สมมติกำลังนั่งประชุม อยู่ๆ มีโทรศัพท์เข้ามาแต่เปิดระบบสั่นเอาไว้ โทรเข้ามาติดกันสัก 3 ที พอหยิบมาดู เป็นเบอร์จากที่บ้าน สายยังเข้ามาไม่หยุด แต่ก็ไม่สามารถรับได้ แต่ใจล่ะ? ตอนนั้นเป็นอย่างไร มันปรุงไปไม่หยุดหย่อน รู้สึกบีบคั้นจนต้องออกไปรับข้างนอก เพราะทุกข์ ทนไม่ไหว พอไปรับ เขาบอกว่ามีข่าวดีอยากจะบอก…คุณอาจจะหัวเสีย ด่ากลับไปก็ได้ แถมบอกว่า ตกใจหมดเลย…นึกว่ามีอะไร
อะไรมันเกิดขึ้น…รู้ไหม? โทรศัพท์ยิ่งเข้ามามากครั้ง การปรุงแต่งก็เริ่มก่อตัวขึ้น จิตโง่เข้าไปยึดการปรุงแต่ง (สังขาร) ขึ้นมา สังขารขันธ์ทำหน้าที่ปรุงของเขาไป ถ้าเราไม่เข้าไปยึดมันขึ้นมาเป็นตัวตน มันจะแค่เกิดๆ ดับๆ ไปเอง อีกนัยหนึ่งคือ เมื่อเราเห็นแต่เกิด-ดับ จิตจะเข้าใจเองว่า มันไม่มีตัวตน ดังนั้นที่เราทุกข์บีบคั้นจนทนไม่ไหว เพราะคิดเอาเองว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้จึงทุกข์ เพราะไปยึดการปรุงแต่งขึ้นมา ทุกข์เอง ปรุงเองแท้ๆ เลย เห็นไหมล่ะว่า จิตน่ะโง่แค่ไหน
รู้หรือยังว่า “…ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์…” ได้อย่างไร
อีกสักตัวอย่าง ทานข้าวไข่ดาวน้ำปลาพริกอยู่ดีๆ ได้ยินโต๊ะข้างๆ คุยกันเรื่องคนที่ทำงานถูกรถชน เลือดไหลนองอยู่หน้าที่ทำงาน หัวเละสมองไหล กลิ่นคาวเหม็นคลุ้งไปหมดเลย เท่านั้นเอง ไข่ดาวในปากกลายเป็นเลือด เหม็นคาวจนแทบจะอาเจียนพุ่งออกมา หรือไม่ก็วางช้อนแล้วนึกในใจว่า “มาเล่าเรื่องบ้าอะไรตอนทานข้าว (วะ)” ไข่ดาวกลายเป็นเลือดได้อย่างไร กินอยู่ดีๆ แค่เขาเล่าเรื่อง มันมาเป็นจริงเป็นจังในปากเราได้อย่างไร?
เขาเล่าก็เรื่องเขา เราเผลอไปสร้างกรรมตลอดเวลา ส่วนเรื่องข้างบน แล้วถ้าโทรศัพท์ที่เข้ามา เกิดเป็นเรื่องร้ายที่เกิดที่บ้านจริงๆ ล่ะ? จะโทรก็ไปโทรสิ ทำไมต้องทุกข์ด้วยล่ะ การปฏิบัติไม่ได้เปลี่ยนวิถีของเรามากนักหรอก ที่เปลี่ยนคือที่เคยโง่ทุกข์เองข้างใน ส่วนที่จะเปลี่ยนอะไรไปมากกว่าที่เป็นอยู่นั้น คงจะต้องประกอบด้วยปัญญาเองล่ะ
สรุปแล้ว คิด > ปรุงแต่ง > ไม่ยึด > ไม่ทุกข์ (รู้ทันว่ามันยึด วันหน้ามันก็ไม่ยึด)
รู้ทันนะ ไม่ใช่รู้แช่
เขียนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น