ทะเลาะกับใคร ใจก็หวนคิดเรื่องนั้นไม่เลิก คิดถึงอะไรที่ทำให้เจ็บช้ำ เมื่อนั้นเป็นทุกข์…เรื่องอย่างนี้รู้กันดีไม่ต้องบอก แล้วรู้ลมทำไม?
เมื่อใจคิดถึงอะไร สังเกตไหม ว่ามันจะเกิดเป็นอารมณ์ สุข ทุกข์ เฉยๆ สุขและเฉยๆ คงไม่เท่าไหร่ เอาแค่ทุกข์ก่อนแล้วกัน ไม่ได้ดูถูกนะ แต่เพราะดูถูกนั่นแหละ เลยเอาแค่ตัวเดียว พอรู้ตัวหนึ่ง ก็รู้ทั้งหมดนั่นแหละ เมื่อเกิดปัญญา
เพราะฉะนั้น คิด ทำให้ทุกข์…ถูกไหม ตรรกะง่ายๆ ไม่คิดไม่ทุกข์…ถูกไหม แต่ทำได้ไหม ไม่คิดน่ะ แล้วจริงๆ มันก็ต้องคิดด้วย ไม่คิด ก็ไม่ต้องทำมาหากินแล้ว ต่อให้พระไม่ต้องหากิน ก็ต้องคิด แต่เพราะมันหยุดคิดไม่ได้ มันทำไม่ได้…ถูกไหม
จิตรับรู้ทีละอารมณ์เดียว สรรพสิ่งเกิดขึ้นมากมายในแต่ละขณะ ลองไปที่โรงอาหารดู จะได้ยินเสียงต่างๆ อื้ออึงไปหมด…ถูกไหม เสียงช้อนส้อมกระทบจาน เสียงคนคุยกัน เสียงคนนินทา ฯลฯ ถ้าฟังเสียงคนนินทาเรา…โกรธนะ ฟังเขานินทาคนที่เราเกลียด…ชอบนะ ถ้าฟังรวมๆ จะอื้ออึง…รำคาญนะ แต่ถ้าเราคุยกับเพื่อนที่ไปด้วยกัน ก็จะมีอารมณ์อยู่กับเรื่องที่คุยกัน แต่พอคุยไม่ค่อยได้ยินเพราะในโรงอาหารเสียงดัง…โกรธนะ ดูเหมือนเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นทุกๆ วันไม่ใช่หรือ?…ใช่ ธรรมทั้งหลายก็เกิดเป็นธรรมดา ทั้งธรรมที่เป็นความจริงตามมุมมองที่มีอวิชชาและธรรมชาติเดิมแท้ที่เป็นเพราะวิชชา มันเหมือนกัน ปนกัน อยู่ที่ญาณทัศนะที่จะเห็น สิ่งเดียวกัน แต่มองเป็นมีก็มี ไม่มีก็ไม่มี แต่ก็ไม่มีในมีนั่นแหละ และก็มีในไม่มี หรือที่พระพุทธองค์ตรัสว่า โสดาบันสามารถดูของที่เป็นปฏิกูลไม่เป็นปฏิกูล หรือจะมองสิ่งไม่เป็นปฏิกูลให้ปฏิกูลก็ได้ (เช่น คนสวยที่ใครๆ ก็หลงใหลชอบพอ แต่ท่านมองให้เป็นธาตุเป็นถุงใส่ของเน่าเหม็นมารวมกันไว้ มีรูให้ปฏิกูลไหลเข้าออกตลอดเวลาก็ได้…จนเกิดวิราคะ คือเบื่อหน่าย หมดความยึดถือไปเอง ญาณทัศนะ ไม่ใช่ความคิดแต่เป็นมุมมอง)
เมื่อจิตไปยึดในสิ่งต่างๆ จากสภาพคิดจึงเกิดเป็นความคิด ความคิดจะเกิดเป็นตัวตน เราให้จิตไปจับลม จิตต้องปล่อยคิดมาจับลม (เอาแค่นี้ ปล่อยคิดนะ มาจับลมแทน) แล้วด้วยความที่จิตเคยคุ้นกับการเสพความคิด ก็จะกลับไปยึดถือสภาพคิด จนก่อเกิดเป็นความคิดที่กูคิด เกิดเป็นอารมณ์ทันที ดังนั้นการรู้ลมในเบื้องต้น คือการละคิด เพราะคิดเกิดเป็นทุกข์ ความทุกข์จึงลดลง เพราะความคิดถูกจัดการไปทีละเล็กละน้อย ไม่เข้าวังวนแห่งคิด ถูกสกัดให้ความคิดขาดเป็นท่อนๆ กำลังของมันจึงอ่อนลง นี่เป็นการแก้แบบสมถกรรมฐาน นี่จึงเป็นการละอกุศลมาเจริญกุศล ในมรรคองค์ที่ 6 สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ เมื่อรู้ลมอยู่ จิตจะตั้งมั่นเกิดเป็นสัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ ขณะที่สติระลึกว่าคิดเกิดแล้วท่านจึงมารู้ลม วินาทีก่อนที่ท่านจะรู้ลม ท่านรู้แล้วใช่ไหมว่าคิดเกิด คือเผลอที่จะรู้ลม นี่เป็นสัมมาสติ สัมมาสติจะเพิ่มดีกรีขึ้นในหัวข้อต่อไป
เมื่อการรู้ลมมากขึ้น จนเกิดเป็นการตั้งมั่นของจิต วินาทีที่สติระลึกว่าเผลอคิดแล้วมารู้ลมนั้น ความคิดได้ดับวับลงไป เกิดเป็นสภาพรู้ที่ลมขึ้นแทน ตรงนี้เป็นการเห็นการดับลงของอารมณ์ ความคิดดับ (จิตกำลังยึดถือสังขารการปรุงแต่งอยู่ แต่เมื่อสติระลึก จิตปล่อยสังขารมาจับที่รูปแทน คือวิญญาณมาเกิดที่รูป ตรงนี้ส่งผลเป็นอุเบกขา จิตจะตั้งมั่นขึ้น) แล้วจิตมาเกาะที่รูปแทน โดยอาศัยอานาปานสติหรือกายคตาสติ ซึ่งพระพุทธเจ้าให้จิตตั้งไว้ที่กาย เพื่อเดินทางต่อไปให้ถึงสุญญตา
บางทียังไม่ทันคิดเลย ทุกข์แล้ว…ใช่ สังขารการปรุงแต่งไม่ได้ออกมาในสภาพคิดอย่างเดียว บางทีเป็นภาพในสิ่งนั้นเช่นกัน แล้วปรุงเป็นภาพความคิด ตัวอย่างง่ายๆ อย่างเวลาอ่านอะไร ภาพจะถูกสร้างตามมาเรื่อยๆ ภาพถูกเปลี่ยนแปลงไปตามเนื้อเรื่องที่อ่าน แล้วเกิดเป็นอารมณ์ เวลาอ่านข่าวสยดสยอง ทำไมถึงสยดสยอง เพราะมันปรุงตาม แล้วยึดมันนะซิ เมื่อภาวนาถึงจุดหนึ่ง จะเห็นความจริงไม่ปรุง ไม่สยดสยองขนลุก แต่เข้าใจว่าโหดเหี้ยม
เมื่อเห็นสภาพเกิดดับมากๆ เข้า จะเกิดความเบื่อหน่ายคลายความยึดถือขึ้น เพราะการที่ไปเห็นสภาพเกิดดับของอารมณ์ก็ดี เห็นการเกิดดับของนามธรรม ความคิดปรุงแต่ง เห็นการเกิดดับของสุขทุกข์เฉยๆ ทุกอย่างจึงหมดค่าลง (ตรงนี้เป็นสัมมาสติพิจารณาเห็น กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่มีตัวตน เป็นอนัตตา) ในที่สุดจิตจะหมดการให้ค่า เพราะทุกอย่างมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั่นเอง ไม่มีเราตรงไหน อารมณ์ต่างๆ ล้วนมาจากความโง่เอง ที่ไม่ยอมรับความจริงว่าเมื่อมีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ จึงเกิดขึ้น ทุกอย่างว่างจากตัวตน ตรงนี้ รู้แจ้งเป็นวิปัสสนา
เมื่อปัญญาอย่างนี้เกิดขึ้น สภาพคิดจึงมีไปตามธรรมชาติ แต่ไม่มีใครไปให้ค่ามันอีก จึงไม่เกิดเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นเฉยๆ จึงกลับเป็นสภาพคิด ที่ไม่มีผู้คิด เกิดขึ้นมาตามปัจจัยที่สั่งสมมา ไม่มีผู้ยึดถือ จึงไม่เกิดเป็นเราเป็นของเรา ก็เลยไม่มีผู้ทุกข์ จะรู้ลมหรือไม่รู้ลมก็ไม่ทุกข์ แต่ยังคงรู้ลมต่อไป เพราะกายจะได้ไม่ลำบาก ตาจะได้ไม่ลำบาก เพราะกายกับใจไม่ใช่เรา ทำงานตามปัจจัย จิตสงบ กายสงบ กายสงบ จิตสงบ ผูกกันอยู่อย่างนี้ เพื่อความทรงอยู่ของชีวิต เพราะรูปขันธ์ยังคงดำรงอยู่ตามวาระของมัน ช่วยดูแลกันตามควร แต่หากจะเป็นอะไรๆ มันก็เช่นนั้นเอง…พอกันที หมดสนุกแล้วกับโลกนี้
น้ำจะท่วม ฟ้าจะใส ก็ทำหน้าที่กันไป ไม่ว่าอย่างไร วันนั้นมาถึงแน่ ถึงเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ตายก่อนตาย ไม่เกิดอีก ไม่ตายอีก ไม่คิดเอาว่าจะไม่เกิด แต่เมื่อหมดเหตุเกิด แล้วจะเกิดได้อย่างไร ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ต้องทำ ได้ทำจบแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก ภาวนาไป พวกเราเป็นผู้เดินตามมรรค
มรรคมีองค์ 8 ย่อลงมาเหลือ 3 ก็คือ ปัญญา ศีล สมาธิ ย่อลงมาเหลือ 2 คือสมถะและวิปัสสนา แต่ต้องวงเล็บไว้ว่าศีลต้องบริบูรณ์มาก่อนแล้วนะ
เขียนเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2554
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น