจากมุมคนไทย คนญี่ปุ่นจะกลายเป็นพวกเครียดเกินไป ทำไมต้องพยายามอะไรมากมายตลอดเวลาขนาดนั้น ในทางกลับกันหากมองจากมุมคนญี่ปุ่น เห็นทีคนไทยคงจะดูเป็นพวกเนือยเกิน อะไรอะไรก็ดูจะไม่ค่อยมีแรงทำเอาเสียเลย ความแตกต่างทางวัฒนธรรมอย่างนี้หากขบคิดดูก็น่าสนใจดีไม่น้อยนะ เอาล่ะ วันนี้ฉันก็ต้อง “พยายาม” กับเขาบ้างเสียแล้ว!
คนญี่ปุ่นเฝ้ารอเพื่อจะได้พบดอกไม้อันสวยสดในแต่ละปี เมื่อมันร่วงไป ใจก็เฝ้ารอปีต่อไป เพื่อเห็นดอกซากุระบานโดยไม่เห็นอนิจจัง เพราะใจพุ่งไปข้างหน้าเพื่อรอวันนั้นมาถึง นี่จึงกลายเป็นเครื่องปิดบังความจริง
ส่วนคนไทยกลับอยู่กับความเคยชินจนหมดความทะเยอทะยาน จึงไม่เห็นประโยชน์ใดๆ ที่จะต้องดิ้นรน เสมือนเห็นทุกอย่างเป็นธรรมดา จนหมดพลังแห่งการดิ้นให้หลุดจากความหลอกลวง
ต้องขอขอบใจในความช่วยเหลือจาก บ.ก. ที่นามสกุลคุ้นตาผู้อ่านเพราะเธอคือลูกสาวของผมเอง (หมิว) ได้นำวิชาความรู้ที่เรียนมาจาก ฬ (ตัวเดียวสื่อความหมายครบถ้วน, อักษร-จุฬา) มาใช้ช่วยงานทางธรรม ในการเผยแผ่ออกไปผ่านสิ่งที่เขาถนัด ต้องขอบใจและอนุโมทนาไว้ ณ ที่นี้ รวมถึงบทความที่น่ารักสื่อความหมายที่ลึกซึ้งผ่านเรื่องเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ ทั้งเวอร์ชั่นภาษาไทยและภาษาญี่ปุ่น
หนังสือในชุดนี้มีทั้งหมด 3 เล่มๆ นี้เป็นฉบับที่หนึ่งซึ่งอีกสองเล่มจะทยอยออกตามกันมา
หากสังสารวัฏนี้เปรียบดั่งกรงขังสัตว์ สัตว์ทั้งหลายกลับเฉยชาที่จะแสวงหาหนทางออกจากกรง ยอมจำนนอยู่ในกรง แถมสุดปลื้มกับกรงขังนี้แล้วไซร้ นั่นจะเป็นเรื่องยากเรื่องลำบากเป็นที่สุดสำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่จะบอกว่า “ที่กำลังหลงอยู่นั้นนั่นน่ะทุกข์ทรมานมากนะ เรามีทางออกให้พวกเธอ” แต่สัตว์ที่ถูกขังอยู่ในกรงทั้งหมดกับหัวเราะอย่างเย้ยหยัยด้วยความโง่เขลาว่า “ใครว่าฉันทุกข์ ฉันสุกจะตายยยยยยยอยู่แล้ว”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น