พื้นบ่อที่หมักหมมมายาวนานจนเกิดเป็นฟองก๊าซผุดขึ้นมาเป็นระยะๆ ยิ่งหน้าร้อนก็จะยิ่งเกิดก๊าซปุดขึ้นมามากและถี่ขึ้น ทำไมหน้าร้อนจึงเกิดมาก ก็เพราะเหตุปัจจัยมันไปทำให้เกิดปฏิกิริยามากขึ้น เมื่อมีใครไปเขี่ยพื้นบ่อให้ขี้เลนมันแตก ก็ยิ่งทำให้น้ำในบ่อน้ำนั้นเหม็นคละคลุ้งไปหมด
ทุกวันนี้พื้นบ่อที่ยังคงเน่าเสียอยู่ ก็เพราะในอดีตเกิดการทิ้งของเสียลงไปอย่างมากมาย จึงทำให้พื้นบ่อเน่า ส่งผลต่อมาเป็นน้ำเริ่มสกปรก จนน้ำเริ่มเน่าตามไปด้วย ส่งสภาพเป็นน้ำครำ จากนั้นฟองก๊าซก็เริ่มปุดขึ้นปุดขึ้น เหมือนน้ำในแหล่งน้ำโสโครก กระบวนการเหล่านี้มาจากเหตุปัจจัยกระทบกันต่อเนื่องมา ไม่มีใครชอบหรือปรารถนาให้เกิดฟองก๊าซอันเน่าเหม็นส่งกลิ่นคละคลุ้ง ผู้คนจึงเริ่มเข้าไปพยายามที่จะจัดการกับฟองก๊าซที่ส่งกลิ่นเหม็น
เมื่อฟองก๊าซปะทุขึ้นลอยปุดออกมา จึงพยายามที่จะเปลี่ยนฟองก๊าซนั้นให้เป็นฟองก๊าซที่หอมละมุนแทน เพื่อจะได้ไม่เหม็น พวกเขาพยายามกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นเวลายาวนานตลอดสังสารวัฏที่เดินทางมา แต่ไม่มีใครทำสำเร็จ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะไม่มีใครคิดว่า หากจะจัดการกับก๊าซไข่เน่า น้ำโสโครก ต้องใช้กระบวนการ 3 อย่างพร้อมกัน จึงจะสำเร็จอย่างรวดเร็วคือ ดูดน้ำออก ลอกพื้นคลองและศึกษากระบวนการ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้อีก ถ้ามีคนทำอย่างนี้ ฟองก๊าซจะหมดไป แรกๆ ว่า มันเหม็น เมื่อเหม็นก็แก้ให้หอม เมื่อหอม การแก้ที่ดีที่สุดคือไม่มีกลิ่น ไม่มีฟอง เพราะพื้นบ่อสะอาดแล้ว หอมก็ไม่เอา อย่าว่าเหม็นเลย
พวกเราทุกคนเดินทางผ่านสังสารวัฏอันยาวไกล สั่งสมความเห็นผิดกันมาตลอดเกิดเป็นนิสัยสันดานที่เห็นผิด หมักดองสิ่งเหล่านี้ ไว้รอบแล้วรอบเล่า จนเกิดความเห็นผิดมากขึ้นๆ ทุกที เมื่อเห็นผิด ก็คิดผิด เมื่อคิดผิดก็พูดผิด เมื่อพูดผิดก็กระทำสิ่งต่างๆ ผิดไปหมด เมื่อกระทำสิ่งต่างๆ ผิดสการดำเนินชีวิตก็ผิด พาไปสู่ความทุกข์ทั้งหมด (อย่าเถียงว่างานที่ทำถูกกฎหมายนะ ต่อให้ใส่บาตร ก็ยังนินทาว่าร้าย ติฉินได้ตลอดเวลา แล้วประสาอะไรกับแค่งานภายนอก หรือจะบอกว่าเขาทำฉันก่อน ถ้าเห็นถูก ว่าการกระทำของคนอื่นที่กระทำต่อเรา เป็นการนั่งกินขี้ เพราะมีแต่อกุศลล้วนๆ คนเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ) จะเข้าไปร่วมกินขี้ไหมล่ะ มีแต่จะเลี่ยงออกห่าง สงสารคนนั่งกินขี้ ทำอย่างไรก็ไม่เข้าไปกินด้วยหรอก)
วันนี้ทุกข์ไหม นักปฏิบัติจะบอกว่าทุกข์ แถมทุกข์ไม่ได้หยุด ปฏิบัติไปก็เริ่มสุข สุขไปสุขมา สุขกลายเป็นทุกข์อีก ไล่ล่าหาสุขกันทั้งนักปฏิบัติและผู้คนที่มิได้สดับ
ผู้คนที่มิได้สดับ เมื่อแฟนหรือเพื่อนทำอะไรให้ไม่พอใจก็เป็นทุกข์ เอาไปเม้าท์ให้เพื่อนฟัง พอมีคนเห็นใจ ช่วยด่าคนนั้นร่วมกันก็สบายใจ ใจเป็นสุขขึ้นมา (สุขมาจากไหน แค่ทุกข์ที่บีบคั้นมันลดลง เพราะเหตุปัจจัยของมันลดลง ผลก็ลดลงเท่านั้น ทุกข์ไม่ได้ดับไปเลย)
ผู้คนที่มิได้สดับ เมื่ออยากได้สิ่งของสักอย่างก็จะเกิดตัณหาบีบคั้น อยากได้สิ่งนั้น นอนไม่หลับ หลงคิดถึงสิ่งนั้น วนเวียนเวียนวนอยู่ในใจไม่เลิกรา จนทนไม่ไหว ต้องไปซื้อหามา เมื่อได้มาก็มีความสุข มันสุขจริงหรือ? กี่วัน? (สุขมาจากไหน มาจากความบีบคั้น มันลดลงหรือหมดไปชั่วคราว เพราะได้สิ่งของสมปรารถนา ได้เป็นสมปรารถนา สุขเพราะการให้ค่าปรุงแต่งสิ่งนั้นไว้ ได้มาก็พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ซึ่งรูปนั้นๆ) เมื่อเวลาผ่านไปความหลงไหลได้ปลื้มก็หมดไป เกิดความปรารถนาทะยานอยากในสิ่งอื่นต่อไป…ต่อไป…จนถึงวันนี้ และจะมีต่อๆ ไปในกาลอันยืดยาวฝ่ายอนาคต…)
ชีวิตของผู้คนในโลกจึงเวียนวนในวังวนที่มีความเห็นผิดเป็นมูล สร้างเหตุปัจจัยในทุกข์ไม่สิ้นสุด แล้วหลงมาถามว่า “เราเกิดมาทำไม?” เราไม่ได้เกิดมาทำไมหรอก เราต้องถามว่า “ทำไมเราเกิดมา?” อย่างนี้ตอบได้ง่ายเลย เพราะมันมีเหตุให้เกิด อะไรเป็นเหตุเกิด ตอบตามพระพุทธองค์เลยคือ ตัณหา เป็นเหตุเกิด ตัณหาสร้างภพ ภพสร้างชาติ ชาติสร้างทุกข์ ทุกข์วนเป็นอวิชชา เพิ่มความเห็นผิดเพิ่มขึ้นอีก สร้างความเห็นผิดต่อไป แต่มากขึ้นกว่าเดิม แล้วก็มากขึ้นกว่าเดิมไปอีกเรื่อยๆ ที่หมุนวนรอบแล้วรอบเล่า สร้างสังขารทั้งหลายขึ้นมาคือขันธ์ 5 เมื่อมีขันธ์ ก็เริ่มต่อเชื่อมกับโลกภายนอก ด้วยการสร้างรูปนี้ให้เชื่อมกับภายนอก โดยสร้างตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทบมาถึงใจ ด้วยผัสสะ 6 ใจจึงเกิดเป็นความรู้สึกสุข (พอใจ) ทุกข์ (ไม่พอใจ) เฉยๆ (เพราะไม่ใช่พอใจและก็ไม่ใช่ไม่พอใจ) เหมือนม้ากระดกที่เด็กเล่นนั้นล่ะ เด็กนั่งคนละฝั่ง เมื่อข้างหนึ่งลงข้างหนึ่งก็ขึ้น มาดูที่แกนของม้ากระดกเป็นท่อนเดียว แกนด้านซ้ายเรียกทุกขเวทนา แกนด้านขวาก็เรียกสุขเวทนา ตรงกลางเรียก อทุกขมสุขเวทนา คือมันไม่ซ้ายแล้วก็ไม่ขวา แต่ทั้งหมดก็แกนเดียวกันนั่นแหละ ไม่ได้ดีกว่ากันเลย
แล้วเวทนานี้มาจากไหนล่ะ? ด้วยความไม่รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จากความสุขความพอใจ ก็จึงทะยานอยาก อยากได้มาเป็นเจ้าของตอบสนองสุข หากไม่พอใจ ไม่ชอบ ก็ดิ้นรนที่จะผลักไสออกไป ไม่อยากพบเจอ เป็นทุกข์เร่าร้อน เมื่อเฉยๆ ก็ไม่มีสติปัญญาที่จะรู้ว่าเป็นการเฉย เพราะมันไม่ได้พอใจและก็ไม่ได้ไม่พอใจ จึงโง่เฉยๆ รอเวลาที่ใครมาเหยียบต่อม หรือสิ่งกระทบ มากระแทกต่อม แล้วก็เคลื่อนไหวทันที เป็นสุขเป็นทุกข์ต่อไป หมาดุนอนเฉยๆ ไม่ได้แปลว่ามันไม่ดุนะ หมานิสัยดีพอโดนแย่งของก็กระโดดขึ้นมาสกลายเป็นหมาดุได้ทันที สรุปแล้วหมานั้นโง่ทั้งเพ เพราะถ้าไม่โง่ ก็ไม่มาเป็นหมา เดี๋ยวหมาโกรธ เอาเป็นว่า ถ้าไม่โง่หลงมัวเมาไม่เป็นเดรัจฉานแล้วกัน เพราะเดรัจฉานไปด้วยโมหะ (หนักกว่าเดิม)
แล้วจะแก้อย่างไร เราต้องไม่แก้ด้วยการปรับก๊าซเหม็นให้เป็นก๊าซหอมเพียงอย่างเดียว เพราะนั่นเป็นปลายเหตุรู้ไหม เช่น สุข ทุกข์ เฉยๆ โกรธ หงุดหงิด ชอบ อร่อย ฯลฯ อาการของจิตที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพียงฟองก๊าซที่เกิดจากการหมักหมมของพื้นบ่อเท่านั้นเอง เปรียบคืออาสวะเครื่องหมักดองจิต นั่นเป็นการศึกษาฟองก๊าซ ให้เห็นว่าฟองก๊าซเกิดขึ้นมาได้ ก็เพราะมีเหตุให้เกิดมา ไม่มีตัวตนที่จะเกิดขึ้นได้เอง ตัวมันเองไม่ได้อยากเหม็นหรืออยากหอม มันเป็นของมันอย่างนั้น ก็พื้นมันหมักหมมมาเป็นอย่างนั้น การจะแก้ต้องลอกพื้น ถ่ายน้ำไปพร้อมๆ กัน (ปรับน้ำ ใส่จุลินทรีย์ลงไป) ฟองก๊าซจะเริ่มดีขึ้นไม่เหม็นและสะอาดใสแจ๋วในที่สุด เพราะทำกระบวนการทุกอย่างครบถ้วนอย่างไม่ละทิ้งสิ่งใด
อุปมานี้ฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้น จิตใจที่หมักหมมมาอย่างยาวนาน จะจัดการให้พ้นทุกข์เข้าสู่ทางสายกลางได้ ก็ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ มรรคมีองค์ 8 นั่นเอง
ดังนั้น การเดินทางต้องทำทั้ง 3 ส่วน สำหรับผู้ที่ยังศีลบกพร่องต้องใช้เจตนาเป็นเครื่องเว้น จนไม่ต้องเจตนาจะเว้นอีก คือทำอย่างไรก็ไม่ทำผิดอีก เพราะหากพลาด ทำผิดจะเป็นทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์ ใจจะไม่สบาย จึงเกิดการสำรวมระวัง ที่จะไม่ให้ทุกข์ นี่คือปัญญาก็เกิดขึ้น มาช่วยชำระศีล บาทฐานของศีลก็ทำให้จิตใจตั้งมั่น เห็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ขึ้นมาเป็นเครื่องสนับสนุน เกิดเป็นสมาธิ เมื่อมีสมาธิเพราะมีศีล สมาธิก็ช่วยชำระศีล ศีลก็ช่วยให้จิตตั้งมั่นไม่ทุกข์กับสิ่งกระทบหยาบๆ
ดังนั้น เมื่อเห็นว่านี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ จึงเกิดความคิดในทางถูกที่จะไม่ทำให้เกิดเป็นทุกข์ในแบบต่างๆ การจะไม่ให้ทุกข์เกิดขึ้นมาได้ ก็เห็นแล้วว่า ความยึดติดเสพติดในกามคุณทั้งหลายทางตา หู จมูก ลิ้น กายนั้น ล้วนเป็นทางมาแห่งทุกข์ ก็เริ่มวิรัติเนกขัมมะออก จนเห็นความจริงว่า การอยู่โดยอิสระจากการเสพติดในกามคุณเป็นความสุขอย่างแท้จริง (สมมุติติดยาอยู่แล้วเห็นว่าโทษภัยของยามีมากกว่าความสุขเล็กน้อย จึงอดทนฝืนสู้เพื่อจะเลิก เมื่อนั้นจะเกิดอาการอยากยา ต้องอดทนมากๆ ไม่ย่อท้อ ไม่ถอยกลับ วันหนึ่งจะเลิกได้ เมื่อนั้นจะพบว่า ความเป็นอิสระนั้น สุขสงบเย็น เลิกได้แล้วจะงงนะ ว่าเราเข้าไปเริ่มใช้ยาเสพติดแต่แรกทำไม สุดท้ายต้องมานั่งเลิกอีก แล้วในชีวิตจริงเราหานั่นหานี่มาให้มันติดทำไมล่ะ?)
ไม่พยาบาทใครๆ ไม่เบียดเบียนใครๆ เมื่อนั้นผลจะเป็นอย่างไรล่ะ? คำพูดก็จะถูก คือไม่โกหก ไม่เสียดสี ไม่เพ้อเจ้อ ไม่หยาบคาย จากนั้นการกระทำจะถูกต้อง ไม่ทำผิดศีล การดำเนินชีวิตก็จะถูกต้อง ไม่เป็นมิจฉา หันมาเจริญสมาธิภาวนา ละอกุศล เจริญกุศล ตัณหาจะเริ่มดับไป ห่างไปเป็นขณะๆ เมื่อตั้งมั่นมากขึ้น จะเห็นว่าสิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นเพราะมีเหตุ ตั้งแต่ฟองก๊าซจนถึงน้ำถึงดิน เมื่อขุดลอกพื้นบ่อด้วย ทำน้ำให้ใสด้วย ฟองต่างๆ ก็จะเป็นฟองที่ดี จนในที่สุด สะอาดหมดจด ไม่มีอะไรให้ยึดถือ มีแต่ปล่อยวางลง จนพบกับนิโรธในที่สุด นั่นคือการดำเนินเดินทางด้วยศีล สมาธิ ปัญญา หรือมรรคมีองค์ 8 นั่นเอง
เอาแต่ศีล พ้นทุกข์หยาบ — ไม่บรรลุ
เจริญสมาธิ จิตสงบ — ไม่บรรลุ
เจริญสติ แต่ไม่เข้าใจการเจริญสติ เอาแต่รู้ตัว (เอาแต่รู้ตัวกูจริงๆ คือแขนกู ขากู กูเดิน กูหยิบ ก็เลยได้แต่สมาธิ ไม่เกิดเป็นปัญญา) การเจริญสติเพื่อให้เห็นว่าขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีอะไรน่ายึดถือ เพราะความจริงที่เราเข้าไปสังเกตเป็นผล เป็นอาการของจิต เป็นพฤติกรรมเท่านั้น นั่นคือน้ำเน่าและฟองก๊าซ เราจะได้ไปเข้าใจต้นตอ เมื่อนั้นจะถอดถอนความทุกข์แบบขุดรากถอนโคน จัดการที่ต้นเหตุ เมื่อหมดเหตุก็ดับ
เอาแต่ดูจิต แต่กลายเป็นดูอาการของจิต คือไล่ล่าเล่นกับฟองก๊าซ ไล่ไม่ยอมจบนะ หากพื้นบ่อยังเน่าน้ำก็เน่า อยากจัดการได้ถึงต้นตอ ก็ต้องเดินตามมรรค นี่ล่ะอานุภาพแห่งมรรค ต้องพร้อมสรรพ เมื่อนั้นไม่ต้องถาม ว่าจะบรรลุไหม
หากวันนี้ ถ้ายังใช้ชีวิตแบบใครๆ เห็นก็เอือม จะมานั่งพูดว่าเห็นโกรธนะ เห็นโลภนะ ใจสงบได้บ้างนะทำไม ในเมื่อยังไม่รู้สึกเบื่อหน่ายในกามบ้างเลย ยังพยาบาทเบียดเบียนชาวบ้านชาวเมืองอยู่ ทางกายอาจไม่ แต่วาจากับใจนี่สิ ไม่รู้สึกรู้สาเลย ยังทำผิดศีลแบบไม่รู้สึกละอาย แถมมีเหตุผลมาสนับสนุนการกระทำของตนเองตลอดเวลา อย่างนี้ปฏิบัติไม่เข้าหรอก ละอกุศลนี่ หมายถึงละทั้งกาย วาจา ใจนะ เจริญกุศล ก็เจริญทั้งกาย วาจา ใจ
เมื่อเดินตามมรรค (มรรคานุคา) จะพบอริยสัจ 4
อวิชชา หมายถึง ความไม่รู้อริยสัจ 4
วิชชา หมายถึง ความรู้ในอริยสัจ 4
จะรู้อริยสัจ ต้องเดินตามมรรค
เขียนเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2554
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น