ผมจะยกตัวอย่างให้ฟัง วันก่อนผมขับรถไปธุระ แล้วอยู่ดีๆ ตอนผมเบรก มอเตอร์ไซค์ก็ชนโครมเข้าที่ท้ายรถผม ผมก็ขับต่อไป คนที่ไปด้วยกันก็ถามว่า ไม่หยุดลงไปดูหรือ ผมก็ตอบ ไม่เป็นไรหรอก เพราะถึงจอดลงไปดู ก็ต้องบอกกับมอเตอร์ไซค์ว่า “ไปเถอะ” อยู่ดี เสียเวลาและรถติดเปล่าๆ
จากนั้นผมเข้าปั๊ม จอดเติมน้ำมัน จึงเห็นว่ารถถูกชนแบบกันชนฉีก ไฟแตกเลย คนที่ไปด้วยกันก็ถามว่า เห็นแล้วรู้สึกอย่างไร ก็รู้นะซิว่ามันเสียหาย แต่ที่แน่ๆ มันไม่ทุกข์ ก็เห็นเพียงว่าเพราะมีเหตุ ผลจึงเกิด ไม่ได้รู้สึกหวั่นไหวอะไร คนที่ไปด้วยกันก็พูดต่อว่ามอเตอร์ไซค์ผิดนะเพราะเขาชนท้าย ผมตอบว่า ใช่ในทางกฎหมายน่ะเขาผิด แต่ในความเป็นจริงมันก็เพียงเราเบรกทัน แต่เขาเบรกไม่ทัน เขาถึงชน คนที่ไปด้วยกันก็ยังคงแสดงความคิดเห็นว่าแต่อย่างไรเขาก็ผิดและไฟเราก็แตกด้วย ผมก็ตอบว่า เพราะเราเบรกทัน แต่เขาเบรกแล้ว แต่เขาเบรกไม่ทัน รถเราเสียเราก็ซ่อมไป รถมอเตอร์ไซค์เขาก็คงเสียเยอะเหมือนกัน แล้วถ้าไม่มีเงินซ่อมล่ะ? ก็รอจนมีเงินแล้วค่อยซ่อม ใช้ไปก่อนก็ได้ ก็มันยังวิ่งได้นี่ กันชนแตก ใจไม่ได้แตก ที่ทนไม่ไหวเพราะใจมันแตกไปด้วย แต่หากกรณีที่เห็นควรต้องเรียกร้องค่าเสียหายก็ทำได้นี่ กฎหมายก็ช่วยดูแลอยู่แล้ว ไม่เห็นมีอะไรต้องทุกข์ร้อนเลย
หลังจากนั้นก็เดินทางกันต่อ สักพักผมจึงถามว่า ก่อนถูกชน เราก็นั่งรถกันมาสบายดี คุยกันเป็นปรกติ ขณะนี้เราก็คุยกันตามปรกติ ก่อนมาไฟไม่แตก ขากลับไฟแตก แต่เห็นไหม มันไม่มีผลกับเราเลย ถ้าใจเราไม่ไปคิดถึงมัน เมื่อเราหวนคิดถึงกันชนแตก กันชนมันจะแตกทันที กันชนจะแตกก็เฉพาะเราคิดนั่นล่ะ แต่มันแตกจริงๆ นะ ไอ้ที่มันแตกนั่นน่ะอยู่ข้างนอก ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรา แต่เมื่อไหร่มันแตกในใจเรา เราทุกข์เลยเห็นไหม นี่คือวิธีศึกษาด้วยการปฏิบัติ
จากนั้นสิ่งที่จะต้องเกิดปัญญาให้ได้ต่อไปก็คือ ไม่คิด-ไม่ทุกข์ พอคิด-แล้วทุกข์ นี่ยังไม่เป็นวิปัสสนาหรอก แต่ก็เป็นพื้นฐานของสมถะที่สามารถทำให้ทุกข์ลดลงได้ระดับหนึ่งทีเดียว แต่มันยังไม่ถาวร จากนั้นหากเกิดการรู้แจ้งจริง ถึงคิดก็ต้องไม่ทุกข์ นั่นล่ะถึงจะของจริง แล้วจะเดินไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร?
ลองหันไปดูต้นไม้ที่อยู่ข้างทางซิ มีทั้งที่สวยสดงดงาม เจริญงอกงามดี และประเภทที่ถูกแมลงกัดกิน รวมถึงที่ล้มตายเพราะหมดอายุขัย เราทุกข์ไปกับมันไหม คำตอบคือไม่ ทำไม? เพราะมันไม่เกี่ยวอะไรกับเรา นั่นล่ะที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา นี่คือสัจธรรมความจริง แต่เมื่อเรามีความเห็นผิดที่สั่งสมมา เพราะเราไปยึดถือว่าจิตมีตัวตน จิตจึงไปยึดถือว่าขันธ์ 5 ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะมีเหตุปัจจัยมาเป็นของเรา เมื่อขันธ์ 5 ไปมีปฏิสัมพันธ์กับอะไรหรือกับใคร จิตจะยึดว่านั่นเป็นของเราในใจไปด้วยโดยอัตโนมัติไม่ต้องสั่งเลย ความคิดทั้งหลายนั่นเรียกว่า สังขาร การปรุงแต่ง ถ้าลำพังสังขารที่เป็นความคิดนั้นไม่ถูกปรุงแต่ง เราก็ไม่ทุกข์หรอก แต่พอถูกปรุงแต่งขึ้นมา เราทุกข์เลย
ถูกปรุงแต่งอย่างไรจึงทุกข์?
ก็ถูกปรุงแต่งว่านั่นเป็นของเรา นั่นเป็นเรา นี่ล่ะจึงทุกข์ ขับรถผ่านรถที่เกิดอุบัติเหตุบนถนน เราทุกข์ไหม ไม่ อาจจะเห็นใจบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ไม่ได้ไปทุกข์กับเขาด้วย ถูกไหม เพราะมันไม่ยึดเป็นของเรา แต่พอรถเรา กันชนเรา ไฟท้ายของเรา นั่นทุกข์ทันที เราไม่ได้ไปคิดเอาว่ามันไม่ใช่ของเรา แล้วจะหายทุกข์ เพราะหากให้ใครลองคิดดูก็จะพบความจริงว่าทุกข์ไม่ได้หายไป เพราะเราจะเถียงเองว่ามันเป็นรถเรานี่ ก็เราซื้อมา เราผ่อนมันมา คนไม่เข้าใจจึงนึกว่า นี่คือปรัชญาหรือทฤษฎีที่ปฏิบัติไม่ได้จริงหรือต้องฝึกคิดให้ได้
ที่พูดมาทั้งหมดมันเป็นเรื่องของจิต ต้องเกิดความรู้แจ้งขึ้นมาจากการสั่งสมความเห็นถูกคือสัมมาทิฏฐิให้มากให้บ่อย จนรู้แจ้งขึ้นมาจริงๆ วันหนึ่งจิตจะเห็นว่าทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ที่มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ และจุดหมายปลายทางที่จะถึงที่สุดแห่งทุกข์จริงๆ คือเหตุเกิดของสรรพทุกข์ที่เกิดในใจของเรา คืออวิชชา เมื่อดับเหตุเกิดคืออวิชชาได้ จะหมดเชื้อแห่งทุกข์ หยุดการปรุงแต่งทั้งความทุกข์จากคิดที่เป็นระดับหางแถว จนถึงการปรุงแต่งองค์ประกอบแห่งการปรากฏขึ้นแห่งขันธ์ นั่นล่ะ จะถึงที่สุด ทุกอย่างเดินไปตามมรรค ก็จะรู้แจ้งขึ้นได้ในแต่ละระดับ
เขียนเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2553
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น