ลูกหลานขอร้องให้ยายกลับมาอยู่บ้าน แต่ยายไม่กลับ ลูกหลานจึงได้แต่มาเยี่ยมยายเป็นระยะ รวมถึงการนำเสื้อผ้า ผ้าห่ม ข้าวสารอาหารแห้งมาให้ยาย ลูกชายคนที่ยังอยู่ในอำเภอพรหมพิราม บอกว่า “แม่เขาจะบอกว่าไม่ต้องเอามาให้มากนะ ในชีวิตเขา แม่เขาไม่เคยอยากได้อะไรเลย เคยถามเขาก็บอกว่า เขาพอแล้ว สมัยยังเด็ก บ้านเราจนกันมาก พ่อก็ตายตอนที่เรายังเล็กๆ แต่แม่คนเดียวก็หาเลี้ยงลูกมาได้ มานึกดู แกต้องทำงานหนักมาก แม่ถึงเน้นสอนให้เข้มแข็ง หนักเอาเบาสู้ ไม่เลือกงาน”
ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางขุนเขา ยายไม่มีนาฬิกา แต่ทุกเวลาล้วนมีคุณค่า การมีชีวิตอยู่ของยายหมดไปกับการปลูกต้นไม้ ทำฝายเล็กๆ ที่ยายได้อาศัยในยามหน้าแล้งและยังเป็นสายธารหล่อเลี้ยงบรรดาสัตว์ และต้นไม้บนผืนแผ่นดินนี้ ยายตั้งใจถวายให้ในหลวงและพระราชินี ยายรักในหลวงและพระราชินีมาก
กิจวัตรประจำวัน ตื่นแต่เช้า จุดธูปไหว้พระ เก็บมุ้ง กระย่องกระแย่งมาจุดฟืนหุงข้าว ตักข้าวสุกแรกเก็บไว้ ตักข้าวกินกับน้ำพริกหรือปลาแห้งที่เก็บไว้ ลงมากวาดลานบ้าน ซักผ้า หาบน้ำที่ลำห้วย ออกไปหาฟืนหาไม้มาเก็บไว้ ก่อนจะคดข้าวและน้ำพริกใส่กล่อง ใส่ย่ามสวมเสื้อผ้าที่ขาดวิ่น ใช้พร้าแทนไม้เท้า เวลาเดินข้ามห้วยข้ามหนองเข้าไปในป่าลึก ผ่านฝายเล็กๆ หรือคันนา ที่ยายทำไว้ 11 ฝาย
เป็นคันดินที่ยายใช้ “จอบกับใจ” ค่อยๆ ขุดขึ้นมา กลายเป็นแอ่งน้ำเล็กๆ กักเก็บน้ำ พอให้สัตว์เล็กได้มาอาศัย ต้นไม้ได้ชุ่มชื้น ระหว่างนั้นก็เอาข้าวมาโปรยให้สัตว์ในแอ่งดิน
ทำคันกั้นดินนี้เสร็จ ก็เข้าไปลึกขึ้นเรื่อยๆ ทีละฝาย ทีละฝาย เวลาแต่ละวันผ่านไปเท่าไหร่ไม่รู้ เหนื่อยก็พัก แล้วก็เดินกลับบ้าน ชีวิตยายเป็นไปอย่างเรียบง่าย
ทุกๆ วันพระ ยายจะเดินลงมาจากเขา ด้วยระยะทางเกือบ 8 กิโลเมตร บวกกับวัยชราของยาย ทำให้ยายใช้เวลาในการเดินทางกว่า 3 ชั่วโมง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ศรัทธาของยายเสื่อมถอยลง ลำพังคนหนุ่มสาวจะให้เดินขึ้นลงเขาสัก 7-8 กิโลเมตร ยังเล่นเอาเหงื่อตก แต่สำหรับยายยิ้มถือเป็นกิจวัตรสม่ำเสมอ ทุกวันโกนวันพระ เพราะไม่ว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้อง ยายก็ต้องไปถึงวัดไม่เคยขาด
ระยะทางไกลที่เต็มไปด้วยหล่มโคลน ถนนเป็นร่องขรุขระ ยายยิ้มจะออกเดินเท้าจากบ้านตั้งแต่เช้ามืด เหนื่อยก็พัก ถึงวัดกี่โมงไม่รู้ รู้แต่เมื่อถึงวัดก็เปลี่ยนชุดขาว สวดมนต์ ปฏิบัติธรรม ทำความสะอาดวัด ทำบุญ ก่อนจะเดินกลับบ้านในป่า ที่ยายเลือกใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังอย่างมีความสุขอีกครั้ง
เราขาดในสิ่งที่ยายยิ้มมี นั่นคือ ความพอเพียง ความศรัทธา ความไม่โลภ
เรามีในสิ่งที่ยายขาด นั่นคือ ความทุกข์
พิธีกร: ข้าวสารอาหารแห้งเอามาจากไหนยายยิ้ม: ลูกหลานเขาเอามาให้ เขาเอามาให้ก็ต้องกิน เขาจะได้ได้บุญ และก็ต้องกินอย่างประหยัดๆ ไม่ฟุ่มเฟือยพิธีกร: ฝนตกเปียกไหม (พูดถึงบ้านที่หลังคารั่วของยาย)ยายยิ้ม: ก็หลบๆ เอา ไม่ลำบาก อย่าคิดว่ามันลำบากพิธีกร: เสื้อผ้า ขาดแล้วยังใส่อยู่ยายยิ้ม: ลูกหลานเขาเอามาให้ ใส่ไว้ เขาจะได้ได้บุญพิธีกร: แต่ลูกหลานอยากให้ไปอยู่ด้วยกันยายยิ้ม: ไม่ใช่ว่าจะไม่พึ่ง แต่ให้หมดท่าก่อนค่อยพึ่ง ป่วยไม่สบายไม่มีแรงค่อยไปพึ่งเขาพิธีกร: ทำฝายไปให้ใครยายยิ้ม: ให้ในหลวงพระราชินี ท่านเป็นถึงเจ้าแผ่นดินยังทำงาน เราก็ต้องทำให้ท่านบ้าง…ส่วนสิ่งที่ทำ ถึงในหลวงท่านไม่เห็นแต่ผีสางเทวดาก็เห็นพิธีกร: ได้ประโยชน์อะไรจากฝายยายยิ้ม: ในหลวงบอกมีฝายมีน้ำ มีป่า มีปลาเล็กเป็นอาหาร นกอีกที รวมถึงได้ใช้ยามหน้าแล้งพิธีกร: กลัวล้มไหม เวลาเดินไปไหนยายยิ้ม: กลัวแต่ก็ต้องทำ ทำแล้วมีความสุขพิธีกร: เหนื่อยไหมที่ทำมายายยิ้ม: เหนื่อย แต่ทำแล้วมีความสุขพิธีกร: เดินไปวัดลำบาก เหนื่อยไหมยายยิ้ม: เหนื่อยก็พัก แล้วเดินต่อ ทางไปสวรรค์มันรก ทางไปนรกมันเรียบ เห็นพระก็หายเหนื่อยพิธีกร: สรุปว่าทุกอย่างอยู่ที่ใจยายยิ้ม: คนอื่นเขาว่าลำบาก แต่ถ้าเราคิดว่ามันเป็นสวรรค์ มันก็ไม่ลำบากพิธีกร: ยายมาทำบุญทุกวันพระไหมชาวบ้าน: ยายมาประจำแหละ ยายแกชอบทำบุญ ได้เบี้ยเดือนละ 500 แกยังทำบุญหมดเลยพระ (กางมุ้งให้ยายนอนในศาลาวัด): ไม่บาปหรอกยาย ช่วยๆ กัน ดูแลกันยาย นั่งยิ้มด้วยความจำนนยาย เอาเงินที่เก็บๆ รวมถึงเงินที่ชาวบ้านให้ไว้มาทำบุญยายอวยพรให้ และภาวนาให้คนที่ทำบุญด้วย
พิธีกร: ยายรู้จักเขาเหรอยายยิ้ม: (ยิ้ม) ไม่รู้จักหรอก เห็นบอกว่าจะบวช ก็เลยทำบุญ ให้ยายทำบุญนะ (สงสัยจะเป็นเงินที่ทางรายการให้)พิธีกร: ทำเถอะยาย ไม่ว่าอะไรหรอกพิธีกร: ยายมีของแค่นี้หรือ (หยิบกระเป๋าใบเล็กที่บรรจุเสื้อผ้า หยูกยาที่จำเป็น และบัตรประชาชน)ยายยิ้ม: แค่นี้แหละเตรียมไว้ เวลาเจ็บป่วยขึ้นมา เอาไปใบเดียว คนอื่นจะได้ไม่ลำบากหาพิธีกร: จะไม่เป็นการแช่งตัวเองหรือยายยิ้ม: ยิ่งเจ็บ ยิ่งต้องพึ่งตัวเอง ยิ่งต้องเตรียมตัวพิธีกร: เวลายายไปตัดไม้ไผ่ ทำฝาย ไม่เกินกำลังหรือ เอาแรงมาจากไหนยายยิ้ม: (หัวเราะเบาๆ) มันเกินกำลังอยู่แล้วล่ะ แต่ต้องมีความพยายาม วันนี้หมดแรง นอนพัก พรุ่งนี้แรงก็มาใหม่พิธีกร: ยายยังขาดอะไรอีกในชีวิตยายยิ้ม: (ยิ้มสมชื่อ แล้วตอบอย่างภาคภูมิใจว่า) ขาดความทุกข์
พอได้อ่านเรื่องยายยิ้ม หลายคนเผลอพูดคำว่า อิจฉายายยิ้มจัง! แน่นะ ชีวิตนี้ถ้าเหลือเท่าที่ยายยิ้มมี จะยังสุขแบบยายยิ้มได้ไหมล่ะ ทำไมไม่ได้ล่ะ เห็นหรือยังว่าวัตถุนิยมทั้งหมด ยายยิ้มวางลงแล้ว คนจนแบบไม่มีอะไรแบบยายยิ้มมีเยอะนะ แต่จิตใจของยายยิ้มไม่จนแล้ว จิตใจของยายเป็นมหาเศรษฐีแล้ว ยายยิ้มใจเต็มแล้ว ใจไม่มีหลุมที่จะต้องเติมอะไรลงไปอีก คนจนทั่วไปลองมีคนเอาอะไรต่ออะไรไปให้ จิตใจก็จะเริ่มหลงลำพอง เมื่อรวยขึ้นมาก็จะกลายเป็นหลงวัตถุนิยมต่อไป เหมือนคนโลกๆ แต่ยายยิ้มได้แสดงให้เห็นในทุกการกระทำและทุกคำพูด
อ่านทุกคำหาความเห็นแก่ตัวไม่มี (เพราะไม่มีตัวแล้ว) ทุกคำแสดงถึงความหมดตัวตน มีเงินก็ให้คนอื่น ทำบุญจนหมด เสื้อผ้าใส่จนขาดไม่เปลี่ยนเพราะอะไร เพราะใส่ให้คนให้เขาได้บุญ ในกระเป๋าใบเล็กๆ มีบัตรประชาชนกับของเล็กน้อย พกไว้ทำไม เพราะถ้าตาย คนอื่นจะได้ไม่เดือดร้อนต้องไปหา ใครจะเอาอะไรไปให้ ยายบอกอย่าเอามาเลย ยายพอแล้ว เหนื่อยไหม…เหนื่อย แต่ถ้าไม่คิดว่าเหนื่อย มันก็ไม่เหนื่อย คนที่พูดอย่างนี้ ไม่ได้คิดแล้วมารู้ รู้แล้วละนะ แต่ว่างไปแล้ว พูดให้คนเข้าใจและทำได้เฉยๆ คนที่ถึงธรรมอย่างเป็นเนื้อแท้ไม่ต้องอธิบาย มีแต่ความสุข ไม่แปลกใจที่ยายบอกว่า ขาดอย่างเดียวคือความทุกข์
ปฏิบัติไปแล้ว วันหนึ่งความมีกับความไม่มีจะไม่ต่างกันในการให้ความสุขแก่คนผู้นั้น เพราะฉะนั้นจะมีไปทำไม ในเมื่อไม่มีไม่เป็นภาระแล้ว มันสุขไม่ต่างกันแม้สัก 0.0000001 วันนี้ท่านทั้งหลายมีของข้างนอก ก็ให้มีไว้ใช้ก็แล้วกัน แต่ใจอย่าไปยึดไปหวงแหน ดูแลกันไปให้ดี เสมือนพระดูแลบาตร ของทุกอย่างไม่เคยมีใครเป็นเจ้าของ แล้วบ้านที่ซื้อแล้วมีโฉนดล่ะ แล้วรถที่ผ่อนเสร็จแล้วล่ะ (ต้องผ่อนหมดแล้วด้วยนะ ดังนั้นที่ยังผ่อนอยู่อย่าหลงผิดนะ) จิปาถะที่ซื้อมาเป็นของเราล่ะ ไม่ใช่หรือ?
เขาให้ยืมไว้ใช้ ใช้แล้วต้องดูแล แต่เราทำผิดเงื่อนไข คือคิดแต่จะปล้นมาเป็นของเราทั้งๆ ที่เอาไปไม่ได้ ทำไมจะไม่ทุกข์ล่ะ เศรษฐีที่เหนื่อยทั้งชีวิต มีปราสาทหลังใหญ่ๆ เพียงแค่การทรงอยู่ได้ของชีวิต ต้องเหนื่อยขนาดนี้เลยหรือ ต้องทำบาปทำอกุศลอย่างนี้เลยหรือ ถามตนเองว่ายิ่งมี ยิ่งอยากมีอีก หรือยิ่งมี ยิ่งไม่อยากตายไหม เพราะหลงสุขที่ไม่มีอยู่จริง จึงทำทุกอย่างเพื่อให้สุขมันจีรัง โดยไม่เห็นว่าสรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นธรรมดา เวรกรรมตามไปแน่ แต่ทรัพย์สิน แม้แต่คนรักสักคน ไม่มีทาง ชาติต่อไปคนที่เรารักอาจเป็นอะไรก็ได้ แล้วเราก็เช่นกัน หมา แมว นก ปลา ฯลฯ ที่เลี้ยงอยู่วันนี้ คิดว่าเมื่อก่อนเขาเป็นอะไรหรือ แล้ววันหนึ่งถ้าเรายังหลงอยู่ ก็อาจจะมีคนรักหรือคนที่เราเคยดูแลอยู่วันนี้ มาเลี้ยงดูเราก็ได้
เป็นให้ได้ครึ่งหนึ่งของยายยิ้มนะ คือมีทรัพย์สินอยู่อย่างนี้ แล้วสุขสักครึ่งหนึ่งของยายยิ้ม อยากได้เท่ายายยิ้มต้องหมดอยาก แล้วไม่ว่าจะมีหรือไม่มี (ทรัพย์สินภายนอก) ก็มีความสุขเท่ากัน เพราะใจนั้นสงบเย็นไปแล้ว
ข้อคิด
จิตที่สุขสงบเย็นนั้น มาจาก ปราศจากกามสุขทางวัตถุมากระตุ้นให้อยาก (ตัณหา = สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์) หมดความยึดถือในขันธ์ 5 เพราะตัวขันธ์เองทั้งหมด ล้วนเกิดดับเป็นทุกข์ สิ่งเป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน เกิดตามเหตุเกิด หมดไปเมื่อหมดเหตุ เมื่อปล่อยวางขันธ์จึงหมดเหตุเกิด นั่นเป็นนิพพาน ตอนเห็นอนัตตานั้นกำลังเห็นความจริงแล้ว การเห็นอนัตตาจึงคร่อมกันระหว่างโลกและธรรมแท้ เมื่อปฏิบัติจนหมดเหตุในการสร้างตัวตน ก็สงบเย็นในที่สุด
ทางไปสวรรค์มันรก ทางไปนรกมันเรียบ ทางไปนิพพานนั้นเงียบ เงียบได้เพราะเห็น เห็นแล้วคลายความยึดถือ คลายความยึดถือจึงดับ เมื่อดับก็ว่าง เมื่อว่างก็สงบเย็น เมื่อสงบเย็นก็ไม่ยึดถือ เมื่อไม่ยึดถือก็สลัดคืน
เขียนเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2554
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น