ลีลพตปรามาส

เราคงเคยได้ยิน สังโยชน์ที่พระโสดาบันละได้ “สังโยชน์ 10” ซึ่งมีอยู่ครบในคนทั่วไป พระโสดาบันเกิดปัญญารู้แจ้งเกิดอริยมรรคชำระกิเลส สังโยชน์เบื้องต่ำ 3 ตัวขาดสะบั้น มี
  1. สักกายทิฏฐิ ความเห็นในความเป็นตัวตน บุคคล เรา เขา
  2. สีลพตปรามาส การทำตามๆ กันมาเพื่อหวังว่าสิ่งที่ทำจะทำให้พ้นทุกข์หรือเป็นสุข
  3. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ในพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ นิพพาน
พระโสดาบันละทั้ง 3 ข้อนี้ได้หมดแล้ว โดยเฉพาะสีลพตปรามาสนี้ อาจมีส่วนคร่อมๆ กันกับความเข้าใจของบุคคล เช่น การทำตามประเพณี การเผากระดาษ การลอยกระทง ฯลฯ นั้น หากเป็นพระโสดาบันยังจะทำไหม การยึดถือตัวเลขโชคลางยังจะมีหรือเปล่า

แน่นอนว่าท่านหมดความยึดถือแน่นอน ไม่ใช่เราพยายามไม่ยึดจะได้เป็นพระโสดาบันกับเขาบ้าง แต่ผู้ที่ถึงตรงนั้นจริงๆ จะไม่ยึดเอง เหมือนเด็กน้อยเล่นตุ๊กตา มีคนบอกว่าพอหนูเป็นผู้ใหญ่แล้วหนูจะไม่เล่นมันอีก เด็กน้อยอยากเล่นแต่พยายามไม่เล่นจะได้เป็นผู้ใหญ่ ถ้าอย่างนี้ไม่ใช่ผู้ใหญ่ แต่พอเป็นผู้ใหญ่เขาไม่เล่นมันเองเพราะอะไร เพราะไม่เห็นประโยชน์นั่นเอง แต่อาจมีบางวันที่ผู้ใหญ่หยิบตุ๊กตามานั่งดู แต่ไม่มีวันที่ผู้ใหญ่คนนั้นจะกลับไปหลงใหลได้ปลื้มในตุ๊กตาอีก

พระโสดาบันยังเผากระดาษ ลอยกระทงไหม ถ้าการกระทำนั้นเป็นไปเพราะความสามัคคีเป็นวัฒนธรรมที่ไม่มีอะไรเสียหาย ท่านก็ทำไป แต่ไม่ใช่เพื่อวัตถุประสงค์ของการพ้นทุกข์ เพราะท่านทราบดีอย่างแจ่มแจ้งว่า จะพ้นทุกข์ได้ก็มีแต่เส้นทางของมรรคเท่านั้น

พูดมาถึงตรงนี้จะมีอีกคำที่คล้ายๆ กันมากสำหรับผู้ศึกษาคือคำว่า สีลพตุปาทาน เป็น 1 ในอุปาทาน 4 ที่คนยึดถือ อุปาทานตัวนี้มีความละเอียดกว่าสีลพตปรามาสตรงที่เป็นการยึดติดการกระทำแม้จะเป็นเรื่องดีก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น เราสวดมนต์ทุกวัน พอเจอคนไม่สวดมนต์เราก็นึกตำหนิเขาในใจ อย่างนี้เป็นสีลพตุปาทาน ยึดมั่นในข้อวัตรที่เราทำว่าดีกว่าใครๆ หรือคำสอนของอาจารย์ฉันดีกว่าสำนักนั้น อย่างนี้ก็ใช่ หรือแม้แต่ครูบาอาจารย์ยึดมั่นคำสอนตัวเอง ใครว่าก็ไม่พอใจ นี่ก็ยังเป็นเหตุแห่งทุกข์ จะชำระเบ็ดเสร็จตอนเข้าสู่ความเป็นพระอรหันต์ แสดงว่าแม้แต่พระอนาคามีก็ยังมีทิฏฐินี้อยู่ ท่านจะทุกข์มาก (น้อยกว่าเราเยอะ) เพราะทุกข์จึงยังหาทางออก


เขียนเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2554


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น