รู้แล้วดับ รู้แล้วไม่ดับ แล้วไม่รู้ดับไหม

รู้แล้วดับ เช่น กำลังหงุดหงิดอยู่ เกิดสติระลึกขึ้นมาว่า อกุศลเกิด เพราะอกุศลเล็กน้อย หรือกำลังความตั้งมั่นดี อกุศลดับวับลงไป

เหตุการณ์แบบเดียวกัน เกิดแบบเดียวกัน เที่ยวนี้ไม่ดับ เพราะความยึดติดในสิ่งนั้นสูงกว่าเดิม หรือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเรา คราวนี้ไม่ดับ

ถามจริงๆ เถอะว่า อกุศลดับเองได้ไหม? คนที่เขาไม่ปฏิบัติไม่เข้าไปรู้น่ะ ทุกข์เขาดับเองหายเองได้เหมือนกันใช่ไหม? สรรพสิ่งในโลกเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปอยู่แล้ว เราแค่ไปสังเกตเห็นธรรมชาตินี้เท่านั้นเองเพื่อให้เกิดความเข้าใจ แต่ยังไม่มีการเข้าไปจัดการต้นเหตุเลยนะ แล้ว “รู้” ทำไมหรือ? การรู้ในสติปัฏฐาน 4 นั้นจริงๆ พระพุทธเจ้าใช้คำว่า เป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ (เวทนา จิต ธรรมก็เช่นเดียวกัน) หากการรู้นั้นเป็นไปเพื่อความเข้าใจดังกล่าวว่า สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา จิตจะปล่อยความยึดถือ (สุญญตา)

ดังนั้นเวลารู้ ระวังเพิ่มความยึดถือในรู้ เพราะเหมือนเอาของอร่อยให้กินแต่บอกว่าอย่าติด มันไม่ง่ายนัก พระพุทธเจ้าจึงตั้งสติอยู่ที่ฐานกาย เรียกกายคตาสติ โดยมีสติสัมปชัญญะตั้งไว้ที่รูปขันธ์ เกิดผลเป็นอุเบกขา จิตจะตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เห็นว่าสิ่งทั้งปวงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นอนิจจัง สิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปนั้น มีสภาพที่รูปนามนั้นพยายามที่จะรักษาตัวเองให้เสถียร แต่มันทำไม่ได้ มันจึงก่อให้เกิดเป็นภาพทุกข์ (ไม่มีผู้ทุกข์) สิ่งเกิด-ดับ เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน เป็นไปตามเหตุปัจจัย เรียก อนัตตา ดังนั้นระลึกแล้วก็ละมาอยู่กับกายไว้ ที่ง่ายที่สุดก็ลมหายใจนั่นล่ะ

ดังนั้นหากนั่งเฝ้าดูอยู่อย่างนี้อย่างเดียว อารมณ์ต่างๆ ที่เป็นผลมาจากความไม่รู้นั้นจะหายไปหมดไปเมื่อไหร่ เพราะต้นตอไม่ถูกชำระให้เบาบาง นั่นคืออาสวะที่หมักดองมาจนเป็นสันดาน พอมีสิ่งกระทบทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ทางจมูกก็ดี เป็นต้น เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็หลง นั่งเฝ้าดูมันเกิดขึ้น ดับไป เมื่อไหร่หมด วิธีนี้เขาใช้สังเกตเพื่อให้เห็นว่า สิ่งเกิดดับเป็นทุกข์และในที่สุดให้เห็นว่าไม่มีตัวตนเป็นอนัตตาในสัมมาสติ จะถอดถอนความเห็นผิดที่ไปยึดขันธ์ 5 เป็นตัวตน ปล่อยได้ (ถาวร) เป็นพระอรหันต์

การจะทำให้อกุศลเบาบางหรือการทำลายอาสวะนั้นหลักๆ ใช้มรรคองค์ที่ 6 คือสัมมาวายามะ ความเพียรชอบ ข้อนี้เป็นขวานหรือจอบ ถากถางอาสวะออกไปมากๆ ก่อน แล้วค่อยแต่งเล็มกิ่ง จะถากถางก็ดี จะแต่งเล็มกิ่งด้วยสัมมาสติ ถ้าจะให้ดีต้องมีกำลังสัมมาสมาธิด้วย

ดังนั้นอย่าเอาคัตเตอร์ไปตัดต้นปาล์ม ต้องรู้จักใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสมในแต่ละเวลา ไม่ใช่มาทำทีละอย่าง ทำไปพร้อมๆ กันนั่นล่ะ แต่ต้องมีปัญญาอันยิ่ง แล้วจะเข้าถึงอริยสัจ แต่ผู้ที่ไม่ปฏิบัตินั้นที่ว่าหายเองได้ก็เพราะทุกข์นั้นมีเหตุให้เกิดก็เกิด หมดเหตุก็ดับ เดี๋ยวก็มีเหตุเกิดอีกไม่สิ้นสุด เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นมาก็ส่งผลเป็นการสร้างกรรมทั้งดีและไม่ดี ส่วนมากมันจะไม่ดีทั้งนั้น ก็จึงไปสร้างภพภูมิอันเป็นสุขเป็นทุกข์ไม่สิ้นสุด แต่การเจริญมรรคนั้นละเหตุเกิด อกุศลดับไปหมด กุศลนั้นทำตลอดไปและมากขึ้นไม่มีประมาณ เพราะไม่ได้ทำเพื่อตนเอง ถึงทำกุศลก็ไม่ยึดถือในกุศล ไม่อย่างนั้นทำกุศลก็ทุกข์เพราะกุศลอีก ถ้าไม่เดินตามมรรคอย่างฉลาด

เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าใจมรรคครบถ้วนแล้วจะฉลาดในการเดินทาง มรรคทั้งข้อ 6-7-8 นั้นรวมเรียกว่า “สมาธิ” ในไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) จริงๆ แล้ว มรรคองค์ 7 คือสัมมาสตินี่สุดยอด

แต่จะเรียนสุดยอดไวยากรณ์โดยไม่ท่องศัพท์เลยก็เหนื่อยนะ แถมจะเนิ่นช้าด้วยสิ


เขียนเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2554


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น